โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 151, 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 3 ปี 4 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพ และยื่นคำร้องขอวางเงินบรรเทาความเสียหาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 48 เอกวีสติ โดยจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลหนองไผ่ล้อม จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งปลัดเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม และจำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองคลังเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม ในปีงบประมาณ 2551 เทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมจัดโครงการส่งเสริมสนับสนุนงานสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ โดยใช้เงินงบประมาณตามเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2551 หมวดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุประเภทค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรับรองและพิธีการเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม 340,000 บาท เพื่อจ้างเหมาประกอบอาหารเลี้ยงผู้มาร่วมงาน จำเลยที่ 2 ในฐานะปลัดเทศบาลเป็นผู้ลงนามเห็นชอบให้จัดโครงการ จำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติให้จัดโครงการและมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานประเพณีสงกรานต์ ต่อมาวันที่ 17 เมษายน 2551 มีการจัดทำบันทึกกองการศึกษาที่ นม.84701.6/- ลงวันที่ 17 เมษายน 2551 รวม 2 ฉบับ เรื่อง รายงานขอจ้างโดยวิธีตกลงราคา เพื่อขอจ้างเหมาประกอบอาหาร 14 รายการ เป็นเงิน 170,000 บาท และเรื่อง รายงานขอจ้างโดยวิธีตกลงราคา เพื่อขอจ้างเหมาประกอบอาหาร 12 รายการ เป็นเงิน 170,000 บาท โดยรายงานขอจ้างทั้งสองฉบับ มีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเสนอจำเลยที่ 1 เพื่อพิจารณาอนุมัติว่าเห็นควรดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 และมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้อนุมัติ และในวันเดียวกันมีการจัดทำบันทึกกองการศึกษาที่ นม.84701.6/- ลงวันที่ 17 เมษายน 2551 อีกสองฉบับ เรื่อง ขออนุมัติตกลงจ้างโดยวิธีตกลงราคา เพื่อจ้างเหมาประกอบอาหาร 14 รายการ เป็นเงิน 170,000 บาท กับนางสาวกฤษณา และเรื่องขออนุมัติตกลงจ้างโดยวิธีตกลงราคา เพื่อจ้างเหมาประกอบอาหาร 12 รายการ เป็นเงิน 170,000 บาท กับนางสวาท บันทึกทั้งสองฉบับมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฐานะปลัดเทศบาล และจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในฐานะหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่ออนุมัติและมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ตามคำสั่งเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมที่ 241/2551 ลงวันที่ 17 เมษายน 2551 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังลงลายมือชื่อในใบอนุมัติจ้างเลขที่ 193/2551 และ 194/2551 โดยจำเลยที่ 2 มีความเห็นว่า เห็นสมควรอนุมัติ จำเลยที่ 3 มีความเห็นว่าตรวจสอบถูกต้องแล้วเห็นสมควรอนุมัติ เสนอจำเลยที่ 1 ลงนามอนุมัติ ต่อมาเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมโดยจำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาจ้างกับนางสาวกฤษณาและนางสวาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อในฎีกาเบิกจ่ายเงินตามงบประมาณรายจ่ายโดยมีความเห็นว่า เห็นควรให้เบิกจ่ายได้ จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่ออนุมัติและมีการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่นางสาวกฤษณาและนางสวาทแล้ว คดีในส่วนของจำเลยที่ 4 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องเนื่องจากโจทก์ไม่อุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า การดำเนินคดีในระบบไต่สวนศาลต้องพิจารณาค้นหาความจริง เป็นหน้าที่ของศาลที่ต้องตรวจคำฟ้องว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เสียก่อน โดยคดีนี้โจทก์ได้ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดพร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนเสร็จสิ้นแล้ว นอกจากนี้ในวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ซึ่งจำเลยที่ 2 มีทนายความแล้ว ปรากฏว่าทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าเพิ่งได้รับแต่งตั้งจึงไม่สามารถยื่นคำให้การได้ทัน แต่ในวันดังกล่าวศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยที่ 2 ฟังและสอบคำให้การจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 