โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 264, 265, 268
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาว ท. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 (เดิม) และ 265 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ 1.7 ฐานใช้เอกสารปลอม จำคุก 1 ปี และลงโทษตามฟ้องข้อ 1.5 ฐานใช้เอกสารราชการปลอมซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี รวมเป็นจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นที่ยุติว่า โจทก์ร่วม จำเลย และนางสาวธัสสพร เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โดยจำเลยเป็นพี่ชายคนโต โจทก์ร่วมเป็นน้องสาวคนกลางและนางสาวธัสสพรเป็นน้องสาวคนเล็ก นางสาวธัสสพรมีสามีชื่อนายสุขสันต์ มีอาชีพประกอบธุรกิจ เมื่อประมาณปี 2555 นางสาวธัสสพรมีปัญหาเรื่องการเงินเนื่องจากบริษัทของสามีประสบปัญหาขาดทุนและสามีไปมีหญิงอื่น จำเลยจึงให้คำปรึกษาแนะนำให้นางสาวธัสสพรนำทรัพย์สินที่ทำมาหาได้มาฝากไว้ในชื่อของจำเลย นางสาวธัสสพรได้โอนที่ดินที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีให้จำเลย ส่วนบ้านสองหลังพร้อมที่ดินพิพาท นางสาวธัสสพรเห็นว่ามีราคาสูงจึงประสงค์จะโอนให้แก่โจทก์ร่วม แต่จำเลยเสนอให้โอนบ้านและที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัท ข. โดยให้โจทก์ร่วมเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555 จึงมีการทำหนังสือสัญญาขายบ้านทั้งสองหลังพร้อมที่ดินสองโฉนดให้แก่บริษัท ข. โดยไม่มีการชำระเงินกันจริง ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 บริษัท ข. ได้ขายบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองโฉนดให้แก่จำเลย และจำเลยได้นำบ้านพร้อมที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจำนองไว้กับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และต่อมามีการนำเงิน 17,200,000 บาท เข้าบัญชีของบริษัท ข. ที่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หลังจากนั้นได้มีการถอนและโอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีของจำเลย 14,000,000 บาทเศษ แล้วโอนให้บุคคลภายนอก 3,000,000 บาทเศษ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมก่อนว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อโจทก์ร่วมปลอมในเอกสารตามฟ้องของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า รายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.3 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเอกสารหมาย จ.4 สำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.5 บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย จ.6 และข้อมูลลูกค้าเอกสารหมาย จ.7 ที่จำเลยและนายณัฐนำไปขอเปิดบัญชีของบริษัท ข. กับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย นั้น ได้ความจากนางสาวอุบล เจ้าหน้าที่ผู้รับเปิดบัญชีที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ว่า วันที่ 18 กรกฎาคม 2557 นายณัฐกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทฯ มาขอเปิดบัญชีของบริษัทและลงลายมือชื่อในเอกสารของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และมีจำเลยผู้รับมอบฉันทะลงลายมือชื่อด้วย สำหรับโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 20 ขึ้นไป และในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทฯ เจ้าหน้าที่ธนาคารตรวจสอบรายการเอกสารเกี่ยวกับการขอเปิดบัญชีดังกล่าวแล้วจึงมอบเอกสารข้อมูลลูกค้าการขอเปิดบัญชีตามการทำธุรกรรมของธนาคารเพื่อนำไปให้โจทก์ร่วมลงนามในเอกสาร หลังจากนั้นประมาณ 2 ถึง 3 วัน มีบุคคลนำเอกสารขอเปิดบัญชีของโจทก์ร่วมมาให้กับธนาคาร และจากการตรวจสอบลายมือชื่อในเอกสารของโจทก์ร่วมประธานที่ประชุมของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทำธุรกรรมของธนาคาร