โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมิได้รับอนุญาตให้ขับรถยนต์ และบังอาจขับรถยนต์เป็นการฝ่าฝืน พระราชบัญญัติรถยนต์ และจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเฉียด ด.ช. น้อย ซึ่งอยู่ชิดด้านขวา ของทางเป็นเหตุให้รถยนต์ทับด.ช. น้อย มีบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 252 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2496 มาตรา 3 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มาตรา 16, 33 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 9
จำเลยปฏิเสธ
ศาลจังหวัดอุทัยธานีฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยขับรถยนต์โดยไม่ได้รับอนุญาตและขับรถผิดทางจราจร ส่วนการที่รถจำเลยทับผู้ตายหาใช่เกิดจากความประมาทของจำเลยไม่ เป็นความผิดของผู้ตายเองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มาตรา 16, 33, และ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 9 ให้ลงโทษจำเลยตาม พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มาตรา 33 ซึ่งเป็นบทหนัก ปรับ 50 บาท ค่าปรับจัดการตามมาตรา 18 กฎหมายลักษณะอาญา ส่วนข้อหาว่าจำเลยขับรถโดยประมาททับคนตายนั้นให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานขับรถโดยประมาททับคนตาย
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยขับรถประมาททับคนตาย พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 252 และ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2496 มาตรา 3 อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุกจำเลย 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาขอให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น และว่าการฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับรถยนต์และการจราจร แม้จะกระทำโดยมิได้ตั้งใจซึ่งตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 43 บัญญัติว่าเป็นการกระทำโดยประมาท แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 หาได้บัญญัติเช่นนั้นไม่ จึงปรับเอาว่าจำเลยได้ทำให้ ด.ช. น้อย ตายโดยประมาท เพราะเหตุการฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับดังกล่าวหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3
พิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น