โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กับพวกอีก 4 คน (จำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 785/2518 ของศาลชั้นต้น และอีก 2 คนซึ่งหลบหนี) บังอาจร่วมกันกระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทง กล่าวคือ
ก. จำเลยทั้งสี่กับพวกดังกล่าวบังอาจร่วมกันทำไม้โดยตัดฟันไม้ประดู่ซึ่งอยู่ในป่าในเขตท้องที่อำเภอนากลาง จังหวัดอุดรธานี จำนวน 17 ท่อน ปริมาตร 64.07 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. และร่วมกันมีไม้ดังกล่าวโดยมิได้แปรรูปไว้ในความครอบครอง และร่วมกันนำไม้ดังกล่าวบรรทุกรถยนต์ 4 คันไปตามถนนผ่านเข้าไปในเขตอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ทั้งนี้โดยจำเลยกับพวกทำและมีไม้หวงห้ามดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย
ข. จำเลยทั้งสี่กับพวกดังกล่าวบังอาจร่วมกันทำปลอมตราและรอยตราของรัฐบาลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรธิการ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายประกาศกำหนด โดยจำเลยกับพวกปลอมตราชักลากที่ "ช.ลาก 1262" ตราตรวจไม้ที่ "ต.4410" ตราตรวจไม้ที่ "ต. 3932" และตราชำระค่าภาคหลวงที่ "ภล. 395" ทั้งนี้เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นตราประทับไม้ที่แท้จริงของรัฐบาล และโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและกรมป่าไม้ แล้วจำเลยทั้งสี่กับพวกนำตราประทับไม้ทั้ง 4 ตรา ดังกล่าวไปตีประทับลงไปที่ท่อนซุงไม้หวงห้ามทั้ง 17 ท่อนดังกล่าวในข้อ ก. อันเป็นการทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษรและตัวเลข เพื่อแสดงให้ปรากฏเสมือนว่าจำเลยกับพวกเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ทำไม้ดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม้ที่ปรากฏรอยตราประทับไม้ดังกล่าวผ่านการตีตราตรวจชักลากและการชำระค่าภาคหลวงโดยชอบแล้วและร่วมกันใช้รอยตราปลอมที่ประทับที่ท่อนซุงไม้ดังกล่าวแสดงแก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจไม้หวงห้าม โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและกรมป่าไม้ และกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นรอยตราประทับไม้ของรัฐบาลที่เจ้าพนักงานป่าไม้ประทับตีตราไว้ที่แท้จริง
ค. จำเลยทั้งสี่กับพวกบังอาจร่วมกันปลอมใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่อันเป็นเอกสารราชการขึ้นทั้งฉบับ รวม 4 ฉบับ โดยกรอกข้อความปลอมและลงลายมือชื่อปลอมของนายชาญวุธ ศิริปาณี ป่าไม้อำเภอวาริชภูมิ ทำการแทนนายอำเภอ ในแบบพิมพ์ใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ มีใจความสำคัญว่า อนุญาตให้นายรุ่งเรือง จุลชาติ นำไม้ประดู่รวม 17 ท่อน เคลื่อนที่ออกจากสนามไม้ บ้านห้วยเหล็กไฟ ตำบลวาริชภูมิ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ไปยังโกดังไชยทองตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี โดยบรรทุกรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ฐ. 01258 น.ฐ.03351 น.ม. 03660 และ อ.ด. 01827 ไม้ 17 ท่อนที่ปรากฏในใบเบิกทางดังกล่าวเป็นไม้หวงห้ามที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำและมีไว้โดยผิดกฎหมายตามข้อ ก. และตีตราประทับไม้ปลอมไว้ตามข้อ ข. ความจริงนายชาญวุธไม่เคยอนุญาตออกใบเบิกทาง 4 ฉบับดังกล่าวให้แก่นายรุ่งเรืองหรือจำเลยกับพวก ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและกรมป่าไม้ และจำเลยกับพวกกระทำขึ้นเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ อันเป็นเอกสารราชการที่นายชาญวุธป่าไม้อำเภอทำการแทนนายอำเภอวาริชภูมิออกให้ที่แท้จริง
ง. จำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันนำเอกสารราชการปลอมดังกล่าวในข้อ ข.และ ค. ไปอ้างและใช้ โดยเมื่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 นายสละและนายหวลนำไม้ประดู่หวงห้าม 17 ท่อนบรรทุกมากับรถยนต์ดังกล่าวในข้อ ค. และรถพ่วง4 คัน จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกดังกล่าวอ้างแสดงใบเบิกทางปลอมและแสดงรอยตราประทับตราปลอมดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งขอตรวจค้นว่าเป็นไม้ที่จำเลยกับพวกได้รับอนุญาตให้ทำและให้นำเคลื่อนที่ได้ถูกต้องตามกฎหมาย และโดยการแสดงเอกสารปลอมดังกล่าว ทำให้การขนส่งไม้ของจำเลยกับพวกได้รับความสะดวกรอดพ้นจากการจับกุมเรื่อยมาจนถึงเขตสุขาภิบาลอำเภอชุมแพ เจ้าหน้าที่ตำรวจอำเภอชุมแพขอตรวจไม้และใบเบิกทางนำไม้เคลื่อนที่ จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกอ้างแสดงใบเบิกทางนำไม้เคลื่อนที่ที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำปลอมขึ้นทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งได้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไม้ดังกล่าวประทับตราไม้ของรัฐบาลโดยชอบแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกเป็นการใช้และอ้างใบเบิกทางนำไม้เคลื่อนที่อันเป็นเอกสารราชการปลอม และอ้างรอยตราประทับไม้ปลอมที่ท่อนซุง ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและกรมป่าไม้
ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 11, 34, 69, 73, 74, 74 ทวิ, (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 มาตรา 6, (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 8, 12, 17, 18 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251, 252, 264, 265, 268, 83, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ข้อ 2 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 และพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 กระทงหนึ่ง ให้จำคุกคนละ 2 ปี ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 252 กระทงหนึ่ง แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 251 จำคุกคนละ 3 ปี และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 กระทงหนึ่ง แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 266 (ที่ถูกเป็นมาตรา 265) จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 7 ปี ให้ริบของกลางทั้งหมด ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 785/2518 ข้อหานอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานใช้รอยตราเจ้าพนักงานและใบเบิกทางนำไม้เคลื่อนที่ที่ทำปลอมขึ้น ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 4 ฐานใช้รอยตราเจ้าพนักงานที่ทำปลอมขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 252 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 251 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 4 คนละ 3 ปี และให้คืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน อ.ด.01827 กับรถพ่วงไม่มีหมายเลขทะเบียนแก่จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 4 ฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 บังอาจร่วมกันมีไม้ประดู่อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. รวม 17 ท่อน ซึ่งมีรอยตราประทับไม้ปลอมประทับอยู่ทุกท่อน ไว้ในป่าที่อยู่ในเขตอำเภอนากลาง จังหวัดอุดรธานี แล้วนำไม้ดังกล่าวบรรทุกรถยนต์ 4 คันตามฟ้องเพื่อนำไปขายที่กรุงเทพมหานคร โดยจำเลยที่ 2 กับพวกให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และจำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 785/2518 ขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวคนละคันพร้อมกับมอบใบเบิกทางปลอม 4 ฉบับตามฟ้องให้ด้วย เพื่อให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกแสดงต่อเจ้าพนักงานซึ่งขอตรวจ ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่ารอยตราประทับไม้ที่ประทับไม้ประดู่หวงห้ามทั้ง 17 ท่อนเป็นรอยตราปลอม และใบเบิกทาง 4 ฉบับดังกล่าวเป็นใบเบิกทางปลอม เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกดังกล่าวขับรถยนต์บรรทุกไม้ผ่านด่านป่าไม้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกได้แสดงรอยตราประทับไม้ปลอมและใบเบิกทางปลอมดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธรอำเภอชุมแพซึ่งขอตรวจว่าเป็นไม้ประดู่หวงห้ามที่ได้รับอนุญาตให้ทำและให้นำเคลื่อนที่ได้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกไม่ทราบว่าเป็นรอยตราประทับไม้ปลอมและใบเบิกทางปลอม
ปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้รอยตราปลอมและใช้ใบเบิกทางปลอมหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วเชื่อว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้รอยตราปลอมและใช้ใบเบิกทางปลอมจริง
ส่วนปัญหาที่ว่าการใช้รอยตราปลอมและการใช้ใบเบิกทางปลอมเป็นความผิดคนละกรรมหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ร่วมกันใช้รอยตราปลอมและใช้ใบเบิกทางปลอมในคราวเดียวกันและด้วยเจตนาอย่างเดียวกันคือเพื่อให้การบรรทุกไม้ของกลางของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 รอดพ้นจากการจับกุมของเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน มิใช่เป็นความผิดคนละกรรม
พิพากษายืน