ปรากฏว่าตรงกับลายมือชื่อที่ได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานการประชุมของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 จากคำให้การของนางสาวอุบลแสดงว่าขณะมีการยื่นเอกสารข้อมูลลูกค้าให้แก่นางสาวอุบลเจ้าหน้าที่ผู้รับเปิดบัญชีนั้น ยังไม่มีการเขียนข้อความและโจทก์ร่วมไม่ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้านางสาวอุบล นางสาวอุบลจึงมอบเอกสารข้อมูลลูกค้าในการขอเปิดบัญชีเพื่อนำไปให้โจทก์ร่วมลงนาม ซึ่งโจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้เขียนและลงลายมือชื่อในเอกสารที่ส่งมอบให้แก่ธนาคารตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.7 และโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อเป็นภาษาไทยไม่เคยลงลายมือชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ประกอบกับเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของโจทก์ร่วมที่เป็นภาษาอังกฤษตามที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวมีความแตกต่างกับตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในเอกสารกรรมการเข้าใหม่ด้วย นอกจากนี้ยังได้ความจากผลการตรวจพิสูจน์และความเห็นของผู้ชำนาญการว่า ลายมือชื่อของโจทก์ร่วมตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.7 กับตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ร่วม เขียนเป็นคนละแบบกัน ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้ว่า สำเนารายงานการประชุม สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนารายการเกี่ยวกับบ้าน (สำเนาทะเบียนบ้าน) สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น และสำเนาข้อมูลลูกค้าเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.7 ที่มีลายมือชื่อของโจทก์ร่วมเป็นภาษาอังกฤษดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความสนับสนุนว่าจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารดังกล่าวก็ตาม แต่ปรากฏว่าในชั้นพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น จำเลยยื่นคำให้การฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2562 ยอมรับว่าได้ลงลายมือชื่อแทนโจทก์ร่วมและนางสาวธัสสพร เพียงแต่กล่าวอ้างว่าได้รับความยินยอมจากโจทก์ร่วมและนางสาวธัสสพรแล้วเท่านั้น ดังนี้จึงถือได้ว่าจำเลยยอมรับแล้วว่าจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อโจทก์ร่วมปลอมในเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.7 จริง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยลงลายมือชื่อโจทก์ร่วมปลอมในเอกสารดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้อง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมและจำเลยต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารกับปลอมเอกสารราชการตามที่โจทก์ร่วมฎีกา และฐานใช้เอกสารปลอมกับฐานใช้เอกสารราชการปลอม ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยลงลายมือชื่อปลอมของโจทก์ร่วม จำเลยได้รับความยินยอมจากโจทก์ร่วมแล้ว จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมนั้น จำเลยมีตัวจำเลยเป็นพยานเบิกความว่า เดิมบิดามีที่ดินที่ใส่ชื่อนายการุณ รวม 5 แปลง ต่อมาปี 2558 จะขายที่ดินดังกล่าว บิดาและครอบครัวตกลงกันให้นางสาวธัสสพรน้องสาวไปติดต่อกับนายสุขสันต์สามีเพื่อไปขอกู้เงินจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีชื่อนางสาวธัสสพรเป็นผู้กู้และใช้ที่ดินทั้ง 5 แปลงดังกล่าวเป็นหลักประกัน ทำสัญญาซื้อขายระหว่างนายการุณกับนางสาวธัสสพร และจดทะเบียนจำนองกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 43,700,000 บาท ตกลงให้ฝ่ายครอบครัวจำเลย 15,000,000 บาท แต่มีการจ่ายจริงเพียง 4,000,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 