คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 592 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ระหว่างพิจารณาโจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความ มีใจความว่า ข้อ 1. จำเลยที่ 2 ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 592 พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถวสามชั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2562 ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ข้อ 2. จำเลยที่ 1 ตกลงชำระเงินจำนวน 1,850,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2562 โดยชำระ ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ข้อ 3. หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ตามข้อตกลง จำเลยที่ 1 ยินยอมออกจากบ้านและที่ดินโฉนดเลขที่ 592 พร้อมยินยอมเสียค่าปรับให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 1,000,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำคำพิพากษาตามยอมไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม 2562 ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีอ้างว่าจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีฉบับลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและมีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 1 สามารถใช้ตึกแถวพิพาทเปิดร้านจำหน่ายสินค้าของตนได้ตามปกติ
โจทก์ไม่ยื่นคำคัดค้าน
จำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นให้เพิกถอนหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม จำเลยที่ 1 ตกลงชำระเงิน 1,850,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 ภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2562 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 จำเลยที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. ของจำเลยที่ 2 จำนวน 1,850,000 บาท ต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม 2562 ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีโดยอ้างว่า จำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ครั้นวันที่ 21 มกราคม 2563 ผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 2 นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศให้ผู้ที่อ้างว่ามิใช่บริวารของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันปิดประกาศ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 2 แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าจำเลยที่ 1 และบริวารยังคงอาศัยอยู่ในสถานที่พิพาท วันที่ 18 เมษายน 2563 เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 1 และบริวาร วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 1 และบริวาร
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า มีเหตุให้เพิกถอนหมายบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า เงินที่จำเลยที่ 1 โอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 2 จำนวน 1,850,000 บาท ตรงกับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และการโอนกระทำเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 สอดคล้องกำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้จำนวนดังกล่าวภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2562 ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินค่าไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 13792 พร้อมบ้านพักเป็นเงินประมาณ 1,680,000 บาท ส่วนที่เกินเป็นค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการโอนนั้น จำเลยที่ 2 คงนำสืบแต่เพียงว่าในการตกลงซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 13792 พร้อมบ้านพัก ระหว่างนายสมคิดกับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ตกลงโอนเงินเฉพาะค่าไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 13792 และบ้านพักให้แก่นายสมคิดนำไปดำเนินการไถ่ถอน โดยนายสมคิดได้แจ้งยอดเงินที่เป็นค่าไถ่ถอนจำนองจำนวน 1,680,000 บาทเศษ แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่ามีการตกลงให้จำเลยที่ 1 โอนค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินและบ้านพักด้วย การที่จำเลยที่ 1 โอนเงินให้แก่นายสมคิดเป็นเงินถึง 1,850,000 บาท เป็นจำนวนมากกว่าภาระหนี้จำนองถึงประมาณ 170,000 บาท ทั้งที่ไม่มีการตกลงกันมาก่อนนับว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าภายหลังโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้แจ้งแก่นายสมคิดว่าจำเลยที่ 1 โอนเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินค่าไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 13792 และบ้านพัก เป็นเงิน 1,684,919.69 บาท ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมการโอนที่ดิน เป็นข้อต่อสู้ที่เลื่อนลอยไม่สมเหตุผลเพราะขณะนั้นยังไม่มีการคิดคำนวณว่ามีค่าภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 13792 และบ้านพักเป็นเงินเท่าใด จึงยังเป็นจำนวนไม่แน่นอน ที่จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 นั้น เพราะจำหมายเลขบัญชีเงินฝากของนายสมคิดที่ให้ไว้ไม่ได้ ยิ่งแสดงให้เห็นถึงข้อพิรุธเพราะปัจจุบันการติดต่อสื่อสารเพื่อสอบถามนายสมคิดถึงหมายเลขบัญชีเงินฝากสามารถกระทำได้โดยง่ายซึ่งมีการติดต่อทางโทรศัพท์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายสมคิดกันอยู่แล้ว ทั้งไม่ปรากฏมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 ต้องโอนเงินค่าไถ่ถอนจำนองให้แก่นายสมคิดภายในวันดังกล่าวมิฉะนั้นจะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 13792 พร้อมบ้านพัก จึงมิใช่เรื่องเร่งด่วนที่จำเลยที่ 1 ต้องโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 แตกต่างจากการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมซึ่งเหลือกำหนดเวลาชำระอีกเพียงวันเดียวเท่านั้น คือวันที่ 10 สิงหาคม 2562 มิฉะนั้นจำเลยที่ 1 ต้องถูกบังคับคดีให้ออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท จึงมีความจำเป็นและเร่งด่วนมากกว่า พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 มีเหตุผลและน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 โอนเงินจำนวน 1,850,000 บาท เพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม ปัญหาว่าการที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 2 อันเป็นวิธีการชำระหนี้ที่แตกต่างจากที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ถือเป็นการชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 โดยชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ หนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป การที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 2 เป็นการชำระหนี้ผ่านธนาคารที่จำเลยที่ 2 มีบัญชีเงินฝากเพื่อให้จำเลยที่ 2 ได้รับเงินที่ชำระหนี้โดยมิได้ทำนิติกรรมโดยตรงต่อจำเลยที่ 2 ถือเป็นการชำระอย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องนำเงินจำนวน 1,850,000 บาท ไปชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 เมื่อปรากฏว่าต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ทยอยถอนเงินที่จำเลยที่ 1 นำฝากออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารโดยมิได้คืนให้จำเลยที่ 1 มีผลเท่ากับจำเลยที่ 2 ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีการชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว หนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมย่อมระงับสิ้นไปตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิขอให้บังคับคดีให้จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนหมายบังคับคดีที่บังคับแก่จำเลยที่ 1 และบริวารจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