โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบเจ็ดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 (1), 52 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 58, 83 ริบของกลาง และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 12 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 458/2562 ของศาลชั้นต้น และโทษจำคุกของจำเลยที่ 15 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 237/2563 ของศาลจังหวัดทุ่งสง เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 12 และที่ 15 ในคดีนี้ด้วย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 17 ให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 12 และที่ 15 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสิบเจ็ดมีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 12 (2) พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 (1), 52 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสิบเจ็ดเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน (ชนไก่) ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,000 บาท ฐานร่วมกันเล่นการพนัน (ชนไก่) ปรับจำเลยทั้งสิบเจ็ด คนละ 2,000 บาท ฐานฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่ ปรับจำเลยทั้งสิบเจ็ด คนละ 4,000 บาท รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 8,000 บาท ปรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 คนละ 6,000 บาท จำเลยทั้งสิบเจ็ดให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,000 บาท ปรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 คนละ 3,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ยกคำขอให้บวกโทษจำคุกจำเลยที่ 12 และที่ 15
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 8 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่ ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันและฐานเป็นผู้เข้าร่วมเล่นการพนัน เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 เดือน และปรับ 8,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 และให้คุมความประพฤติไว้ในระหว่างรอการลงโทษ ให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน ตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร กับให้จำเลยที่ 1 ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 10 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่ ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน (ชนไก่) และฐานร่วมกันเล่นการพนัน (ชนไก่) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า ในส่วนความผิดต่อพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดเป็นเจ้าสำนักจัดให้มีการเล่นขึ้นเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตนและเข้าร่วมเล่นด้วยมาในข้อเดียวกัน แต่ก็เข้าใจได้ว่าโจทก์บรรยายแยกกระทงเรียงลำดับกันไป และแม้มาตรา 12 (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้แบ่งแยกกำหนดโทษของผู้จัดให้มีการเล่นและผู้เข้าพนันในการเล่นไว้ต่างหากจากกันก็ตาม แต่สภาพแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำที่มีเจตนาต่างกัน กล่าวคือ การจัดให้มีการเล่นก็โดยเจตนาเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตน ซึ่งเมื่อจำเลยที่ 1 จัดให้มีการเล่น จำเลยที่ 1 ก็ได้ผลประโยชน์แห่งตนแล้ว ซึ่งเป็นความผิดสำเร็จไปกรรมหนึ่งและเมื่อจำเลยที่ 1 เข้าร่วมเล่นการพนันอยู่ด้วย เป็นการที่จำเลยที่ 1 มีเจตนาเข้าพนันเอาเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นกับผู้ร่วมเล่นคนอื่นจึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง มิใช่จำเลยที่ 1 มีเจตนาเดียวเพื่อที่จะเล่นการพนันตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดหลายกรรมต่างกันในส่วนนี้ สำหรับในส่วนความผิดต่อพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ฐานฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่ โจทก์บรรยายฟ้องในข้อหนึ่งว่าจำเลยทั้งสิบเจ็ดนัดรวมตัวกันเพื่อเล่นการพนันชนไก่ อันเป็นการรวมตัวกันทำกิจกรรมร่วมกันและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่ ตามข้อ 2.1 ที่ให้ปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่มีคนแออัดเบียดเสียด ได้แก่ สนามชนโค สนามชนไก่ บ่อนกัดปลา สนามมวยและสนามกีฬาจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย อันเป็นอำนาจของคณะกรรมการดังกล่าวตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 (1) ที่โจทก์มีคำขอมาท้ายฟ้อง และโจทก์บรรยายฟ้องอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าสำนักจัดให้มีการเล่นขึ้นเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตน เห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่ที่ให้ปิดสนามชนไก่ เนื่องจากเป็นสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่มีคนแออัดเบียดเสียด กับความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันชนไก่มาคนละข้อต่างหากจากกัน แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าสำนักจัดให้มีการเล่นพนันชนไก่ดังกล่าวอันหมายความว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่และที่จำเลยที่ 1 ไม่ปิดสนามชนไก่ก็เพื่อจัดให้มีการเล่นพนันในสนามชนไก่นั้น แม้ความผิดทั้งสองฐานจะเป็นความผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายหลายบทต่างกัน และจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพก็ตาม ก็ยังคงเป็นการกระทำความผิดโดยเกิดจากเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหาใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ อย่างไรก็ตามในส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 มิใช่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการเปิดหรือปิดสนามชนไก่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 เป็นเพียงผู้เข้าร่วมเล่นการพนันชนไก่ แม้จะเป็นการชุมนุมมั่วสุมทำกิจกรรมแต่ก็ไม่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่ ตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องและประสงค์ให้ลงโทษ จึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 (1), 52 แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่มาด้วย ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 ในความผิดฐานดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 นอกจากนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วางโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันก่อนลดโทษ จำคุก 2 เดือน และปรับ 8,000 บาท นั้น เป็นการลงโทษเกินกว่าโทษปรับในความผิดฐานดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 12 (2) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ส่วนปัญหาที่โจทก์ฎีกาขอให้วางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ฐานฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่ และฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นพนันมาด้วยนั้น เมื่อศาลฎีกามิได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็วางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันแล้ว เพียงแต่รอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติจำเลยที่ 1 ไว้ ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในส่วนดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 วรรคสอง วรรคสาม, 12 (2) มาตรา 4 วรรคสอง วรรคสาม, 12 (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 (1), 52 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 วรรคสอง วรรคสาม, 12 (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานจัดให้มีการเล่นการพนันกับฐานฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท ฐานร่วมกันเล่นการพนันปรับ 2,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 ลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นพนัน คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท ฐานร่วมกันเล่นการพนัน คงปรับ 1,000 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 1 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟัง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 คงปรับคนละ 1,000 บาท ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8