โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 288, 340, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบปลอกกระสุนปืนขนาด 9 มม. 8 ปลอก ชิ้นส่วนหัวกระสุนปืน 3 ชิ้น วัสดุทรงกลม 1 ชิ้น ชิ้นส่วนหัวกระสุนปืน 3 ชิ้น เม็ดลูกปืนทรงกลม 9 เม็ด รถจักรยานยนต์และปืนพก ขนาด 9 มม. 1 กระบอก เครื่องกระสุนปืนขนาด 9 มม. 5 นัด ซองกระสุน 1 อัน ของกลาง และให้นับโทษจำคุกหรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกหรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 159/2559 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี) และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 240/2560 ของศาลอาญา
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 159/2559 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี) และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 240/2560 ของศาลอาญา
ระหว่างพิจารณา นาง พ. ผู้ร้องที่ 1 มารดาของนายธนวินท์ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 351,758 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องที่ 1
นางสาว อ. ผู้ร้องที่ 2 มารดาของนาย ว. ผู้เสียหายที่ 1 และนาย ร. ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนของผู้เสียหายที่ 1 เป็นเงิน 407,155 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องที่ 2 และในส่วนของผู้เสียหายที่ 2 เป็นเงิน 115,196 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องที่ 2
จำเลยทั้งสองไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ในส่วนของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลชั้นต้นใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี โดยจำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติตามแผนและชำระค่าสินไหมทดแทนจนเป็นที่พอใจแก่ผู้ร้องทั้งสองและไม่ติดใจในส่วนของจำเลยที่ 2 แล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งยุติคดีโดยมิต้องมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 340 วรรคสามและวรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี (ที่ถูก มาตรา 288, 288 ประกอบมาตรา 80, 340 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ ประกอบมาตรา 340 ตรี, 340 วรรคท้าย), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่น ฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกในการกระทำความผิดและฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (ที่ถูก ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธติดตัวไปโดยใช้ปืนยิงเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสโดยใช้ยานพาหนะ และฐานร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย) เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (ที่ถูก ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต (ที่ถูกไม่ต้องวางโทษประหารชีวิต) ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 อายุ 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ประกอบมาตรา 18 วรรคสาม คงจำคุก 25 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 25 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี 8 เดือน ริบปลอกกระสุนปืนขนาด 9 มม. 8 ปลอก ชิ้นส่วนหัวกระสุนปืน 3 ชิ้น วัสดุทรงกลม 1 ชิ้น ชิ้นส่วนหัวกระสุนปืน 3 ชิ้น เม็ดลูกปืนทรงกลม 9 เม็ด รถจักรยานยนต์และปืนพก ขนาด 9 มม. 1 กระบอก เครื่องกระสุนปืนขนาด 9 มม. จำนวน 5 นัด ซองกระสุน 1 อัน ของกลาง ยกคำขอให้นับโทษจำคุกหรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกหรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 159/2559 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี) และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 240/2560 ของศาลอาญา กับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหม-ทดแทนให้แก่ผู้ร้องที่ 1 เป็นเงิน 327,758 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2560 อันเป็นวันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 2 เป็นเงิน 334,351 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2560 อันเป็นวันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 6 เดือน สำหรับความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 6 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นจำคุก 12 ปี 12 เดือน ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 เป็นเงิน 327,758 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้อง (วันที่ 6 มิถุนายน 2560) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรือดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนตามพระราชกฤษฎีกาตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 2 เป็นเงิน 334,351 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้อง (วันที่ 6 มิถุนายน 2560) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรือดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนตามพระราชกฤษฎีกาตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยใหม่ก็ให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปตามพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามคำขอของผู้ร้องทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลนับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 240/2562 ของศาลอาญาได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องลงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ต่อศาลชั้นต้น โดยบรรยายฟ้องและมีคำขอให้นับโทษจำคุกหรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 คดีนี้ติดต่อกับโทษจำคุกหรือระยะเวลาการฝึกอบรมของจำเลย (ที่ถูก จำเลยที่ 2) ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 3709/2560 หมายเลขแดงที่ อ 240/2560 ของศาลอาญา โดยบรรยายทั้งคดีหมายเลขดำและหมายเลขแดงซึ่งคดีหมายเลขดำเป็นหมายเลขที่ถูกต้อง ส่วนคดีหมายเลขแดงนั้นโจทก์พิมพ์ตัวเลขคลาดเคลื่อนเฉพาะปีพุทธศักราช เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลย (ที่ถูก จำเลยที่ 2) ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ โดยมิได้โต้แย้งคัดค้าน ทั้งยังแถลงต่อศาลชั้นต้นรับว่าจำเลยที่ 1 ถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรมมาระยะหนึ่งแล้วในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 3709/2560 หมายเลขแดงที่ อ 240/2560 ของศาลอาญา ซึ่งศาลอาญาพิพากษาให้จำคุก 43 ปี ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น แสดงว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจดีว่าตนถูกดำเนินคดีอีกคดีหนึ่งที่ศาลอาญา การพิมพ์คดีหมายเลขแดงในส่วนเลข พ.ศ. คลาดเคลื่อนจากปี 2562 เป็น 2560 จึงเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ศาลย่อมใช้ดุลพินิจให้เริ่มนับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 240/2562 ของศาลอาญาได้ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกคำขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง สำหรับรถจักรยานยนต์ของกลางที่ศาลล่างทั้งสองสั่งริบนั้น เห็นว่า เมื่อรถจักรยานยนต์ของกลาง มิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิด แต่เป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยที่ 1 กับพวกขับมายังที่เกิดเหตุและขับออกไปจากที่เกิดเหตุ เมื่อการปล้นทรัพย์สำเร็จแล้วเท่านั้น ซึ่งแม้จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ดังที่วินิจฉัยมาข้างต้นก็ตาม แต่การที่จะริบได้นั้นต้องเป็นทรัพย์ซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) เมื่อรถจักรยานยนต์ของกลางมิใช่ทรัพย์ที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะริบได้ตามมาตราดังกล่าว จึงจะสั่งริบหาได้ไม่ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 240/2562 ของศาลอาญา ไม่ริบรถจักรยานยนต์ของกลางโดยให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