โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 15,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยทั้งสองร่วมกันสั่งจ่ายเช็คธนาคาร ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 จำนวน 828,580.65 บาท ให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระเงินโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินตามระเบียบและวิธีการของธนาคาร ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันที่ที่ลงในเช็คโดยให้เหตุผลว่า เงินในบัญชีไม่พอจ่าย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์มีนายภูวิศ กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อปี 2560 ถึง 2562 จำเลยที่ 1 ซื้อเหล็กจากโจทก์หลายรายการเป็นเงิน 739,144.23 บาท โจทก์ส่งสินค้าแก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว โดยจำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คชำระค่าสินค้า ต่อมาเช็คที่ชำระค่าสินดังกล่าว ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ติดต่อทวงถามให้ชำระหนี้ จำเลยทั้งสองขอผ่อนชำระหนี้เป็นงวด ๆ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามที่ขอผ่อนผัน โจทก์ติดตามทวงถาม จนจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย โดยเป็นยอดรวมค่าสินค้าและดอกเบี้ยตรงกับบัญชีค้างชำระ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าสินค้าโจทก์เป็นเงิน 739,144.23 บาท และค่าดอกเบี้ย 89,436.42 บาท โดยจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งสองจึงสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้แทนเช็ค ต่อมาจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์นำเช็คมาเปลี่ยนเป็นเช็คพิพาทและในวันรับเช็คจำเลยทั้งสองทำใบรับเงิน ระบุว่า จำเลยที่ 1 ออกเช็คไว้เพื่อเป็นการค้ำประกัน โดยพนักงานส่งเอกสารของโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อในใบรับเงิน แต่พนักงานส่งเอกสารมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการใด ๆ แทนบริษัทโจทก์ การลงลายมือชื่อดังกล่าวจึงมิใช่การที่โจทก์ตกลงให้เช็คพิพาทเป็นเช็คค้ำประกันด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าสินค้าต่อโจทก์จริงและไม่ชำระหนี้ให้ จนในที่สุดต้องตกลงผ่อนชำระหนี้ต่อกัน โดยตกลงจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นในวันที่ 28 กันยายน 2561 แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้ชำระหนี้ตามข้อตกลงดังกล่าว เมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสองก็ร่วมกันออกเช็คให้ โดยจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นเช็คที่รวมทั้งหนี้ค่าสินค้าที่ค้างและดอกเบี้ยด้วย ซึ่งเท่ากับมีเจตนาจะชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยเช็คดังกล่าวนั้นเอง แต่ต่อมากลับให้โจทก์นำเช็คดังกล่าวกลับไปคืน แล้วออกเช็คพิพาทให้แทน โดยทำบันทึกขึ้นเองฝ่ายเดียวว่าเป็นเช็คค้ำประกันหนี้ ไม่มีข้อตกลงกำหนดเวลาที่โจทก์จะได้รับชำระหนี้ไว้เลย ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่โจทก์จะตกลงด้วยเช่นนั้น เมื่อเช็คออกให้เพื่อชำระหนี้ แล้วมาออกเช็คพิพาทให้แทน ก็ต้องถือว่าเช็คเป็นเช็คที่ออกให้เพื่อชำระหนี้เช่นเดียวกัน เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คที่ออกให้เพื่อชำระหนี้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมาย และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแล้ว จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น