โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 334, 335, 336 ทวิ, 358, 362, 365 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์รวม 50,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาว ณ. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการที่ที่ดินเป็นแอ่งใช้การไม่ได้ 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสามให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 358, 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข และฐานร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนกอไผ่ 1 กอ ต้นคูณ 1 ต้น ต้นพญาสัตบรรณ 1 ต้น ต้นมะขาม 1 ต้น ต้นกระถิน 3 ต้น ต้นมะขามเทศ 2 ต้น และต้นมะตูม 1 ต้น หรือใช้ราคาทรัพย์ 25,000 บาท แก่โจทก์ร่วม และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 16 ธันวาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์และยกคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์และโจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 กับที่โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งสามไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า นางสุดี มารดาโจทก์ร่วม และนางบุญทัน ภริยาจำเลยที่ 3 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันโดยเป็นบุตรของนายเนียม กับนางเติ๊ก สำหรับนางกวินธิดา และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของจำเลยที่ 3 กับนางบุญทัน ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2525 จำเลยที่ 3 และนางบุญทันสมรสกันจึงเข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 2 ไร่เศษ ของนายเนียมซึ่งเดิมเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2370 จังหวัดสระบุรี ต่อมาปี 2526 นายเนียมยกที่ดินพิพาทให้แก่นางสุดีและนางสุดีนำไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 12322 จังหวัดสระบุรี ระหว่างอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 3 ได้ปลูกบ้านเลขที่ 109/1 นอกจากนั้นยังปลูกต้นไม้ตามฟ้องประกอบด้วย กอไผ่ 1 กอ ต้นคูณ 1 ต้น ต้นพญาสัตบรรณ 1 ต้น ต้นมะขาม 1 ต้น ต้นกระถิน 3 ต้น ต้นมะขามเทศ 2 ต้น และต้นมะตูม 1 ต้น ในที่ดินพิพาทด้วย ต่อมาปี 2551 จำเลยที่ 3 ยกบ้านเลขที่ 109/1 ให้นางกวินธิดาและได้ย้ายออกไปปลูกสร้างบ้านหลังใหม่ที่อื่น คงเหลือนางกวินธิดา จำเลยที่ 1 และที่ 2 พักอาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าวโดยมีชื่อนางกวินธิดาเป็นเจ้าบ้าน ปี 2553 นางสุดีจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2560 โจทก์ร่วมยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นขอให้ขับไล่นางกวินธิดาและบริวารออกจากบ้านเลขที่ 109/1 และที่ดินพิพาท วันที่ 27 กันยายน 2561 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วม แต่จำเลยที่ 3 เข้าใจว่าที่ดินเป็นของตนเอง เป็นกรณีที่จำเลยที่ 3 ปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310 วรรคหนึ่ง โจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจึงเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 190/1 แต่ต้องใช้ค่าที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นให้แก่ผู้สร้าง แล้วพิพากษาให้นางกวินธิดาขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากบ้านเลขที่ 109/1 โดยให้โจทก์ร่วมชดใช้ค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นแก่นางกวินธิดา 100,000 บาท โจทก์ร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 คดีถึงที่สุดแล้ว ในวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้องภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 992/2561 และก่อนที่โจทก์ร่วมจะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าว จำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันต้นไม้ตามฟ้องที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท แล้วขนขึ้นรถยนต์กระบะพาเอาไป นอกจากนั้นยังร่วมกันนำรถแทรกเตอร์มาไถที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 20 ตารางวา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมประการแรกว่า การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำรถแทรกเตอร์มาไถที่ดินพิพาทเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ สำหรับความผิดฐานร่วมกันบุกรุกนั้น โจทก์ร่วมฎีกาว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นภายหลังจากศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 992/2561 มีคำพิพากษาให้ขับไล่นางกวินธิดาและบริวารออกจากที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นบริวารของนางกวินธิดาทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิเข้าไปกระทำการใด ๆ ในที่ดินพิพาทอีก การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุก เห็นว่า การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 นั้น จะต้องเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข คดีนี้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสามพักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 109/1 