โจทก์ทั้งหกฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายคนละ ๕,๓๒๕ บาท ๓,๒๘๐ บาท ๓,๙๐๐ บาท ๒,๗๓๐ บาท ๕,๓๕๐ บาท และ ๓,๑๗๕ บาทตามลำดับต่อมาได้เลิกจ้างโจทก์ที่ ๑ ถึงโจทก์ที่ ๔ เพราะเหตุครบเกษียณอายุ และเลิกจ้างโจทก์ที่ ๕ กับโจทก์ที่ ๖ ด้วยเหตุคนล้นงานและต้องการเปลี่ยนแปลงกรรมวิธีการผลิต อันเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ทั้งหกไม่มีความผิด จำเลยไม่ได้จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย โจทก์ที่ ๑ ถึงโจทก์ที่ ๖ มีสิทธิได้รับค่าชดเชยคนละ ๓๑,๙๕๐ บาท ๑๙,๖๘๐ บาท ๒๓,๔๐๐ บาท ๑๖,๒๐๐ บาท ๓๒,๑๐๐ บาท และ๑๙,๐๕๐ บาท ตามลำดับ ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งหกครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดฟังคำพิพากษา ก่อนอ่านคำพิพากษา ทนายโจท์ที่ ๕ แถลงว่า โจทก์ที่ ๔ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๒,๗๓๐ บาทขอแก้ไขให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ ๑จำนวน ๓๑,๙๕๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๑๘,๑๘๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๓ จำนวน ๒๒,๘๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๔ จำนวน ๑๓,๓๘๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๕ จำนวน ๓๒,๑๐๐ บาท และแก่โจทก์ที่ ๖ จำนวน ๑๘,๙๐๐ บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า อนึ่งคดีเฉพาะตัวโจทก์ที่ ๔ ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๓๑ โจทก์ที่ ๔ แถลงว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่แท้จริงของตนคือ ๒,๗๓๐ บาท จึงขอแก้ไขให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และศาลแรงงานกลางก็อนุญาตแล้วซึ่งโจทก์ที่ ๔ ชอบที่จะได้รับค่าชดเชยจำนวน ๑๖,๓๘๐ บาท ครั้นศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ ๔ กลับพิพากษาให้เพียง ๑๓,๓๘๐ บาทเมื่อคำนวณแล้วเท่ากับโจทก์ที่ ๔ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเพียงเดือนละ ๒,๒๓๐ บาทเท่านั้น จึงเป็นการผิดพลาดไป เห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๓ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ ๔ จำนวน ๑๖,๓๘๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง.