โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย ได้รับมอบหมายจากผู้เสียหายให้ไปเก็บเงินค่าสินค้ายา และรับสินค้ายาคืนจากลูกค้าในช่วงระหว่างวันที่ 1 มีนาคม ถึง 30 ธันวาคม 2526 จำเลยได้รับสินค้ายาคืนและเงินค่าสินค้ายามาจากร้านขายยาต่าง ๆ ซึ่งเป็นลูกค้าของผู้เสียหายหลายครั้งแล้วไม่ส่งมอบให้ผู้เสียหาย แต่ได้เบียดบังไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริตขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 352 และสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาเป็นเงิน 723,513.45 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย
ในระหว่างการพิจารณา บริษัทเอฟ.อี.ซิลลิค (กรุงเทพฯ) จำกัดผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 352 วรรคแรก รวม 10 กระทง ให้จำคุกกระทงละ6 เดือน รวมจำคุก 5 ปี กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 711,637.45 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดฐานยักยอกเงินค่าสินค้ายาจำนวน 4,950.50 บาท 3,088 บาท และ 4,950.50 บาท ที่อ้างว่าจำเลยเก็บหรือรับมาจากร้านท่งจี่ตึ้งตามฟ้องข้อ 1.4 ข้อ 1.5และ ข้อ 1.6 เสีย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือนรวม 10 กระทง เป็นเวลา 60 เดือน กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ร่วมจำนวน 651,614.95 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ระหว่างวันเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยเป็นพนักงานขายสินค้าเวชภัณฑ์ของโจทก์ร่วมมีหน้าที่ไปติดต่อกับลูกค้าซึ่งอยู่ทางภาคอีสาน เขียนใบสั่งยาส่งมายังโจทก์ร่วมเพื่อให้โจทก์ร่วมจัดส่งยาแก่ลูกค้าตามใบสั่งซื้อและมีหน้าที่เก็บเงินจากลูกค้าส่งมอบให้แก่โจทก์ร่วมตลอดจนรับสินค้าคืนจากลูกค้า ปัญหาข้อแรกว่า จำเลยกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วมหรือไม่ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจำเลยได้รับสินค้ายาคืนจากร้านขายยาซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ร่วมหลายราย แต่จำเลยไม่นำไปส่งมอบคืนให้แก่โจทก์ร่วมกลับนำไปขายให้อีกร้านหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นการเบียดบังทรัพย์สินของโจทก์ร่วมเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต ย่อมมีความผิดฐานยักยอก
ปัญหาต่อไป ที่จำเลยฎีกาว่า เหตุเกิดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2526ถึงเดือนธันวาคม 2526 นายวิฑูรย์พยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยต้องคิดบัญชีลูกค้ากับโจทก์ร่วมทุกเดือนถือได้ว่าโจทก์ร่วมต้องทราบถึงการกระทำของจำเลย แต่โจทก์ร่วมหาได้ดำเนินการใด ๆ ไม่จนกระทั่งถึงเดือนมกราคม 2527 จึงมอบอำนาจให้นายอุดมร้องทุกข์คดีจึงขาดอายุความแล้วนั้นศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายวิฑูรย์ได้ตรวจร้านขายยาต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 25 ธันวาคม 2526จึงทราบว่าจำเลยรับสินค้ายาคืนในช่วงเวลาเกิดเหตุแล้วไม่นำส่งโจทก์ร่วม จึงได้แจ้งให้ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของโจทก์ร่วมทราบเพื่อดำเนินการต่อไป แสดงว่าโจทก์ร่วมเพิ่งทราบถึงการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด หลังจากการตรวจร้านขายยาต่าง ๆ ของนายวิฑูรย์ในเดือนธันวาคม 2526 โจทก์ร่วมร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2527 คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่ขาดอายุความ
ที่จำเลยฎีกาในปัญหาว่า ความผิดอาญาระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยระงับลงโดยการยอมความแล้วนั้น เห็นว่า แม้จำเลยมิได้หยิบยกปัญหานี้ขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องคดีอาญา อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจึงยกขึ้นฎีกาได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงเพียงแต่ได้ความว่าจำเลยยอมรับว่าจะนำสินค้ายาตามเอกสารหมาย จ.2 ในรายการที่จำเลยมิได้โต้แย้งมาคืนให้แก่โจทก์ร่วมภายในวันที่ 5 มกราคม 2527ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมยอมที่จะไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการยอมความอันจะทำให้คดีอาญาระงับลงดังที่จำเลยฎีกา
พิพากษายืน