คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2550 และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2551 ต่อมาจำเลยถึงแก่ความตาย ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2561
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยกับนางยุพินรัตน์
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่าสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้าน (ที่ถูก นางยุพินรัตน์) ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2551 เป็นโมฆะ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2551 จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนางยุพินรัตน์ โดยจำเลยตกลงจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 30523, 30561, 34451, 34632, 34633, 34634, 34659, 36797 และที่ดินโฉนดเลขที่ 27549 ให้แก่นางยุพินรัตน์ และศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องต่อผู้ร้องขอให้งดการขายทอดตลาดที่ดินมีโฉนด 8 แปลง ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 30523, 30561, 34451, 34632, 34633, 34634, 34659 และ 36797 ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยองของจำเลยโดยอ้างว่าศาลจังหวัดมีนบุรีได้มีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยโอนที่ดินตามประกาศขายทอดตลาดดังกล่าวให้แก่นางยุพินรัตน์แล้ว จำเลยจึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ผู้ร้องนำออกขายทอดตลาด ผู้ร้องสอบสวนแล้วเห็นว่าสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวทำขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2551 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว จึงเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 (3) ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะ กรณีไม่มีเหตุให้งดการขายทอดตลาด ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเป็นคดีนี้ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยกับนางยุพินรัตน์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความทำขึ้นภายหลังเวลาที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำขึ้นย่อมตกเป็นโมฆะโดยผลของกฎหมาย โดยไม่จำต้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะอีกหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนางยุพินรัตน์เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย ภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่กระทำไปโดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 และเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แม้ศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว คำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพัน เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยกับนางยุพินรัตน์เป็นโมฆะ ถือเสมือนไม่มีการทำนิติกรรม อันเป็นการเสียเปล่าไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ย่อมถือว่าคู่กรณียังคงอยู่ในฐานะเดิมเหมือนมิได้กระทำนิติกรรมต่อกัน และไม่มีผลให้นางยุพินรัตน์มีสิทธิในที่ดินทั้ง 9 แปลงของจำเลย โดยไม่จำต้องให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่าสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะอีก ส่วนการที่ผู้ร้องในฐานะผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องก็ได้ใช้สิทธิดังกล่าวแล้วในครั้งที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ผู้ร้องงดการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลย และผู้ร้องมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุให้งดการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของจำเลยเนื่องจากสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยกับนางยุพินรัตน์เป็นโมฆะ เมื่อผู้ร้องได้ยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้าง ทั้งไม่มีการเพิกถอนรายการจดทะเบียน ผู้ร้องจึงไม่มีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลและไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำพิพากษาให้ยกคำร้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของผู้ร้องเนื่องจากไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