โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108 ทวิ ให้จำเลยและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 กับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทที่เข้าไปยึดถือครอบครอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ยุติว่า ที่ดินบริเวณเขตรถไฟธนบุรีเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้เสียหายตามประกาศพระราชกฤษฎีกาในการจัดซื้อที่ดินสร้างทางรถไฟสายเพ็ชร์บุรี ลงวันที่ 4 ธันวาคม ร.ศ. 118 อันเป็นที่ดินของรัฐ โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 46002 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 8 ไร่เศษ เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวและผู้เสียหายประสงค์จะมอบให้แก่โรงพยาบาลศิริราชเพื่อสร้างตึกอุบัติเหตุ จำเลยเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 218 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 46002 ของผู้เสียหาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ เห็นว่าประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 และมาตรา 108 ทวิ ได้บัญญัติถึงผู้กระทำการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 ด้วยการเข้าไปยึดถือครอบครอบที่ดินของรัฐโดยมิได้มีสิทธิครอบครองหรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ออกเป็น 2 ช่วงระยะเวลา กล่าวคือ หากผู้ฝ่าฝืนมาตรา 9 อยู่ก่อนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ใช้บังคับซึ่งคือ ก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดเสียก่อน ถ้าผู้ฝ่าฝืนเพิกเฉยหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบและเจ้าพนักงานมีคำสั่งเป็นหนังสือให้ออกจากที่ดินภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้วผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จึงจะมีความผิดตามมาตรา 108 แต่ถ้ากระทำการฝ่าฝืนมาตรา 9 ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2515 เป็นต้นไป ผู้ฝ่าฝืนย่อมมีความผิดตามมาตรา 108 ทวิ ทันที่โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนใดๆ ทั้งสิ้น โจทก์ฟ้องว่าเมื่อระหว่างวันที่ 21 มีนาคม 2544 ถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2546 ทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืนติดต่อกันตลอดมา จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินบริเวณริมถนนรถไฟ ซอย 2 อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้เสียหายและเป็นที่ดินของรัฐเพื่อยึดถือครอบครอง โดยปลูกบ้านไม้ชั้นเดียวพักอาศัย อันเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 9 หลังวันที่ 4 มีนาคม 2515 ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 108 ทวิ แต่ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบไม่ได้ความชัดเจนว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินตั้งแต่เมื่อใด คงได้ความจากคำเบิกความของนายอรรถสิทธิ์ พยานโจทก์ซึ่งเคยทำงานในตำแหน่งพนักงานสถานที่ของผู้เสียหายที่สถานีรถไฟธนบุรีว่า พยานตรวจสอบที่ดินเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2544 พบมีผู้บุกรุกปลูกสร้างบ้านอยู่ในที่ดินประมาณ 13 ราย รวมทั้งบ้านเลขที่ 218 ของจำเลย แสดงว่าบ้านของจำเลยได้ปลูกสร้างอยู่ก่อนแล้ว มิใช่เพิ่งบุกรุกในวันที่ 21 มีนาคม 2544 นายอรรถพร พยานโจทก์ พนักงานของผู้เสียหายที่รับช่วงงานต่อจากนายอรรถสิทธิ์เบิกความว่า พยานไปพบจำเลยที่บ้านเลขที่ 218 จำเลยบอกพยานว่าจำเลยพักอาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าวมานาน 30 ปี ถึง 40 ปี แล้ว กับเบิกความตอบทนายจำเลยถานค้านว่าบริเวณใกล้ๆ กับบ้านของจำเลยเดิมเป็นที่พักพนักงานของผู้เสียหาย สอดคล้องกับที่จำเลยนำสืบว่าบิดาของจำเลยทำงานก่อสร้างให้ผู้เสียหายแล้วบิดาปลูกบ้านเลขที่ 218 พักอาศัยอยู่ใกล้เคียงกับบ้านพักพนักงานของผู้เสียหายโดยจำเลยอาศัยอยู่กับบิดามาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งยังได้ความตามหลักฐานทะเบียนราษฎร สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านว่า จำเลยเกิดเมื่อปี 2470 กับมีชื่ออยู่อาศัยในบ้านเลขที่ดังกล่าวตลอดมาโดยมิได้มีรายการแจ้งย้ายเข้ามาจากที่อื่นจึงฟังได้ว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108 ทวิ ตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ ทั้งมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 จึงไม่มีข้อที่ต้องวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว
ส่วนความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 นั้น เห็นว่า แม้ที่ดินที่เกิดเหตุจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นที่ดินของรัฐ แต่ผู้เสียหายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (1) (2) ดังนั้นผู้เข้าไปยึดถือครอบครองอาจมีความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 แต่ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วในทันที่ที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ ส่วนการที่จำเลยยึดถือครอบครองต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ซึ่งความผิดตามมาตรา 365 มีกำหนดอายุความ 10 ปี และตามมาตรา 362 มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (3) และ (4) เมื่อฟังได้ว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546 เกินกว่า 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน