โจทก์ทั้งสิบเจ็ดฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับห้ามจำเลยทั้งสิบและบริวารโต้แย้งคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกที่ดินและยุ่งเกี่ยวกับที่ดินแปลงพิพาทของโจทก์ทั้งสิบเจ็ด ให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดในอัตราเดือนละ 450,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสิบและบริวารจะเลิกยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดตามฟ้อง หากจำเลยทั้งสิบไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสิบ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ถึงที่ 10 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 7 ถอนคำคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 26 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ห้ามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 7 กับบริวารเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 7 ไม่ถอนคำคัดค้านให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ยกฟ้องโจทก์ทั้งสิบเจ็ดสำหรับจำเลยที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 ให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 โดยกำหนดค่าทนายความให้คนละ 20,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสิบเจ็ดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 7 ให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 อุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 26 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 และที่ห้ามจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 กับบริวารเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความว่า ที่พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 26 เนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ เดิมมีชื่อนายเมฆเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ โดยนายเมฆขอรับรองการทำประโยชน์ในที่พิพาทเมื่อปี 2501 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2523 นางผ่องพักตร์ซื้อที่พิพาทจากนายเมฆ และนางผ่องพักตร์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเมฆต่อศาลชั้นต้น ขอให้ส่งมอบที่ดินที่ซื้อขาย วันที่ 28 มิถุนายน 2531 นายเมฆทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงโอนที่พิพาทฝั่งทิศตะวันตกของถนนสาธารณะพื้นที่ด้านทิศใต้จดทางหลวงชนบทสายท่าสะอ้าน – บ้านน้ำกระจาย ฝั่งเดียวกับที่ตั้งของโรงเรียน น. ให้แก่นางผ่องพักตร์ตามแผนที่สังเขปท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 597/2529 หมายเลขแดงที่ 613/2531 ของศาลชั้นต้น ต่อมานางผ่องพักตร์เป็นโจทก์ฟ้องจังหวัดสงขลาเป็นจำเลย ขอให้ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องหรือกระทำการใดอันเป็นการรบกวนการครองครองที่พิพาท ที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 3512 - 3518/2536 ว่า ที่พิพาทของนางผ่องพักตร์ที่นายเมฆโอนให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตั้งแต่ปี 2476 โดยเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2476 ขุนภักดีดำรงฤทธิ์ นายอำเภอเมืองสงขลาได้ประกาศให้ที่ดินตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เนื้อที่ประมาณ 4,600 ไร่ เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามสำเนาทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ต่อมาปี 2518 มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในท้องที่ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา พ.ศ. 2518 ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อจะนำที่ดินดังกล่าวมาจัดสรรให้แก่ประชาชนที่ประกอบอาชีพทำการประมงขนาดเล็ก (โพงพาง) และมีปัญหาด้านทำกินอยู่ในขณะนั้น โดยกองทัพภาคที่ 4 ได้รับมอบหมายจากกรมที่ดินให้เข้ามาจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 จังหวัดสงขลาประกาศตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้านในอำเภอเมืองสงขลาใหม่ โดยแยกหมู่บ้านบางดาน หมู่ที่ 1 และบ้านน้ำกระจาย หมู่ที่ 2 ตำบลพะวง จัดตั้งเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านชื่อหมู่บ้านโคกไร่ โดยตั้งเป็นหมู่ที่ 8 ตำบลพะวง โจทก์ทั้งสิบเจ็ดโดยโจทก์ที่ 16 เป็นทายาทผู้รับมรดกของนายเมฆมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว วันที่ 14 กรกฎาคม 2558 โจทก์ทั้งสิบเจ็ดและบุคคลที่มีชื่อเป็นเจ้าของรวมนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินดังกล่าวเพื่อแบ่งแยก จำเลยทั้งสิบคัดค้านว่า โจทก์ทั้งสิบเจ็ดนำรังวัดทับที่ดินสาธารณประโยชน์ที่กันไว้สำหรับเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการและที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ได้รับจัดสรรให้เข้าทำประโยชน์จากกองทัพภาคที่ 4
พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ข้อแรกว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3512 - 3518/2536 วินิจฉัยว่าที่ดินของนางผ่องพักตร์ ส่วนหนึ่งของที่พิพาทตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 26 เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาแผนที่สังเขปแสดงที่พิพาท และแผนที่พิพาทที่ทั้งสองฝ่ายนำชี้แนวเขตให้เจ้าพนักงานที่ดินขึ้นรูปที่ดินพิพาทปรากฏว่า ที่พิพาทของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดด้านทิศเหนือจดมัสยิดบ้านท่าสะอ้านเรียงรายตามแนวถนนสาธารณะด้านทิศตะวันออกลงมายังด้านทิศใต้จดทางหลวงชนบทสายท่าสะอ้าน – บ้านน้ำกระจาย และตามสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 597/2529 หมายเลขแดงที่ 613/2531 ของศาลชั้นต้น ประกอบแผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งที่ดินแนบท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความ แผ่นที่ 3 ปรากฏว่านางผ่องพักตร์ซื้อที่พิพาทจากนายเมฆเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2523 ต่อมานางผ่องพักตร์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเมฆต่อศาลชั้นต้น ขอให้ส่งมอบที่ดินที่ซื้อขาย วันที่ 28 มิถุนายน 2531 นายเมฆทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 26 ฝั่งทิศตะวันตกของถนนสาธารณะพื้นที่ด้านทิศใต้จดทางหลวงชนบทสายท่าสะอ้าน – บ้านน้ำกระจาย ฝั่งเดียวกับที่ตั้งของโรงเรียน น. ให้แก่นางผ่องพักตร์โดยให้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองร่วมกับนายเมฆ นอกจากนี้ตามระวางรูปถ่ายทางอากาศที่ดินบ้านน้ำกระจาย ตำบลพะวง ยังระบุว่าที่พิพาทตั้งอยู่ในเขตบริเวณที่จัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐท้องที่หมู่ที่ 1 และที่ 2 ตำบลพะวง ตรงกับรูปแผนผังแสดงการแบ่งที่ดินให้แก่ส่วนราชการและประชาชนในท้องที่หมู่ที่ 1 และที่ 2 ตำบลพะวง ที่กองทัพภาคที่ 4 จัดทำ ซึ่งปรากฏที่ตั้งมัสยิดบ้านท่าสะอ้าน ที่ตั้งโรงเรียน น. และที่พิพาทอยู่ภายในแผนผังแสดงการแบ่งที่ดินตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา ซึ่งได้ถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน (ที่เลี้ยงสัตว์) ในท้องที่ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ตามทะเบียนที่สาธารณประโยชน์ และภายหลังจังหวัดสงขลากำหนดให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวใช้ชื่อว่า หมู่บ้านโคกไร่ หมู่ที่ 8 ตามประกาศจังหวัดสงขลา ยิ่งกว่านั้นยังได้ความจากหนังสือเรื่องการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่นายเมฆจัดทำขึ้นว่า เมื่ออำเภอเมืองสงขลามีหนังสือด่วนมากที่ สข.0120/5982 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2533 แจ้งนายเมฆเจ้าของที่พิพาทว่ากระทรวงมหาดไทยได้ตรวจสอบและพิจารณาเป็นยุติว่าหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกในบริเวณหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องดำเนินการเพิกถอน โดยมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 26 มีชื่อนายเมฆเป็นผู้ถือสิทธิอยู่ในขณะนั้นยังไม่ได้ถูกเพิกถอน ให้นายเมฆส่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวไปให้อำเภอเมืองสงขลาเพื่อดำเนินการเพิกถอน นายเมฆแจ้งต่ออำเภอเมืองสงขลาว่านายเมฆเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทต่อเนื่องมาจากบิดามารดาไม่น้อยกว่า 100 ปี ก่อนที่ทางราชการจะมีประกาศเป็นเขตหวงห้ามเลี้ยงสัตว์ร่วมกันเมื่อปี 2476 ก่อนขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์เมื่อปี 2483 เท่ากับยอมรับว่าที่พิพาทอยู่ในเขตพื้นที่ที่ขุนภักดีดำรงฤทธิ์นายอำเภอเมืองสงขลาประกาศให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันประเภทที่เลี้ยงสัตว์ไว้ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2476 และขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์เมื่อปี 2483 เยี่ยงนี้ แม้นางผ่องพักตร์จะมีชื่อเป็นผู้รับโอนสิทธิครอบครองที่พิพาทร่วมกับนายเมฆตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 613/2531 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2531 แต่ต้องถือว่าเป็นการครอบครองทำประโยชน์ในฐานะเจ้าของรวม และนางผ่องพักตร์ใช้สิทธิแห่งการเป็นเจ้าของรวมในที่พิพาทเป็นโจทก์ที่ 3 ฟ้องจังหวัดสงขลาเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น และต่อสู้คดีจนถึงศาลฎีกาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3512 - 3518/2536 จึงเป็นกรณีเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิจัดการทรัพย์สินอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อรักษาทรัพย์สินโดยเข้าต่อสู้กับบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1358 และมาตรา 1359 อันเป็นการฟ้องคดีแทนนายเมฆซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าว จังหวัดสงขลาให้การและนำสืบต่อสู้ว่าขุนภักดีดำรงฤทธิ์นายอำเภอเมืองสงขลาในขณะนั้นได้ประกาศให้ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้เลี้ยงสัตว์เมื่อปี 2476 ต่อมาเมื่อปี 2518 มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพกลับกลายเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอยู่ในความครอบครองดูแลของอธิบดีกรมที่ดิน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามีอำนาจควบคุมดูแล และที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 3512 - 3518/2536 วินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2476 ผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาย่อมต้องผูกพันนายเมฆซึ่งเป็นเจ้าของรวมดุจกัน โจทก์ทั้งสิบเจ็ดเป็นผู้รับโอนสิทธิครอบครองที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของที่พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 26 ในคดีดังกล่าวจากนายเมฆ จึงต้องถูกผูกพันตามข้อเท็จจริงที่ได้ความเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2476 ให้เป็นที่หวงห้ามสำหรับประชาชนใช้เลี้ยงสัตว์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) ต่อมาแม้มีพระราชกฤษฎีกาเมื่อปี 2518 ให้เพิกถอนสภาพแต่ที่พิพาทก็ยังคงเป็นของรัฐอยู่โดยอธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันได้ตามควรแก่กรณีตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 26 ของที่พิพาทแก่นายเมฆจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องเพราะเป็นที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันดังที่ได้วินิจฉัย โจทก์ทั้งสิบเจ็ดผู้รับโอนสิทธิจากนายเมฆจึงไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ทั้งสิบเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบ และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 ที่มิได้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ มาตรา 252 เมื่อวินิจฉัยเยี่ยงนี้แล้ว ก็หาจำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ที่ 1 ต่อไป เนื่องเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 มานั้น ชอบแล้ว แต่ที่มิได้พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 6 ที่ 7 นั้น ยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสิบเจ็ดสำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