11,000,000 บาท และทำสัญญากู้ยืมเงินโดยจำเลยและนางสาวธัสสพรเป็นผู้กู้ในวงเงิน 15,000,000 บาท จากบริษัทของนายสุขสันต์ แต่จำเลยและนางสาวธัสสพรไม่ได้ลงลายมือชื่อ หลังจากนั้นจำเลยไปจดทะเบียนตั้งบริษัท ข. เพื่อรับซื้อผลผลิตจากปาล์ม ในการจัดตั้งบริษัท จำเลยแจ้งให้บุคคลที่มีชื่อเป็นกรรมการทราบแล้ว โดยไปจดทะเบียนที่จังหวัดระนอง มีจำเลย โจทก์ร่วม นางสาวธัสสพร นายมโน นางสาวพัชราภรณ์ นางสาวปานวาด นายณัฐ เป็นผู้เริ่มก่อการ การจดทะเบียนตั้งบริษัทดังกล่าวนั้นทุกคนให้จำเลยลงลายมือชื่อแทน เนื่องจากต้องลงลายมือชื่อตัวอย่างแต่ละคนไว้เพื่อใช้ในการดำเนินการของบริษัทต่อไป หลังจากนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนจำเลยก็เป็นผู้ลงลายมือชื่อแทนทุกคนแต่เพียงผู้เดียวโดยได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวแล้ว ประมาณเดือนมกราคม 2555 นางสาวธัสสพรเล่าให้จำเลยฟังที่บ้านเลขที่ 88/17 ของนางสาวธัสสพรว่านายสุขสันต์และบริษัทมีปัญหา นางสาวธัสสพรกลัวว่าจะถูกฟ้องล้มละลายถูกยึดทรัพย์ จึงขอเอาทรัพย์สินมาฝากไว้ที่บริษัทฯ นางสาวธัสสพร โอนบ้านทั้งสองหลังพร้อมที่ดินมาไว้ที่บริษัทฯ ของจำเลย ต่อมาเมื่อนางสาวธัสสพรถูกฟ้องเป็นคดีแพ่ง โจทก์ในคดีดังกล่าวยินยอมให้ไถ่ถอนที่ดิน 5 แปลงข้างต้นในวงเงิน 28,000,000 บาท แล้วจะถอนฟ้องนางสาวธัสสพร หลังจากนั้นบิดา จำเลย นางสาวธัสสพร และโจทก์ร่วมตกลงให้เอาบ้านพร้อมที่ดินพิพาทไปจำนองกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และเอาที่ดินเขาชายที่ติดจำนองกับโจทก์ในคดีแพ่งไปขอสินเชื่อกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ต่อมาธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย อนุมัติเงินกู้ให้ 17,850,000 บาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร อนุมัติวงเงิน 22,000,000 บาท โดยการดำเนินการดังกล่าวได้แจ้งไว้ในคดีแพ่งแล้วเพื่อขอเลื่อนการพิจารณาคดี วันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยอนุมัติเงิน จำเลยได้โอนเงินไปไว้ในบัญชีของจำเลยที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสินเชื่อของธนาคารดังกล่าว การดำเนินการตั้งแต่ต้นนางสาวธัสสพรและโจทก์ร่วมทราบและยินยอมโดยตลอด โดยก่อนวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 นางสาวธัสสพรได้บอกให้จำเลยติดต่อญาติ ๆ เพื่อมาทำบันทึกการเจรจาตกลงกัน หลังจากมีการพูดคุยกันแล้วได้ทำบันทึก ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2557 วันดังกล่าวนางสาวธัสสพรไม่ได้มาร่วมพูดคุยด้วย ก่อนที่จะมีการจัดทำบันทึกดังกล่าว นายบุญโชค อาของจำเลยได้นำ น.ส.3 ข. เป็นที่ดิน 2 แปลง ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมาคืนให้เนื่องจากชำระหนี้ให้แล้ว โจทก์ร่วมขอให้ใส่ชื่อโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว จำเลยจึงทำหนังสือมอบอำนาจ เพื่อให้โจทก์ร่วมไปดำเนินการด้วยตนเอง วันรุ่งขึ้นโจทก์ร่วมก็ไปดำเนินการ ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 จำเลย นางสาวธัสสพร และนายสุขสันต์ไปที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานใหญ่ เพื่อทำสัญญากัน วันดังกล่าวนายสุขสันต์และนางสาวธัสสพรแจ้งว่าต้องแบ่งเงินที่ได้จากการจำนองบ้านทั้งสองหลังและที่ดินไว้กับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยให้ด้วย 10,000,000 บาท เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ทั้งสองคนทำมาหาได้ร่วมกัน แต่จำเลยปฏิเสธ วันดังกล่าวจึงไม่มีการทำสัญญากับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หลังจากนั้นนายสุขสันต์และนางสาวธัสสพรกับโจทก์ร่วมได้ข่มขู่จำเลย จำเลยได้ฟ้องเป็นคดีที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยโอนเงินที่ได้จากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเข้าบัญชีจำเลยที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 8,000,000 บาท อีก 3,000,000 บาท โอนให้แก่นายบุญโชคเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน และนายบุญโชคได้คืน น.