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทตลอดมาตั้งแต่ก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทจากนางสุดี โดยนายเนียมเจ้าของที่ดินเดิมและนางสุดีซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนายเนียมไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน เชื่อว่านายเนียมและนางสุดีเจ้าของที่ดินในขณะนั้นยินยอมให้จำเลยทั้งสามอยู่ในที่ดินพิพาท แม้ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ยกบ้านเลขที่ 109/1 ให้นางกวินธิดาแล้วย้ายออกไปอยู่ที่อื่น แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมา อันเป็นการอยู่ในที่ดินพิพาทโดยชอบมาตั้งแต่แรก การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ในที่ดินพิพาทในวันเกิดเหตุขณะที่มีการนำรถแทรกเตอร์เข้ามาไถที่ดินแม้จะเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ขับไล่ออกจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่ก็เป็นการอยู่ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาจากการเข้าไปอยู่โดยชอบในตอนแรก ถือไม่ได้ว่าเป็นการเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขตามที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 จะไม่ได้อยู่ในที่ดินพิพาทแล้ว แต่วันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 นำรถแทรกเตอร์เข้ามายังที่ดินพิพาทเพื่อช่วยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไถที่ดิน อันเป็นการเข้ามาโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดฐานบุกรุกเช่นเดียวกัน ส่วนความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามไม่มีความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์เนื่องจากไม่ปรากฏว่าการไถปรับที่ดินพิพาททำให้ที่ดินมีลักษณะเกิดเป็นแอ่งตามฟ้อง โจทก์ร่วมไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทที่ถูกไถมีลักษณะเป็นแอ่ง คงฎีกาโต้แย้งเพียงว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันทำให้ทรัพย์เปลี่ยนแปลงในทางที่เลวลง มีราคาลดลง ย่อมเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์แล้ว เห็นว่า โจทก์ร่วมได้นำชี้ที่ดินพิพาทบริเวณที่อ้างว่าถูกรถแทรกเตอร์ไถดันได้รับความเสียหายให้พนักงานสอบสวนถ่ายรูปไว้ แต่พิจารณาภาพถ่ายดังกล่าวแล้วปรากฏว่าที่ดินพิพาทบริเวณที่ถูกรถแทรกเตอร์ไถดันเพียงมีลักษณะโล่งเตียน ไม่ปรากฏว่าเป็นหลุมหรือแอ่งลึกแต่อย่างใด เมื่อพิเคราะห์ประกอบภาพถ่ายที่ดินพิพาทก่อนเกิดเหตุ ซึ่งมีหญ้าและวัชพืชขึ้นรกทั่วทั้งแปลงแล้ว น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้รถแทรกเตอร์ไถที่ดินพิพาทเพื่อปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพโล่งเตียน ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมมีผลให้หน้าดินบางส่วนต้องถูกไถออกไปบ้างเป็นธรรมดา มิใช่เป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วม อันจะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และมิใช่เป็นการทำละเมิดอันจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ รวมทั้งยกคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมประการต่อไปว่า การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันต้นไม้ตามฟ้องซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทเอาไปเป็นของตนเองเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยโจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาในทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสามทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วม ต้นไม้ตามฟ้องเป็นไม้ยืนต้นถือเป็นส่วนควบของที่ดิน โจทก์ร่วมจึงเป็นเจ้าของต้นไม้ตามฟ้อง การที่จำเลยทั้งสามตัดต้นไม้ตามฟ้องเอาไปโดยทุจริตครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว ประเด็นข้อนี้ จำเลยทั้งสามมีจำเลยที่ 3 เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อปี 2525 นายเนียมและนางเติ๊กบิดามารดาของนางบุญทันภริยาจำเลยที่ 3 ยกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้จำเลยที่ 3 เป็นของขวัญวันแต่งงาน จำเลยที่ 3 และนางบุญทันรื้อถางแล้วปลูกสร้างบ้านพักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทมาตลอดโดยทำประโยชน์ปลูกต้นไม้ในที่ดินด้วย เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่านายเนียมยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 ดังที่จำเลยที่ 3 เบิกความ เนื่องจากภายหลังจากนั้นเพียงปีเดียวนายเนียมได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้นางสุดีมารดาโจทก์ร่วม แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 เข้าไปปลูกสร้างบ้านและทำประโยชน์ปลูกต้นไม้อยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาตั้งแต่ที่ดินพิพาทยังเป็นของนายเนียมและนางสุดีจนกระทั่งนางสุดีจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ร่วมเมื่อปี 2553 เป็นเวลาเกือบ 30 ปี โดยไม่ปรากฏว่านายเนียมและนางสุดีได้โต้แย้งคัดค้านหรือเข้าไปดำเนินการใด ๆ ในที่ดินพิพาท น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ไม่ทราบเรื่องที่นายเนียมยกที่ดินพิพาทให้แก่นางสุดีมาก่อน เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นได้ว่าต้นไม้ตามฟ้องมีต้นใดบ้างที่ปลูกขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ร่วมได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทจากนางสุดี กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสามว่า ต้นไม้ตามฟ้องถูกปลูกขึ้นตั้งแต่ก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับการยกให้ที่ดินพิพาท ฉะนั้น เมื่อต้นไม้ตามฟ้องจำเลยที่ 3 ปลูกขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 3 เข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 ย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 3 เชื่อโดยสุจริตด้วยเช่นกันว่าต้นไม้ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ผู้ปลูก แม้ต่อมาภายหลังศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 992/2561 จะมีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ได้รับการยกให้จากผู้เป็นเจ้าของเดิมติดต่อกันมาโดยชอบ ซึ่งจากคำพิพากษามีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 3 ปลูกต้นไม้ตามฟ้องลงบนที่ดินของผู้อื่น เมื่อต้นไม้ดังกล่าวเป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนควบของที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทคนสุดท้ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 วรรคสอง และมาตรา 145 แต่การที่ต้นไม้ตามฟ้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมดังกล่าวมานั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่มิใช่เป็นเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเพียงชาวบ้านทั่วไปอาจทราบได้ การที่ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสามทราบผลคำพิพากษาดังกล่าวแล้วน่าจะทราบเพียงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมตามที่ได้มีการกล่าวไว้ในคำพิพากษาเท่านั้น ไม่น่าจะทราบถึงกรรมสิทธิ์ของต้นไม้ตามฟ้องด้วย ดังเห็นได้จากจำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันต้นไม้ในเวลากลางวันโดยเปิดเผย มิได้กระทำในลักษณะของการลักลอบตัดฟันอันจะบ่งชี้ถึงเจตนาของจำเลยทั้งสามว่าทราบอยู่แล้วว่าเป็นการกระทำที่มิชอบ ประกอบกับพยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่พอจะชี้ให้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสามน่าจะทราบว่าต้นไม้ตามฟ้องไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันต้นไม้ตามฟ้องด้วยเชื่อว่าจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของต้นไม้ดังกล่าว อันเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ว่าต้นไม้ที่ตนร่วมกันตัดฟันแล้วเอาไปนั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่น จะถือว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาในการกระทำความผิดมิได้ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานลักทรัพย์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาต้นไม้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นั้น เห็นว่า แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีส่วนอาญาสำหรับความผิดฐานลักทรัพย์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มีคำขอส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในความผิดฐานดังกล่าวมาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 อำนาจของพนักงานอัยการที่จะว่ากล่าวเกี่ยวกับคำขอส่วนแพ่งย่อมยังคงมีต่อไป และศาลต้องวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ตามมาตรา 47 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันเอาต้นไม้ตามฟ้องของโจทก์ร่วมไปโดยไม่มีสิทธิ จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ร่วม ต้องร่วมกันรับผิดคืนหรือใช้ราคาต้นไม้ตามฟ้องแก่โจทก์ร่วม แต่ที่ศาลชั้นต้นกำหนดราคาต้นไม้ให้ใช้คืนเป็นเงินรวม 25,000 บาท นั้น จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่าเป็นราคาที่สูงเกินความจริง ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นว่า ต้นไม้ที่จำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันเอาไปประกอบด้วย กอไผ่ 1 กอ ต้นคูณ 1 ต้น ต้นพญาสัตบรรณ 1 ต้น ต้นมะขาม 1 ต้น ต้นกระถิน 3 ต้น ต้นมะขามเทศ 2 ต้น และต้นมะตูม 1 ต้น แม้ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมจะมีบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย ที่ระบุราคาต้นไม้ตามฟ้องแต่ละรายการไว้ แต่เป็นราคาที่โจทก์ร่วมกำหนดเองฝ่ายเดียวโดยไม่ปรากฏว่าใช้เกณฑ์ใดมาพิจารณาคำนวณราคาต้นไม้ดังกล่าว จึงไม่อาจรับฟังได้ นอกจากนี้ตอของต้นไม้ที่ถูกตัดไปตามภาพถ่าย ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าประเภทของต้นไม้ตามฟ้องจะสามารถขายลำต้นได้ในราคาสูงแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นกำหนดราคาต้นไม้ให้ใช้คืนเป็นเงินรวม 25,000 บาท จึงสูงเกินไป เห็นสมควรกำหนดราคาต้นไม้ให้ใช้คืนเป็นเงินรวม 10,000 บาท ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนกอไผ่ 1 กอ ต้นคูณ 1 ต้น ต้นพญาสัตบรรณ 1 ต้น ต้นมะขาม 1 ต้น ต้นกระถิน 3 ต้น ต้นมะขามเทศ 2 ต้น และต้นมะตูม 1 ต้น แก่โจทก์ร่วม หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาทรัพย์เป็นเงินรวม 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้ตกเป็นพับ