ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสิบเก้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า บริษัทจำเลยประกอบกิจการขนถ่ายสินค้าน่านน้ำไทยบนเรือเดินทะเลทั้งสินค้าเข้าและออก ในการขนถ่ายสินค้าดังกล่าวจะต้องใช้กรรมกรขนถ่าย มีจำนวนคนตามขนาดของเรือและปริมาณของสินค้า และจะมีการขนถ่ายสินค้าก็เฉพาะเมื่อมีเรือเดินทะเลต่างประเทศเข้ามาหรือจะออกไปแล้วจึงจะมีการจ้างกรรมกรเพื่อขนถ่ายสินค้าเป็นคราว ๆ ไป กรณีคดีนี้บริษัทจำเลยจะรับเหมาการขนถ่ายจากบริษัทผู้รับชอบในสินค้า แล้วบริษัทจำเลยจะจ้างกรรมกรทั้งหลายเข้าทำการขนถ่ายสินค้าทั้งกลางวันและกลางคืนด้วยอัตราค่าจ้างตามกะที่ต่างกัน กล่าวคือ กะกลางคืนค่าจ้างจะสูง ทั้งนี้เพื่อให้การขนถ่ายสินค้าเป็นไปโดยรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อเรือเดินทะเลจะไม่ต้องจอดอยู่ที่ท่านานเกินสมควร ระยะเวลาการขนถ่ายอาจเสร็จใน 3-10 วัน บางที 15 วัน แล้วแต่ขนาดของเรือและปริมาณของสินค้า และได้มีระบบปฏิบัติว่าเมื่อมีเรือเดินทะเลเข้าท่า จำเลยจะแจ้งให้จินเต็งใหญ่ (หัวหน้าใหญ่) ซึ่งจะรับผิดชอบและควบคุมดูแลกรรมกรทั้งหมด จินเต็งใหญ่จะเรียกกรรมกรในชุดของตัวโดยมีจินเต็ง(หัวหน้าสาย) รับผิดชอบเป็นสายหน่วยย่อยลงไปมีสายละประมาณ 8 คน จินเต็งใหญ่จะรวบรวมสายกรรมกรให้ได้จำนวนพอเหมาะกับปริมาณขนถ่าย เมื่อได้รายชื่อกรรมกรที่พร้อมปฏิบัติงานแล้ว บริษัทจำเลยจะจ่ายเงินก้อนใหญ่ให้แก่จินเต็งใหญ่เพื่อนำไปจ่ายให้กรรมกรทั้งหลายเป็นค่าแรงล่วงหน้าเพื่อให้ลูกเมียได้ใช้สอยไปก่อน เพราะกรรมกรเหล่านี้จะต้องไปทำการขนถ่ายสินค้าติดต่อกันหลายวันโดยไม่กลับบ้าน เมื่อขนถ่ายสินค้าเสร็จสำหรับเรือลำนั้นแล้ว จะมีการคิดค่าแรงของกรรมกรทั้งหมด บริษัทจำเลยก็จะจ่ายค่าแรงเป็นเงินก้อนมอบให้จินเต็งใหญ่รับไปจ่ายให้แก่กรรมกรทั้งหลายตามค่าแรงของแต่ละคนจากนั้นก็เป็นอันหมดงานจนกว่าจะมีเรือเข้ามาใหม่และจินเต็งใหญ่เรียกตามสายต่าง ๆ มาเข้าทำงานขนถ่ายสินค้าอีก ระหว่างว่างงานนี้กรรมกรทั้งหลายก็ชอบที่จะประกอบกิจการส่วนตัวได้ตามใจสมัคร โจทก์ทั้งสิบเก้าเป็นกรรมกรขนถ่ายสินค้าตามระบบดังกล่าวของจำเลยโดยมีนายซือง้วน แซ่เตีย เป็นจินเต็งใหญ่ วิธีปฏิบัติดังกล่าวได้ถือปฏิบัติกันมาโดยตลอด จนกระทั่งจินเต็งใหญ่ วิธีปฏิบัติกันมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อปลายปี 2523 นายซือง้วน แซ่เตีย ไม่เคยเรียกโจทก์ทั้งสิบเก้าเข้าทำงาน ทั้งนี้เพราะเรือเดินทะเลสายเมอร์คและเรือปุ๋ย ซึ่งเป็นสายของโจทก์ทั้งสิบเก้านี้เข้ามาน้อย โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยศาลฎีกาเห็นว่า การขนถ่ายสินค้าที่บริษัทจำเลยรับเหมานั้นการจ้างกรรมกรทำการขนถ่าย บริษัทจำเลยจะแจ้งให้จินเต็งใหญ่ (หัวหน้าใหญ่) ทราบ จินเต็งใหญ่จะเรียกกรรมกรในชุดของตนโดยมีจินเต็ง (หัวหน้าสาย) ซึ่งมีกรรมกรสายละ 8 คน เมื่อรวบรวมกรรมกรได้จำนวนพอเหมาะกับปริมาณ บริษัทจำเลยจะจ่ายค่าแรงล่วงหน้าเป็นเงินก้อนให้จินเต็งใหญ่เป็นค่าแรงล่วงหน้าสำหรับกรรมกร เมื่อขนถ่ายสินค้าเสร็จบริษัทจำเลยจะจ่ายเงินค่าแรงในการขนถ่ายสินค้าทั้งหมดให้จินเต็งใหญ่รับไปจ่ายให้กรรมกร จะเห็นได้ว่า บริษัทจำเลยกับกรรมกรผู้ขนถ่ายสินค้าไม่ได้มีการติดต่อหรือข้อตกลงใด ๆ กันเลย การตกลงให้มีการขนถ่ายสินค้าเป็นการตกลงระหว่างบริษัทจำเลยกับจินเต็งใหญ่ จินเต็งใหญ่ก็จะบอกจินเต็งซึ่งมีกรรมกรอยู่ในสายของตนมาทำงาน เช่นนี้การควบคุมการทำงาน หรือการกระทำการใด ๆ ย่อมอยู่ที่จินเต็งใหญ่และจินเต็ง บริษัทจำเลยกับกรรมกรขนถ่ายสินค้าซึ่งไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ ต่อกัน ตั้งแต่ การจ้าง การจ่ายค่าจ้าง และการควบคุมการทำงานโจทก์จึงเป็นกรรมกรขนถ่ายสินค้าดังกล่าวจึงมิใช่ลูกจ้างของบริษัทจำเลย ตามความหมายของคำว่า "ลูกจ้าง" ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลย ตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 3135/2523 ระหว่างนายวิชัย เสียงเปรมกับพวกรวม 10 คน โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอช แอล เซอร์วิส จำเลย"
พิพากษายืน