ส.3 ข. ให้แก่จำเลย ส่วนเงินที่เหลือ 11,000,000 บาท ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งของบิดาและสร้างบ้านให้บิดาพักอาศัยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2557 หลังจากได้ดำเนินการเปิดบัญชีและได้กู้เงิน 1 วัน นางสาวธัสสพรได้นัดจำเลย โจทก์ร่วม และญาติ ๆ ซึ่งเป็นพี่และน้อง ๆ ของบิดามาตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของครอบครัวต่อหน้าบิดาและมารดา โดยมีการบันทึกทรัพย์สินทั้งหมดว่าเป็นของผู้ใดบ้างและระบุขั้นตอนในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าว โดยที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 88/17-18 เป็นของนางสาวธัสสพรคนเดียว และระบุต่อไปว่าให้จำเลยนำหลักฐานดังกล่าวเข้าจำนองต่อธนาคารเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ของนางสาวธัสสพรตามวงเงินที่ธนาคารอนุมัติ และได้ระบุต่อไปด้วยว่า จำเลยจะไม่นำหลักทรัพย์ดังกล่าวข้างต้นไปเพิ่มวงเงินกู้ซึ่งบันทึกดังกล่าวจำเลยและโจทก์ร่วมได้ลงนามร่วมกัน โดยมีมารดาและญาติซึ่งเป็นพี่และน้องของบิดาร่วมลงนามเป็นพยาน อันสอดคล้องกับที่โจทก์ร่วมนำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้มีการโอนกรรมสิทธิ์บ้านทั้งสองหลังและที่ดินพิพาทของนางสาวธัสสพรที่โจทก์ร่วมกับนางสาวธัสสพรอาศัยอยู่ไปเป็นของบริษัท ข. โดยให้ใส่ชื่อโจทก์ร่วมเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและถือหุ้นส่วนใหญ่ และโจทก์ร่วมรับว่าได้ลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกข้อความ โดยมีรายละเอียดตามที่จำเลยนำสืบจริง โดยเฉพาะมีการระบุให้จำเลยนำหลักฐานดังกล่าวเข้าจำนองต่อธนาคารเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ของนางสาวธัสสพรตามวงเงินที่ธนาคารอนุมัติ อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์ร่วมและนางสาวธัสสพรยินยอมให้จำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปติดต่อดำเนินการกับธนาคาร นอกจากนี้ในการก่อตั้งบริษัทฯ ตลอดจนการดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรรมการของบริษัทฯ รวมทั้งการนำโจทก์ร่วมเข้ามาเป็นกรรมการเข้าใหม่ของบริษัทฯ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมเข้าไปดำเนินการให้มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรรมการของบริษัทด้วยตนเอง เนื่องจากไม่ปรากฏว่ารายการเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรรมการมีการลงลายมือชื่อของโจทก์ร่วมแต่อย่างใด คงมีเพียงลายมือชื่อที่เป็นภาษาอังกฤษในนามโจทก์ร่วมพร้อมประทับตราบริษัทฯ ไว้ตามเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วเท่านั้น จึงน่าเชื่อว่าการจดทะเบียนตั้งบริษัทดังกล่าวนั้น ทุกคนรวมทั้งโจทก์ร่วมให้จำเลยลงลายมือชื่อแทนเนื่องจากต้องลงลายมือชื่อตัวอย่างแต่ละคนไว้เพื่อใช้ในการดำเนินการของบริษัทฯ ต่อไป หลังจากนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนจำเลยก็เป็นผู้ลงลายมือชื่อแทนทุกคนแต่เพียงผู้เดียวโดยได้รับความยินยอมแล้ว นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่า โฉนดที่ดินพิพาทของนางสาวธัสสพร สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเอกสารหมาย จ.4 และสำเนารายการเกี่ยวกับบ้าน (สำเนาทะเบียนบ้าน) ของโจทก์ร่วมเอกสารหมาย จ.5 นั้น โจทก์ร่วมรับว่าได้ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องไว้ในเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ดังกล่าวไว้แล้วจริง โดยเอกสารดังกล่าวและโฉนดที่ดินพิพาทเก็บรักษาไว้ในตู้เซฟของนางสาวธัสสพรที่บ้านของนางสาวธัสสพร หากโจทก์ร่วมและนางสาวธัสสพรไม่ทราบและไม่รู้เห็นยินยอมให้จำเลยนำโฉนดที่ดินและเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ดังกล่าวไปดำเนินการเปิดบัญชี และทำนิติกรรมกู้ยืมเงินและจดทะเบียนจำนองไว้กับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยดังกล่าวแล้ว โฉนดที่ดินและเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ซึ่งเก็บอยู่ในตู้เซฟภายในห้องของนางสาวธัสสพร จำเลยก็ไม่สามารถที่จะนำออกไปได้ ที่โจทก์ร่วมและนางสาวธัสสพรเบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2557 ทราบจากแม่บ้านชาวพม่าว่ามารดามาที่บ้านและออกจากห้องนอนของโจทก์ร่วมโดยถือกระดาษไว้ในมือ ในทำนองว่ามารดาเอาโฉนดที่ดินและเอกสารของโจทก์ร่วมจากตู้เซฟที่อยู่ในห้องนอนไปนั้น โจทก์และโจทก์ร่วมก็ไม่ได้นำแม่บ้านชาวพม่ามาเบิกความยืนยันต่อศาล กลับได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตู้เซฟเป็นที่เก็บทรัพย์สินของโจทก์ร่วมรวมทั้งเอกสารของนางสาวธัสสพร และนางสาวธัสสพรเบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมถามทำนองเดียวกันว่า ประมาณเดือนพฤษภาคม 2557 แม่บ้านชาวพม่าแจ้งว่ามารดามาที่บ้านและเข้าไปในห้องนอนของนางสาวธัสสพร ขณะที่เดินออกมาจากห้องนอนถือเอกสารออกมาด้วย แล้วก็ออกจากบ้านไป ก่อนเกิดเหตุไม่ได้เปิดตู้เซฟจึงไม่ทราบว่าโฉนดที่ดินหายไป เชื่อว่ามารดาเป็นคนเอาโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงไป เพราะก่อนหน้านี้มารดาเคยขอยืมเครื่องประดับของนางสาวธัสสพรหลายครั้ง ซึ่งนางสาวธัสสพรได้กดรหัสตู้เซฟต่อหน้ามารดา นั้น คำเบิกความของโจทก์ร่วมและนางสาวธัสสพรดังกล่าวก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งขัดต่อเหตุผล เพราะแม้นางสาวธัสสพรจะอ้างว่าเคยกดรหัสตู้เซฟต่อหน้ามารดาก็ตาม แต่นางสาวธัสสพรเบิกความรับว่ามารดาไม่ทราบรหัสการเปิด ซึ่งการเปิดตู้เซฟดังกล่าวลำตัวและมือของนางสาวธัสสพรก็น่าจะบังสายตาของมารดาไม่สามารถที่จะเห็นและจดจำรหัสตู้เซฟได้ ประกอบกับขณะนั้นมารดาอายุมากถึง 66 ปี แล้วและป่วยมีโรคประจำตัวหลายอย่าง สภาพร่างกายไม่แข็งแรงตามธรรมชาติ สายตาและความทรงจำไม่แม่นยำเหมือนกับบุคคลที่อายุยังน้อย นางสาวธัสสพรเพียงแต่สันนิษฐานเอาเองว่ามารดาจดจำรหัสตู้เซฟได้ทั้ง ๆ ที่ไม่ปรากฏว่ามารดาเคยเปิดตู้เซฟมาก่อน และเป็นการผิดปกติวิสัยที่มารดาจะเป็นผู้ลักทรัพย์สินของบุตรสาวตนเอง อีกทั้งหากนางสาวธัสสพรและโจทก์ร่วมทราบว่ามารดาลักเอาเอกสารไป ก็น่าจะต้องเปิดตู้เซฟดูว่ามีทรัพย์สินและเอกสารใดหายไปบ้าง แต่ก็ไม่มีการเปิดดูจึงไม่ทราบว่าโฉนดที่ดินได้หายไป และไม่เคยสอบถามหรือโต้แย้งกับมารดา แต่กลับปล่อยปละละเลยมานาน จึงเป็นพิรุธและไม่สมเหตุผล กลับน่าเชื่อตามที่จำเลยนำสืบว่า การที่จำเลยไปดำเนินการกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยลงลายมือชื่อแทนโจทก์ร่วมในเอกสารเองก็เนื่องมาจากได้ปรึกษากันแล้วภายในครอบครัวให้จำเลยเป็นผู้ไปดำเนินการ ดังเช่นการดำเนินการของบริษัทตั้งแต่เริ่มก่อการที่มีการจดทะเบียนบริษัทและลงลายมือชื่อแทนกรรมการผู้เริ่มก่อการทุกคน จำเลยก็เป็นผู้ดำเนินการลงลายมือชื่อแทนกรรมการดังกล่าวรวมทั้งโจทก์ร่วมด้วยความยินยอมของทุกคนตลอดมา รวมทั้งการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมการของบริษัท ดังนั้น การที่จำเลยลงลายมือชื่อโจทก์ร่วมในเอกสารต่าง ๆ ทุกฉบับรวมทั้งเอกสารตามฟ้องจึงเชื่อว่าจำเลยได้รับความยินยอมจากโจทก์ร่วมให้ไปดำเนินการตามที่จำเลยนำสืบ โจทก์ร่วมจึงไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารกับปลอมเอกสารราชการ และฐานใช้เอกสารปลอมกับฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามฟ้องโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยฟังขึ้น โดยไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง