โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 175, 177
ระหว่างไต่ส่วนมูลฟ้อง โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 9 ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 9 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และจำเลยที่ 10 ถึงที่ 16 มีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 ประกอบมาตรา 83 และคดีสำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 7 มีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 16 ข้อหาเบิกความเท็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 16 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จำเลยที่ 10 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 10 ออกจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกมีว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 ประกอบมาตรา 215 บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องมีข้อสำคัญเหล่านี้เป็นอย่างน้อย
(1) ชื่อศาลและวันเดือนปี
(2) คดีระหว่างใครโจทก์ใครจำเลย
(3) เรื่อง
(4) ข้อหาและคำให้การ
ฯลฯ
ตามมาตรา 186 (4) ข้อหา หมายถึง คำฟ้องโจทก์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีดุลพินิจย่อคำฟ้องโจทก์ในสาระสำคัญมาแสดงไว้ในคำพิพากษาเพื่อให้ผู้อ่านคำพิพากษาเข้าใจถึงข้อหาที่โจทก์ฟ้องได้ โดยไม่จำเป็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องคัดลอกคำฟ้องโจทก์มาทั้งหมด ทั้งการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตัดข้อความสำคัญในคำฟ้องโจทก์ออกไปบางส่วนย่อมไม่มีผลต่อการวินิจฉัยคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพราะในการวินิจฉัยคดีศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องพิจารณาจากคำฟ้องโจทก์ทั้งฉบับเป็นสำคัญ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยเห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยทั้งสิบหกฟ้องเท็จและเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสิบหกเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) และยังเป็นฟ้องที่บรรยายไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามบทมาตราที่ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบหกด้วย กรณีมิใช่เรื่องฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 ได้ โจทก์อุทธรณ์ 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือ การที่ศาลชั้นต้นไม่ออกหมายเรียกบุคคลตามที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และประเด็นที่สอง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบหรือไม่ ดังนี้ การวินิจฉัยคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงต้องวินิจฉัยตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาและอุทธรณ์โจทก์ที่คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยตามประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ทั้ง 2 ประเด็นแล้ว โดยประเด็นแรก เห็นว่า กรณีไม่เป็นประโยชน์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะรับวินิจฉัย และประเด็นที่ 2 เห็นว่า อุทธรณ์โจทก์เป็นอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แล้วพิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ดังนี้ ผลของคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงต้องเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 16 ตามที่โจทก์อุทธรณ์อีก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อต่อไปมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าอุทธรณ์โจทก์ที่ว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบหรือไม่เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ชอบหรือไม่นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง วางหลักในการฎีกาว่า ฎีกาจะต้องคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ไม่ถูกต้องด้วยข้อเท็จจริงและไม่ชอบด้วยเหตุผลอย่างไร ศาลฎีกาได้อ่านฎีกาโจทก์ที่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในประเด็นนี้ตามฎีกาหน้าที่ 13 และหน้าที่ 14 โดยตลอดแล้ว เห็นได้ว่า ฎีกาโจทก์ไม่ได้ยกข้อเท็จจริงและเหตุผลขึ้นโต้แย้งว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าอุทธรณ์โจทก์มิได้โต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบอย่างไร และโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะเหตุใดนั้นไม่ถูกต้องด้วยข้อเท็จจริงและไม่ชอบด้วยเหตุผลอย่างไร ฎีกาโจทก์จึงไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาโจทก์ข้อนี้แล้ว การวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในประเด็นที่ว่าการที่ศาลชั้นต้นไม่ออกหมายเรียกบุคคลตามที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลของคดีได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
พิพากษายืน