โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ยี่ห้อดัทสันได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลย ต่อมารถของโจทก์คันที่เอาประกันภัยไว้เกิดอุบัติเหตุชนกับรถของผู้อื่นได้รับความเสียหายในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย จำเลยมีหน้าที่ซ่อมแซมความเสียหายให้เสร็จภายในเวลาอันสมควร หากจะใช้เวลาซ่อมก็ไม่เกิน 2 เดือน จำเลยรับรถไปจากโจทก์แล้ว หาได้ทำการซ่อมไม่ นับแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 9 เดือนเศษ จำเลยยังซ่อมไม่เสร็จ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องขาดประโยชน์อันควรได้จากการให้เช่ารถยนต์คันดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 27,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้จัดการมอบรถของโจทก์ให้อู่จัดการซ่อมแล้ว การซ่อมเสร็จเร็วหรือช้าไม่ใช่ความผิดของจำเลยอย่างไรก็ตามจำเลยยังได้รับการยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีก
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทโจทก์ได้ประกันภัยรถยนต์ยี่ห้อดัทสันไว้กับบริษัทจำเลยเพื่อความวินาศภัย ต่อมารถยนต์คันที่เอาประกันภัยเกิดอุบัติเหตุถูกชนเสียหายมากอยู่ในสภาพที่ชำรุดใช้การไม่ได้ บริษัทจำเลยออกใบสั่งซ่อมรถของโจทก์ให้อู่ดินแดงจัดการซ่อม ใบสั่งซ่อมมีหมายเหตุตอนท้ายว่า "ใบสั่งซ่อมนี้กำหนดใช้ภายในหกสิบวันนับแต่วันสั่งซ่อม อู่ซ่อมต้องให้เจ้าของรถหรือผู้ขับเซ็นชื่อ (เพื่อรับรองว่าซ่อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว) มิฉะนั้น บริษัทจะไม่จ่ายเงินค่าซ่อม" ทางอู่ซ่อมรถเสร็จให้ทางบริษัทโจทก์เซ็นชื่อรับรองซึ่งเป็นเวลาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วเกือบ 4 เดือน
ปัญหาว่า บริษัทจำเลยจะต้องชดใช้ค่าที่บริษัทโจทก์ขาดประโยชน์ในการให้เช่ารถระหว่างรถเข้าอู่ซ่อมเพียงไรหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บริษัทจำเลยต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดไว้ในคำให้การว่า ไม่จำต้องรับผิดตามข้อยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยหมวดที่ 3 ข้อ 3 โดยอ้างอิงเงื่อนไขในกรมธรรม์เป็นสำคัญ ซึ่งระบุไว้ในหมวดที่ 3 ว่าด้วยข้อยกเว้นความรับผิดของบริษัทจำเลยข้อ 3 ว่า ไม่ต้องผูกพันรับผิดต่อสิทธิเรียกร้องใด ๆ อันเกี่ยวกับการขาดประโยชน์ ผลจึงเท่ากับบริษัทโจทก์ผู้เอาประกันภัยยอมรับตามเงื่อนไขในกรมธรรม์โดยสละสิทธิเรียกร้องในเหตุดังกล่าวไว้แล้วนั่นเอง จึงไม่อาจเรียกร้องให้บริษัทจำเลยรับผิดในค่าขาดประโยชน์ในการให้เช่ารถของบริษัทโจทก์อย่างไรได้ ปัญหาข้อนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยจากการสืบพยานจำเลยแต่อย่างใด เพราะอาจวินิจฉัยได้จากความในเอกสารกรมธรรม์อยู่แล้ว ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า บริษัทจำเลยจะปัดความรับผิดต่อโจทก์ไม่ได้เพราะบริษัทจำเลยมีหน้าที่ซ่อมรถของโจทก์ตามข้อผูกพัน กลับไม่เอาใจใส่ต่อการซ่อมรถทำให้เสียเวลาซ่อมเนิ่นนานถึงปีเศษ ได้ชื่อว่าทำผิดหน้าที่ผู้รับประกัน กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามหมวดที่ 3 ข้อ 3 แห่งกรมธรรม์ บริษัทจำเลยต้องรับผิดในการทำละเมิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า การซ่อมรถที่ได้รับความเสียหายจากวินาศภัยเป็นหน้าที่ของบริษัทจำเลยจะต้องดำเนินการบำบัด เพื่อให้รถกลับคืนสภาพเดิมนั้น เป็นผลจากข้อสัญญาตามกรมธรรม์ซึ่งไม่อาจปรับเป็นเรื่องทำละเมิดได้ เพราะไม่ได้มีมูลมาจากการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายทั้งการที่บริษัทจำเลยไม่จัดการซ่อมรถให้เสร็จไปในเวลาอันควร ก็เป็นการละเลยงดเว้นหน้าที่ตามข้อผูกพันต่างหาก ตามเงื่อนไขในหมวดที่ 4 แห่งกรมธรรม์ข้อ 16 ระบุว่า "ในกรณียานยนต์เสียหายและบริษัทต้องรับผิดชอบชดใช้ให้ตามความในกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับนี้นั้น ไม่ว่าความเสียหายจะมากน้อยเพียงใดก็ตาม บริษัทผูกพันรับผิดเพียงที่จะต้องซ่อมให้ ณ โรงซ่อมที่บริษัทเห็นสมควรจนอยู่ในสภาพใช้การได้เท่านั้น" ถึงแม้บริษัทจำเลยจะได้จัดสรรอู่ซ่อมรถให้บริษัทโจทก์แล้วก็ตาม บริษัทจำเลยก็มีหน้าที่เร่งรัดทางอู่ให้ซ่อมรถให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 60 วัน ตามหมายเหตุในใบสั่งซ่อม เท่าที่บริษัทจำเลยเพิกเฉยเสียปล่อยให้อู่ทำการที่ว่าจ้างชักช้า โดยไม่จัดการเลิกจ้างแล้วเปลี่ยนอู่ซ่อมรถให้ใหม่ อันเป็นผลให้บริษัทโจทก์ต้องเสียประโยชน์ต้องถือว่าบริษัทจำเลยเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญาแล้ว ชอบที่บริษัทโจทก์จะเอารถไปให้อู่แห่งอื่นซ่อม แล้วเรียกร้องให้บริษัทจำเลยใช้ค่าซ่อมต่อไปได้ มิใช่ว่าบริษัทโจทก์จะหมดหนทางแก้ไขเสียทีเดียวเพราะเงื่อนไขดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิบริษัทโจทก์ในอันที่จะป้องกันสิทธิของตนแต่ประการใด ถึงอย่างไรค่าขาดประโยชน์ของบริษัทโจทก์ก็เป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่อาจบังคับเอาได้กับบริษัทจำเลย
พิพากษายืน