โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๘๐, ๘๓, ๙๑, ๒๘๘ และ ๓๗๑ นับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๔๒/๒๕๓๗ ของศาลจังหวัดเบตง และริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ ๑ รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๘๐, ๓๗๑ การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามมาตรา ๙๑ แม้จำเลยที่ ๑ อายุไม่เกิน ๒๐ ปี ก็ไม่เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้ตามมาตรา ๗๖ ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ให้ลงโทษ จำคุกกระทงละ ๑๒ ปี ฐานพาอาวุธไปในชุมนุมชน ให้ลงโทษปรับ ๙๐ บาท รวมจำคุก ๒๔ ปี และปรับ ๙๐ บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก ๑๖ ปี และปรับ ๖๐ บาท ให้นับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๔๒/๒๕๓๗ ของศาลจังหวัดเบตง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา ๒๙, ๓๐ ริบอาวุธมีดของกลาง ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นแต่เพียงกระทงเดียว มีกำหนด ๑๒ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๘ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙ โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้ง คัดค้านว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ ๑ ใช้อาวุธมีดของกลางขนาดยาวประมาณ ๓๕ เซนติเมตร ฟันนายหมัน โดยมังสา ผู้เสียหายที่ ๑ และนายตน มานิต ผู้เสียหายที่ ๒ ถูกบริเวณคอ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายทั้งสองเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า เมื่อผู้เสียหายทั้งสองกับพวกไปที่ทำงานจำหน่ายสินค้าพบจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ ๑ พูดโต้เถียงกับผู้เสียหายทั้งสอง จำเลยที่ ๑ ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ ๑ ถูกบริเวณคอแล้ว วิ่งตามไปฟันผู้เสียหายที่ ๒ ถูกที่บริเวณคอเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เบิกความเป็นพยานเพียงปากเดียว โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน และในชั้นสอบสวนจำเลยที่ ๑ มิได้ให้การถึงเรื่องที่ถูกวัยรุ่นทำร้ายทั้งจำเลยที่ ๑ มิได้โต้แย้งว่าบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.๗ ไม่ถูกต้องประกอบกับร้อยตำรวจนิพล เหมสลาหมาด พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เอกสารหมาย จ.๗ การที่จำเลยที่ ๑ ให้การต่อพนักงานสอบสวนในทันทีหลังเกิดเหตุ จึงยังไม่ทันมีเวลาคิดปรุงแต่งเรื่องเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ตนเองพ้นผิด จึงน่าเชื่อว่า จำเลยที่ ๑ ให้การตามความเป็นจริง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ใช้อาวุธมีดของกลางฟันผู้เสียหายทั้งสองโดยยังไม่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึง อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ จำต้องกระทำเพื่อป้องกันแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ต่อไปว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นพยานฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง
หรือไม่ ศาลฎีกา เห็นว่า แม้จำเลยที่ ๑ ให้การในชั้นสอบสวนว่า ตั้งใจใช้อาวุธมีดตบผู้เสียหายทั้งสองเพื่อเป็นการ สั่งสอนไม่ได้มีเจตนาฆ่าก็ตาม แต่ปรากฏจากผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.๒ และ จ.๓ ว่า ผู้เสียหายทั้งสองมีบาดแผลขอบค่อนข้างเรียบ แสดงว่าจำเลยที่ ๑ ใช้คมมีดฟันลงไปที่บริเวณคอผู้เสียหายทั้งสอง มิใช่ใช้อาวุธมีดตบผู้เสียหายทั้งสองดังที่ให้การ การที่จำเลยที่ ๑ ใช้อาวุธมีดขนาดยาวประมาณ ๓๕ เซนติเมตรและมีลักษณะดังที่ปรากฏในภาพถ่ายในบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย ต.๙ แผ่นสุดท้าย ซึ่งมีขนาดใหญ่และหนาพอสมควรฟันที่บริเวณคอผู้เสียหายทั้งสองอันเป็นอวัยวะสำคัญ จำเลยที่ ๑ ย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำได้ว่า ผู้เสียหายทั้งสองอาจถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ วรรคสอง ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า แพทย์ผู้ตรวจบาดแผลไม่ได้เบิกความโดยชัดแจ้งว่าบาดแผลของผู้เสียหายทั้งสองเป็นบาดแผลที่จำเลยที่ ๑ ประสงค์จะฟันให้ตายหรือเป็นบาดแผลที่เกิดจากจำเลยที่ ๑ กระทำเพื่อป้องกันตัว จึงรับฟังว่าจำเลยที่ ๑ มีเจตนาฆ่าไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ จะเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่าหรือเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมวินิจฉัยได้จากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน ? มิใช่ต้องถือเอาตามคำเบิกความของแพทย์เพียงอย่างเดียวดังที่จำเลยที่ ๑ ฎีกา
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานพยายามฆ่า ผู้อื่นเป็นสองกระทงความผิด เป็นการพิพากษาเกินคำขอดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษา หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ในฟ้องข้อ ๑ โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันเพียง ๒ ข้อ คือข้อ ก. จำเลยทั้งสองร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมืองและชุมนุมชนโดยไม่มีเหตุสมควร กับข้อ ข. จำเลยทั้งสองร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสองก็ตาม แต่ในฟ้องข้อ ข. โจทก์ได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายทั้งสองโดยเจตนาฆ่าและคมมีดถูกผู้เสียหายทั้งสองที่บริเวณคอ รายละเอียดบาดแผลปรากฏตามผล การตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง ซึ่งปรากฏว่าผู้เสียหายที่ ๑ มีบาดแผลที่บริเวณคอหนึ่งแผล และผู้เสียหายที่ ๒ มีบาดแผลที่บริเวณคอสองแผล อันเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนแยกออกจากกันได้ อีกทั้งโจทก์ได้ระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ มาในคำขอท้ายฟ้องด้วยประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙ โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่า หลังจากจำเลยที่ ๑ ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ ๑ แล้ว ได้เดินตามไปฟัน ผู้เสียหายที่ ๒ ขณะกำลังเดินเข้าไปในงาน ห่างประมาณ ๕ เมตร อันเป็นการฟันผู้เสียหายทั้งสองคนละคราวกัน การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานพยายามฆ่าเป็นสองกระทงความผิด จึงมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ หรือมิได้กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคแรก ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ วินิจฉัยแต่ประการใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นแต่เพียงกระทงเดียวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
อนึ่ง ความผิดฐานพาอาวุธไปในชุมนุมชน ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับ ๖๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นั้น ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องปรับบทตามมาตรา ๒๙ เพียงบทเดียว ศาลฎีกา เห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ .