ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 รวม 17 รายการข้างต้น ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2535 มาตรา 3, 15, 22, 27, 29, 31
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ประกาศหนังสือพิมพ์ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินทั้ง 17 รายการ ตามคำร้องตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2543 มาตรา 27, 29, 31
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดวินิจฉัยว่า หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ประกาศหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายแล้ว ยังไม่มีประกาศคำร้องในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกันเพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนคดีถึงที่สุด แล้วพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นส่งประกาศคำร้องไปลงหนังสือพิมพ์รายวันสื่อโฆษณาสองวันติดต่อกัน ไม่มีผู้ใดยื่นคำร้องอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีก
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบเงินสด 1,000,000 บาท เงินสด 40,000 บาท ทองคำแท่ง 1 แท่ง น้ำหนักประมาณ 761.7 กรัม ทองคำแท่ง 4 แท่ง น้ำหนักแท่งละประมาณ 152.3 กรัม รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อโตโยต้า ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์นายปัญจพล รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ยี่ห้อโตโยต้า ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์นายวัชรินทร์ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อโตโยต้า ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์นางสาวสมศรี เงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ธนาคาร ก. เลขที่บัญชี 118-2-71xxx-x ชื่อบัญชีนายบุญเลิศ เงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ธนาคาร ก. เลขที่บัญชี 118-2-79xxx-x ชื่อบัญชี นางสาวสมศรี เงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ธนาคาร ก. เลขที่บัญชี 260-2-77xxx-x ชื่อบัญชีนางสาวสมศรี ที่ดินโฉนดเลขที่ 35700 เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์นางสาวสมศรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินโฉนดเลขที่ 35702 เนื้อที่ 3 งาน 79 ตารางวา ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์นางสาวสมศรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินโฉนดเลขที่ 35703 เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 41 ตารางวา ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์นางสาวสมศรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินโฉนดเลขที่ 35964 เนื้อที่ 3 งาน 42 ตารางวา ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์นางสาวสมศรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ทรัพย์สินทั้ง 17 รายการ ตามคำร้อง) ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 27, 29, 31
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ธนาคาร ก. เลขที่บัญชี 260-2-77xxx-x ชื่อบัญชี นางสาวสมศรี พร้อมดอกเบี้ย (ทรัพย์สินรายการที่ 13) แก่ผู้คัดค้านที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ร้องฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เนื่องจากในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ออกใช้บังคับและมีผลเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 โดยมาตรา 4 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 และให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดแทน แม้ประมวลกฎหมายยาเสพติดยังคงมีมาตรการในการตรวจสอบทรัพย์สินและขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดแต่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 12 บัญญัติว่า "บรรดาคดีที่ได้มีการสั่งตรวจสอบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัติใช้บังคับ ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานอัยการ และศาล ดำเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด" ดังนั้น กรณีที่มีการสั่งตรวจสอบทรัพย์สินตามกฎหมายเดิมก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับและค้างพิจารณาอยู่ไม่ว่าในชั้นใด ก็ต้องดำเนินการต่อไปตามกฎหมายเดิมจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เมื่อคดีนี้มีการสั่งตรวจสอบทรัพย์สินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับ จึงต้องพิจารณาพิพากษาต่อไปตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาขอให้ริบทรัพย์สินรายการที่ 13 ด้วย เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ทรัพย์สินทั้ง 17 รายการ ยังคงเป็นทรัพย์สินที่พึงริบให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือไม่ เห็นว่า ทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบได้ต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3 บัญญัตินิยามคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึงการสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย และนิยามคำว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด" หมายความว่า เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับมาเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยการใช้เงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว ซื้อหรือกระทำไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ให้เงินหรือทรัพย์สินนั้นเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนสภาพกี่ครั้ง และไม่ว่าเงินหรือทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น โอนไปเป็นของบุคคลอื่นหรือปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลอื่นก็ตาม คดีนี้ผู้ร้องบรรยายคำร้องเกี่ยวกับคดียาเสพติดที่ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 เวลา 11.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทราร่วมกันจับกุมนายวินัย (ผู้คัดค้านที่ 1) นายยงยุทธ์ นายประพิศ และนายจำปา พร้อมยึดกัญชาแห้งอัดแท่ง 747 แท่ง น้ำหนักรวม 772.30 กิโลกรัม อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ต่อมาผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 3685/2558 (หลังจากนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกผู้คัดค้านที่ 1 มีกำหนด 15 ปี และปรับ 900,000 บาท ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1740/2559) ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ออกใช้บังคับ ซึ่งมีผลให้พืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อีกต่อไป การผลิต นำเข้า ส่งออกจำหน่าย หรือมีพืชกัญชาไว้ในครอบครองจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26/2, 26/3, 75, 76 และ 76/1 และประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 93, 148 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง เมื่อพืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ฉะนั้นการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก ตามที่ผู้ร้องบรรยายมาในคำร้องจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป และไม่ปรากฏจากคำร้องของผู้ร้องว่าผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกและผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษโดยประการอื่น ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามจึงไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดที่ศาลจะสั่งริบได้ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29 อีกต่อไป ประกอบกับไม่ปรากฏว่าเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสั่งให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดไปแล้ว จึงต้องคืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่เจ้าของและผู้คัดค้านทั้งสาม แต่ทรัพย์สินรายการที่ 8 และที่ 11 ไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้านแสดงตนเป็นเจ้าของเข้ามาในคดี จึงเป็นเรื่องที่เจ้าของที่แท้จริงจะมาแสดงตนและขอรับคืนในภายหลัง ปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 เมื่อไม่อาจริบทรัพย์สินดังกล่าวได้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ทรัพย์สินทั้ง 17 รายการ ไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 2, 27, 29 ให้คืนทรัพย์สินทั้ง 17 รายการ แก่เจ้าของโดยเฉพาะทรัพย์สินรายการที่ 3 และที่ 4 คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 รายการที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 7 ที่ 10 ที่ 12 ที่ 14 ถึงที่ 17 คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 2 ทรัพย์สินรายการที่ 9 คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์