โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 350
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องจากที่เดิมระบุชื่อโจทก์ว่า กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคลองกรูด เป็นนายสังเกตกับนางจีรนันท์และนางสาวขวัญสุดาก็ตาม แต่ตามคำเบิกความของนางสาวสุภาวดี ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามปรากฏว่า นายสังเกตกับนางจีรนันท์และนางสาวขวัญสุดา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการแทนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคลองกรูด ซึ่งกลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าวไม่เป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่สามารถเป็นคู่ความในคดีได้ นายสังเกตกับนางจีรนันท์และนางสาวขวัญสุดา ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการแทนกลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าวจึงไม่สามารถเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ ตามคำฟ้องของโจทก์ประกอบเอกสารท้ายคำฟ้องที่ระบุว่า นายสังเกตและนางจีรนันท์ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าวด้วย ก็ไม่ปรากฏว่านายสังเกตและนางจีรนันท์ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว โจทก์ทั้งสามจึงมอบอำนาจให้นางสาวสุภาวดี ดำเนินคดีนี้แทนไม่ได้เช่นกัน นอกจากนี้ นางสาวสุภาวดี ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสาม ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ประกอบเอกสารท้ายคำฟ้อง ระบุว่าเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าวด้วย ก็ไม่ได้ฟ้องคดีในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากสมาชิกทั้งหมดของกลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่สามารถเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ตามกฎหมายย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้อง นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสามอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน