โจทก์ฟ้องว่า จำเลยด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังได้ขับรถยนต์บรรทุกซึ่งห้ามล้อเท้าใช้ไม่ได้ ถือเป็นรถยนต์ที่มีเครื่องอุปกรณ์ไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวงแล่นไปตามถนนด้วยความเร็วสูงไม่ให้สัญญาณแตร เมื่อเห็นคนยืนอยู่ริมถนนเป็นจำนวนมากทำให้รถที่จำเลยขับชนนางสาวทองเพียร จิตรีทรง ซึ่งกำลังเดินอยู่ริมถนนได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย และเมื่อจำเลยกระทำความผิดแล้วได้หลบหนีไปไม่หยุดรถทำการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บตามสมควร ทั้งไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มาตรา 5, 32 พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2512 มาตรา 13 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29, 30, 66, 68 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 7, 13, 15 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ข้อ 6, 11, 13 และสั่งถอนใบอนุญาตขับรถยนต์ของจำเลย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 30, 66 พระราชบัญญัติจราจรทางบก(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 13, 15 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 ลงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2515 ข้อ 6, 11, 13 ให้จำคุก 2 เดือน และมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มาตรา 5, 32 พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2512 มาตรา 13 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29, 30, 66, 68 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 7, 13, 15 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 ลงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2515 ข้อ 6, 11, 13 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ฟ้องของโจทก์บรรยายไว้เป็นกรรมเดียวให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ประกอบด้วยมาตรา 90 ให้ปรับ 400 บาท รวมเป็นจำคุก2 เดือน ปรับ 400 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78คงจำคุก 1 เดือน ปรับ 200 บาท กับให้เพิกถอนใบขับขี่รถยนต์ของจำเลย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานขับรถยนต์ที่มีเครื่องอุปกรณ์ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติรถยนต์อีกกระทงหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ฟ้องโจทก์ได้บรรยายฐานความผิดของจำเลยไว้ด้วยว่า จำเลยขับรถยนต์ซึ่งห้ามล้อเท้าใช้ไม่ได้ ถือเป็นรถยนต์ที่มีเครื่องอุปกรณ์ไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวง ทั้งได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามความผิดฐานนี้ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มาตรา 5, 32 พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2512 มาตรา 13 และจำเลยก็ได้ให้การรับสารภาพผิดฐานนี้ด้วยแล้วก็ดี แต่ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องโจทก์บรรยายไว้เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานประมาท เพราะโจทก์ได้บรรยายการกระทำผิดของจำเลยที่เป็นความผิดฐานประมาทเนื่องมาจากจำเลยได้ขับรถยนต์ซึ่งห้ามล้อเท้าใช้ไม่ได้ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องแยกให้เห็นเป็นอีกกระทงหนึ่งต่างหากจากการประมาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นผิดกฎหมายหลายบท
อนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยคลาดเคลื่อนจึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 30, 68 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 15 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 59 ลงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2515 ข้อ 6, 13 กระทงหนึ่ง และจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มาตรา 5, 32พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2512 มาตรา 13 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29, 66 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 7, 13 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 ลงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2515 ข้อ 11 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 อีกกระทงหนึ่ง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์