ยืนยันให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ตามคำให้การที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ฉบับลงวันที่ 25 กันยายน 2562 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การเพิ่มเติมตามคำให้การฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ซึ่งปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีตามข้อกล่าวหาของโจทก์ได้อย่างถูกต้อง มิได้มีข้อหลงต่อสู้ แสดงว่าจำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาตามคำฟ้องโจทก์เป็นอย่างดีแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจยกปัญหาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมมาเป็นข้อต่อสู้ในชั้นนี้ได้อีก ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการขอแก้ไขคำให้การจากที่ให้การปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพซึ่งไม่อาจกระทำได้ เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยอมรับข้อเท็จจริง โดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การจ้างเหมาประกอบอาหารในโครงการส่งเสริมสนับสนุนงานสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ประจำปี 2551 ของเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมที่ดำเนินการจ้างโดยวิธีตกลงราคาตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 เป็นการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยชอบหรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องนี้นางกนกวรรณ มวลตะคุ นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินภาค 4 และนางพุทธิพร พลอยผักแว่น นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการพิเศษ สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา ให้ถ้อยคำต่อพนักงานไต่สวนและเบิกความยืนยันเช่นเดียวกันว่า การจัดซื้อจัดจ้าง ในกรณีดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 14 ซึ่งจะต้องกระทำโดยวิธีสอบราคา ไม่อาจกระทำโดยวิธีตกลงราคาตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 ได้ หากเรื่องใดไม่มีระเบียบกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้จึงจะนำระเบียบกระทรวงการคลังมาใช้ได้ นอกจากนี้นางพุทธิพรยังให้ถ้อยคำอีกว่า ตามระเบียบปฏิบัติกรณีการจ้างซึ่งมีวงเงิน 340,000 บาท เพื่อจัดหาอาหารเลี้ยงผู้มาร่วมงานในวันเดียวกันนั้นจะต้องดำเนินการจ้างในคราวเดียวกัน ไม่อาจแบ่งแยกการจ้างเหมาเป็น 2 สัญญาได้ การที่เทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมจัดทำสัญญาจ้างเหมาเป็น 2 ฉบับ โดยแบ่งซื้อแบ่งจ้างและมีรายการอาหารซ้ำซ้อนกันเป็นการดำเนินการที่ผิดระเบียบ และหากเป็นกรณีเร่งด่วนในระยะเวลากระชั้นชิด แม้ไม่สามารถจัดจ้างโดยวิธีสอบราคาได้ทันก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการแยกการจ้างเพื่อเปลี่ยนวิธีการจัดจ้างจากวิธีสอบราคาเป็นวิธีตกลงราคาได้เพราะเป็นการต้องห้ามตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ข้อ 13 ข้อ 14 และข้อ 20 เมื่อพิเคราะห์ระเบียบกระทรวงมหาดไทยและระเบียบกระทรวงการคลังทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว เห็นว่า การจ้างเหมาประกอบอาหารตามฟ้องเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยใช้เงินงบประมาณของเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมซึ่งเป็นหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับการพัสดุตามความในข้อ 5 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ซึ่งได้กำหนดคำนิยามของคำว่า "การพัสดุ" ไว้ให้หมายความว่า การจัดทำเอง การซื้อ การจ้าง... และการจ้างให้หมายความรวมถึงการจ้างทำของด้วย ดังนี้ ในการดำเนินการจ้างจึงต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวตามความในข้อ 6 ที่กำหนดให้ใช้ระเบียบฉบับนี้บังคับแก่หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการพัสดุโดยใช้เงินงบประมาณ เงินกู้ เงินช่วยเหลือ เงินนอกงบประมาณ เงินยืมเงินสะสม เว้นแต่ได้มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เช่นนี้การจะนำระเบียบอื่นใดมาใช้บังคับแก่การดำเนินการเกี่ยวกับการพัสดุรวมถึงการจ้างในกรณีนี้ได้ก็ต่อเมื่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องนั้นไว้ หรือในกรณีมีบทบัญญัติหรือระเบียบอื่นใดกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งในส่วนของการจ้างซึ่งมีราคาเกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท นั้น ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 14 วางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะแล้ว โดยกำหนดให้ดำเนินการจ้างโดยวิธีสอบราคา ทั้งเมื่อพิจารณาระเบียบกระทรวงการคลังข้างต้นแล้วไม่ปรากฏว่ามีระเบียบข้อใดวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินการจ้างกรณีตามฟ้องไว้โดยเฉพาะ อันเป็นบทยกเว้นการนำระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ มาใช้บังคับแก่กรณีการจ้างตามฟ้อง ดังนี้ เทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมจึงไม่อาจนำระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549 มาบังคับใช้แก่กรณีการจ้างตามฟ้องโดยอนุโลมดังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำสืบต่อสู้มาได้ ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาอ้างถึงหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท 0313.4/ว 1506 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2539 ทำนองว่า หนังสือฉบับดังกล่าวเป็นข้อยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 โดยสามารถนำระเบียบกระทรวงการคลังดังกล่าวมาใช้โดยอนุโลมได้นั้น เห็นว่า ความตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวเป็นเรื่องการจัดหาพัสดุในการฝึกอบรมของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น จึงไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่จะนำมาถือปฏิบัติสำหรับการเบิกค่าใช้จ่ายในการจ้างเหมาประกอบอาหารในโครงการส่งเสริมสนับสนุนสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการดำเนินการจ้างเหมาประกอบอาหารในโครงการส่งเสริมสนับสนุนงานสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ประจำปี 2551 ของเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 14 ซึ่งจะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีสอบราคา เทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมไม่อาจเลือกใช้ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 มาอ้างอิงในการดำเนินการจ้างได้ตามอำเภอใจ การที่จำเลยที่ 2 กับที่ 3 ให้ความเห็นชอบ และจำเลยที่ 1 อนุมัติให้ดำเนินการจ้างเหมาประกอบอาหารโดยวิธีตกลงราคา จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นดังกล่าว กรณีมีข้อต้องพิจารณาต่อไปว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 หรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น จากการไต่สวนได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 อนุมัติโครงการส่งเสริมสนับสนุนงานสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ประจำปี 2551 แล้ว มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานดังกล่าวโดยแต่งตั้งจำเลยที่ 4 เป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายอาหาร/เครื่องดื่มและภาชนะใส่อาหาร แต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการ/เลขานุการฝ่ายอาหาร/เครื่องดื่มและภาชนะใส่อาหาร ให้มีหน้าที่ติดต่อจัดหาอาหาร และมีคำสั่งแต่งตั้งนายนพดล นางรุ่งนภา และนางสาวลาภิกา เป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จากนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าไปมีหน้าที่ในขั้นตอนการคัดเลือกผู้รับจ้างประกอบอาหารหรือตกลงราคากับผู้รับจ้าง รวมทั้งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตรวจรับการจ้าง จำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเป็นผู้อนุมัติเห็นชอบตามที่มีการเสนอมาเท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ลงนามและเสนอความเห็นตามที่มีการเสนอผ่านมาตามลำดับชั้นในฐานะที่เป็นปลัดเทศบาล ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้มีหน้าที่ทำหรือจัดการเงินงบประมาณค่าอาหารในโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนี้ จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาเงินค่าอาหาร 340,000 บาท หรือทรัพย์ใด ๆ ของเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมในโครงการส่งเสริมสนับสนุนงานสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ครั้งนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 แต่การที่จำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรีซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย และรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย กับมีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อและสั่งจ้างในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 โดยภาระหน้าที่ดังกล่าวจำเลยที่ 1 ย่อมจะต้องรู้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งเป็นงานในหน้าที่ของตน ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นปลัดเทศบาลมีหน้าที่ควบคุมดูแลราชการประจำของเทศบาลให้เป็นไปตามนโยบาย แม้จำเลยที่ 2 จะไม่มีหน้าที่ในเรื่องการตรวจสอบระเบียบการดำเนินการจ้างโดยตรงและไม่มีอำนาจอนุมัติการจ้าง รวมทั้งไม่ได้มีหน้าที่ในการตรวจรับการจ้างก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบรายงานที่ต้องเสนอจำเลยที่ 1 พิจารณาอนุมัติตามลำดับชั้น ดังนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมต้องทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องที่จะให้ความเห็นชอบอย่างถี่ถ้วนก่อนเสนอจำเลยที่ 1 เพื่อพิจารณาอนุมัติ หากเห็นว่าการดำเนินการในเรื่องใดไม่ถูกต้องตามระเบียบจะต้องมีข้อทักท้วง สำหรับเรื่องนี้ความปรากฏตามตามหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหาของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าได้ลงลายมือชื่อในบันทึกขออนุมัติตกลงจ้างโดยวิธีตกลงราคาทั้งที่รู้ว่าเป็นจัดซื้อจัดจ้างที่ผิดระเบียบ ยิ่งเป็นข้อชี้ชัดว่าจำเลยที่ 2 ลงนามเสนอความเห็นโดยทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างดีแล้วว่าการดำเนินการจ้างเหมาประกอบอาหารในครั้งนี้ขัดต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยข้างต้น เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความตามรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาโดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อหาผู้รับจ้างประกอบอาหารกับเป็นผู้กำหนดรายการอาหาร และจากการตรวจสอบเกี่ยวกับตัวผู้รับจ้างปรากฏว่านางสาวกฤษณาและนางสวาทไม่ได้เป็นผู้มีอาชีพประกอบอาหารโดยตรงแต่เป็นลูกจ้างของบริษัทเมืองย่า อินเตอร์เทรด จำกัด ส่วนนางสวาทเคยรับจ้างส่งนมให้แก่บริษัทดังกล่าวเท่านั้น โดยนางสวาทไม่ทราบเรื่องที่ตนเองมีชื่อเป็นผู้รับจ้างประกอบอาหารให้แก่เทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมในโครงการดังกล่าวและไม่เคยทำอาหารไปส่งตามสัญญาจ้าง ทั้งนางสวาทยอมรับว่าเป็นคนนำเช็คค่าอาหารจากเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมไปเรียกเก็บเงินตามคำไหว้วานของคนขับรถบริษัทเมืองย่า อินเตอร์เทรด จำกัด เมื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คแล้วได้มอบเงินให้แก่คนขับรถดังกล่าวไป จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติของการจัดซื้อจัดจ้างโดยปรากฏว่ามีการดำเนินการที่ผิดระเบียบหลายขั้นตอนในลักษณะเร่งรีบและรวบรัดเพื่อจะกำหนดตัวผู้รับจ้างได้เองอันเป็นพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางทุจริต โดยเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้เห็นและกระทำไปเพื่อช่วยเหลือให้มีการใช้ชื่อนางสาวกฤษณาและนางสวาทเป็นผู้รับจ้างทำสัญญากับเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นเหตุให้เทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมได้รับความเสียหายไม่อาจพิจารณาคัดเลือกหาผู้รับจ้างที่เสนอราคาต่ำที่สุดจากการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีสอบราคาได้ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาทำนองว่า จำเลยที่ 1 กระทำไปเพราะความเข้าใจผิดพลาดเกี่ยวกับระเบียบกระทรวงมหาดไทย ไม่มีเจตนาก่อให้เกิดความเสียหายและไม่มีเจตนาทุจริตนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเพื่อทำงานในหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณของแผ่นดิน จำเลยที่ 1 ย่อมต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับระเบียบที่เกี่ยวข้องกับงานในอำนาจหน้าที่ จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุการไม่รู้ระเบียบมาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้พ้นความรับผิดหาได้ไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาทำนองว่า จำเลยที่ 2 ลงนามในเอกสารการจัดจ้างไปเพราะถูกจำเลยที่ 1 บังคับและข่มขู่นั้น เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีพยานหลักฐานอื่นใดมานำสืบสนับสนุนตามข้อกล่าวอ้าง ทั้งในทางไต่สวนไม่ปรากฏเหตุใด ๆ ตามกฎหมายที่จะยกเว้นโทษให้แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
สำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองคลังย่อมมีอำนาจหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบกำกับดูแลภายในกองคลัง ทั้งยังมีฐานะเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบรับรองความถูกต้องเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงิน งานรับรองสิทธิการเบิกเงินงบประมาณ การควบคุมการปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงิน และเป็นฝ่ายตรวจอนุมัติฎีกาและควบคุมงบประมาณ มีหน้าที่ตรวจสอบรับรองความถูกต้อง การปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับ และมติรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ การดำเนินการใด ๆ ของจำเลยที่ 3 ที่เกี่ยวข้องกับการพัสดุของเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมย่อมเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 3 ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ของเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม ซึ่งจำเลยที่ 3 ย่อมต้องทราบอำนาจหน้าที่ของตนและรู้ถึงระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเป็นอย่างดี โดยจะต้องปฏิบัติภายใต้กฎหมายและระเบียบอย่างเคร่งครัด หากมีการดำเนินการจ้างที่ผิดระเบียบก็มีหน้าที่ต้องนำเสนอระเบียบที่ถูกต้อง แต่จำเลยที่ 3 กลับปล่อยให้มีการอนุมัติจัดจ้างด้วยวิธีการที่ขัดต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 โดยไม่ทักท้วง และเสนอความเห็นทำนองรับรองความถูกต้องในการปฏิบัติตามระเบียบ ตามพฤติการณ์จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 3 รู้เห็นและมีเจตนาที่จะนำระเบียบกระทรวงการคลังฯ มาใช้บังคับเพื่อหลบเลี่ยงการจ้างโดยวิธีสอบราคาโดยมุ่งหมายที่จะกำหนดตัวผู้รับจ้างได้โดยสะดวก ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาทำนองว่า การดำเนินการจ้างในครั้งนี้เป็นกรณีเร่งด่วนจึงไม่มีเวลาที่จะดำเนินการจ้างโดยวิธีสอบราคาได้นั้น เห็นว่า ทางไต่สวนได้ความว่า มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการส่งเสริมสนับสนุนงานสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ปี 2551 มาตั้งแต่ก่อนสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ดังนี้ หากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมีเจตนาจะดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบมาแต่แรกก็อยู่ในวิสัยที่ดำเนินการในทุกขั้นตอนให้เสร็จสิ้นได้ไม่ยาก แต่กลับไม่กระทำการใดโดยปล่อยเวลาล่วงมาจนเป็นเวลากระชั้นชิดซึ่งนับเป็นข้อพิรุธในการจ้างอีกประการหนึ่งด้วย ข้ออ้างของจำเลยที่ 3 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่เทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ตามมาตรา 157 (เดิม) ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ประการต่อไปว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 หรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลหนองไผ่ล้อมซึ่งถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองตามบทบัญญัติดังกล่าว และยังถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ด้วย ดังนั้น เมื่อมีการกระทำอันเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย ส่วนที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานราชการไปตามขอบอำนาจของระเบียบกฎหมายโดยสุจริตโดยมิได้มุ่งหมายให้มีการแข่งขันราคาอย่างไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และจำเลยที่ 3 ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ในการอนุมัติและเห็นชอบให้มีดำเนินการจ้างเหมาประกอบอาหารโดยวิธีตกลงราคาทั้งที่ตามระเบียบจะต้องดำเนินการจ้างโดยวิธีสอบราคา พฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้กระทำไปโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและเป็นไปในทางเอื้ออำนวยแก่นางสาวกฤษณาและนางสวาทให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญาจ้างกับเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ประการสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 สถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า โทษจำคุกในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมาในส่วนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น เป็นอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลฎีกาไม่อาจวางโทษสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้ต่ำกว่านี้ได้อีก ทั้งศาลอุทธรณ์ยังลดโทษให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละหนึ่งในสามนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานและเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบและตามที่กฎหมายกำหนด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งมุ่งเอาแต่ประโยชน์แก่พวกพ้องส่งผลกระทบต่องบประมาณของรัฐในการพัฒนาประเทศ ทำให้รัฐต้องเสียหาย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะได้วางเงินเพื่อบรรเทาผลร้ายแล้ว ก็ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้ ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และพิพากษาลงโทษโดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มานั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์ในการกระทำความผิดแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 5 ปี เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 3 ปี 4 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์