คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานภาค 2 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์ และเรียกจำเลยตามลำดับสำนวนว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 29 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 เป็นเงิน 1,680 บาท ค่าชดเชย 50,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 52,080 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 14,000 บาท เงินโบนัสประจำปี 2549 จำนวน 25,200 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 33,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายค่าชดเชย 49,833 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 13,842.50 บาท และค่าเสียหาย 33,222 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ดำเนินกิจการประกอบโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่และติดตั้งแท่นเจาะ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องการว่าจ้างลูกจ้างด้วยตนเองเพราะเกรงความรับผิดในฐานะนายจ้างจึงทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งมิใช่ผู้รับใบอนุญาตให้จัดหางาน (มิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน) ไปว่าจ้างลูกจ้างและส่งมาทำงานในกระบวนการผลิตให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 รับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง แต่ก่อนทำสัญญาจ้าง โจทก์จะต้องไปทดสอบงานกับจำเลยที่ 1 เมื่อผ่านการทดสอบแล้ว จำเลยที่ 2 ส่งโจทก์ไปปฏิบัติงานที่บริษัทจำเลยที่ 1 ตำแหน่งหัวหน้างานประกอบติดตั้งแท่นเจาะ ได้รับค่าจ้างชั่วโมงละ 70 บาท โดยทำงานภายใต้ระเบียบข้อบังคับของจำเลยทั้งสองและภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ใช่ผู้ว่าจ้างโจทก์โดยตรงก็ตาม แต่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ความหมายของคำว่า "นายจ้าง" ตาม (3) ให้ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของลูกจ้างจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ โจทก์ทำงานในตำแหน่งหัวหน้างานประกอบติดตั้งแท่นเจาะซึ่งมีลักษณะเป็นงานถาวร การที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างโจทก์โดยมีกำหนดเวลาแต่จำเลยทั้งสองได้ต่อสัญญาจ้างโจทก์ทุกปีเรื่อยมา ถือเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสาม โจทก์เป็นผู้แทนลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับเงินโบนัสและสวัสดิการต่อจำเลยที่ 2 แต่ตกลงกันไม่ได้ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้นัดเจรจารวม 4 ครั้ง ในวันที่ 28 ธันวาคม 2549 จำเลยทั้งสองยึดบัตรพนักงานและไม่ให้โจทก์เข้าไปทำงานในบริษัทจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยทั้งสองถือเป็นการเลิกจ้างโจทก์แล้ว ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตั้งแต่วันที่ 3 ถึงวันที่ 10 มกราคม 2550 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังที่จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์แล้ว ถือไม่ได้ว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่อย่างใด การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ข้อ 2.1 ว่านายสุทธิพงษ์ พยานจำเลยที่ 1 เบิกความว่า "โจทก์ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ จากจำเลยที่ 2 มิใช่บริษัทจำเลยที่ 1" สอดคล้องกับคำเบิกความของนายนที ผู้รับมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 โจทก์เองก็ยอมรับว่าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มิใช่จำเลยที่ 1 จากข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า โจทก์มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ข้อ 2.2 ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงการว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ทำการงานที่ว่าจ้างอันมีลักษณะเป็นการจ้างทำของ ในเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 ที่เป็นผู้รับจ้างของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาที่มีต่อกัน ผลจึงสรุปได้ว่าโจทก์เป็นเพียงลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เท่านั้นมิใช่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย กับที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ข้อ 2.3 ว่าตามสัญญาจ้างบริการข้อ 2 พันธะผูกพันของผู้รับจ้างข้อ 2.7 และข้อ 2.8 ได้มีเงื่อนไขระหว่างกันกำหนดให้จำเลยที่ 1 มิต้องร่วมจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างของตนด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับภาระความรับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียวนั้น เป็นอุทธรณ์ในประเด็นที่ศาลแรงงานภาค 2 ได้วินิจฉัยไว้โดยชอบแล้ว จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า การที่ศาลแรงงานภาค 2 มิได้กำหนดประเด็นว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ระหว่างที่โจทก์ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 39 หรือไม่ และการที่ศาลแรงงานภาค 2 หยิบยกการยื่นข้อเรียกร้องของโจทก์ขึ้นวินิจฉัยเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องเพียงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด มิได้กล่าวในคำฟ้องให้เป็นที่เข้าใจของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างในระหว่างที่โจทก์ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง เมื่อศาลแรงงานภาค 2 มิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ระหว่างที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างหรือไม่ ทำให้จำเลยทั้งสองหลงต่อสู้ตามที่ศาลแรงงานภาค 2 กำหนดประเด็นมาว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ คำฟ้องโจทก์แสดงสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด และจำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ด้วยสาเหตุโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยขาดงานต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 3 ถึงวันที่ 5 และวันที่ 8 ถึงวันที่ 10 มกราคม 2550 ดังนั้นกรณีจึงมีประเด็นที่ยังไม่อาจตกลงกันว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควรหรือไม่ การที่ศาลแรงงานภาค 2 กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง แล้ว ส่วนที่ศาลแรงงานภาค 2 หยิบยกการยื่นข้อเรียกร้องของโจทก์ต่อนายจ้างซึ่งเป็นข้อพิพาทแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ขึ้นวินิจฉัยนั้นก็เพื่อแสดงให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสอง ซึ่งศาลแรงงานภาค 2 ถือเป็นการเลิกจ้างโจทก์และแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่าการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควรตั้งแต่วันที่ 3 ถึงวันที่ 10 มกราคม 2550 ตามที่จำเลยที่ 2 อ้างนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์แล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่อย่างใด การวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 2 จึงมิได้เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซักถามพยานด้วยตนเองนำพยานเข้าสืบจำนวน 6 ปาก และโจทก์เข้าเบิกความเป็นปากสุดท้ายเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 หรือไม่ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร และในการสืบพยานไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลแรงงานเรียกมาเอง ศาลแรงงานจะเป็นผู้ซักถามพยานเอง ตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเท่านั้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ดังนั้นการที่โจทก์ซักถามพยานได้นั้นก็เนื่องจากโจทก์ได้รับอนุญาตศาลแรงงานภาค 2 นั่นเอง แม้โจทก์จะเข้าเบิกความเป็นพยานหลังจากได้ซักถามพยานฝ่ายโจทก์แล้วก็ตาม แต่การที่โจทก์เข้าเบิกความเป็นพยาน ศาลแรงงานภาค 2 ก็เป็นผู้ซักถามโจทก์เอง จึงเห็นได้ว่าศาลแรงงานภาค 2 อนุญาตให้โจทก์เข้าเบิกความเป็นพยานศาลได้โดยไม่ฟังว่าคำเบิกความของโจทก์ผิดระเบียบ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า ในการสืบพยานคดีนี้ศาลแรงงานภาค 2 มิได้เป็นผู้ซักถามพยานเอง โดยให้ผู้นำพยานเข้าสืบเป็นผู้ซักถามพยานเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคสอง หรือไม่ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ได้บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งปวง รวมทั้งการซักถามพยานตามมาตรา 45 วรรคสอง ศาลแรงงานจะซักถามพยานเองหรือจะอนุญาตให้ตัวความหรือทนายความซักถามพยานก็ได้ เป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลแรงงานโดยเฉพาะ จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิคัดค้านว่า การที่ศาลแรงงานภาค 2 อนุญาตให้ผู้นำพยานเข้าสืบเป็นผู้ซักถามพยานเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคสอง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน