โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 12, 76, 101, 126 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จําเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 101 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จําคุกคนละ 3 ปี จําเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจําคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 10 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 5 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า กรณีมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ยาแก้ไอของกลางแม้จะเป็นยาแผนปัจจุบันชนิดยาอันตราย และมีจำนวนมากถึง 1,500 ขวด มีปริมาตรรวม 90 ลิตร แต่โดยสภาพมีคุณสมบัติหรือสรรพคุณใช้สำหรับบรรเทาอาการไอ ทั้งจำเลยทั้งสองได้ให้การรับสารภาพมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้รู้สำนึกในการกระทำความผิดของตน ประกอบกับการต้องโทษจำคุกในระยะสั้น นอกจากจะไม่เกิดผลในการฟื้นฟูแก้ไขความประพฤติของจำเลยทั้งสองได้เท่าที่ควรแล้ว ยังทำให้จำเลยทั้งสองมีประวัติเสื่อมเสียและอาจได้รับผลกระทบในการประกอบสัมมาอาชีพโดยสุจริตหลังจากพ้นโทษ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองและคุมความประพฤติจำเลยทั้งสองไว้ เพื่อให้พนักงานคุมประพฤติได้คอยช่วยเหลือสอดส่องดูแล แนะนำ หรือตักเตือน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสองและสังคมมากกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองมานั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อให้จำเลยทั้งสองหลาบจำไม่กลับมากระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก เห็นสมควรวางโทษปรับจำเลยทั้งสองอีกสถานหนึ่งด้วย
อนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองร่วมกันมียาแก้ไอ ซึ่งมีส่วนผสมของไดเฟนไฮดรามีนและคลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต อันเป็นยาแผนปัจจุบันชนิดยาอันตรายจำพวกฮิสตามีนและแอนติฮิสตามีน ไว้ในครอบครองเพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป เพื่อประโยชน์ในทางการค้าของจำเลยทั้งสอง โดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และขอให้ยึดรถกระบะของกลางที่จำเลยทั้งสองใช้เป็นยานพาหนะไปรับและส่งยาแก้ไอให้แก่ลูกค้า แต่เมื่อคดีนี้มิได้มีการสืบพยาน จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำฟ้องและคำให้การ เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ใช้รถกระบะของกลางไปรับและส่งยาแก้ไอของกลางในลักษณะอย่างไร ทั้งรถกระบะโดยสภาพแล้วก็เป็นยานพาหนะที่บุคคลทั่วไปใช้เป็นยานพาหนะสัญจรตามธรรมดาในชีวิตประจำวัน รถกระบะของกลางจึงมิได้เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ในการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง จึงไม่อาจริบรถกระบะของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ได้ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นอ้างและวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคนละ 5,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยทั้งสองคนละ 2,500 บาท เมื่อรวมกับโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 แล้ว เป็นจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 เดือน และปรับคนละ 2,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสองฟัง และให้คุมความประพฤติจำเลยทั้งสองมีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกคำขอที่ให้ริบรถกระบะของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9