โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 3,603,498 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์ 373,666 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์อัตราเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนาย ณ. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยและจำเลยร่วมให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 1,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 มีนาคม 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 850,000 บาท แก่โจทก์ คืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เสียเกินมา 100 บาท แก่จำเลยและจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ (ที่ถูก ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองศาลนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยร่วม เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 5265 และ 5267 จากจำเลย หลังจากนั้นมีการเลิกสัญญากัน ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 5265, 5266 และเลขที่ 5267 จากจำเลย ในราคา 3,900,000 บาท หลังจากนั้นมีการเลิกสัญญากัน ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาททั้งสามแปลงกันอีก แต่หลังจากนั้นมีการเลิกสัญญากัน และเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2556 โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาททั้งสามแปลงในราคา 3,900,000 บาท โจทก์วางมัดจำไว้จำนวน 1,700,000 บาท ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงและชำระค่าที่ดินที่เหลือในวันที่ 31 มกราคม 2556 แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงได้ เนื่องจากโจทก์ไม่มีเงินชำระค่าที่ดิน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริต จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาว่าการฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง ดังนั้น เมื่อตามคำให้การของจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ให้การต่อสู้ในประเด็นนี้ไว้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นประการต่อไปว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 นำบทบัญญัติมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาปรับใช้กับคดีนี้เป็นการชอบหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เป็นกฎหมายที่ประสงค์จะให้ความเป็นธรรมแก่ผู้วางมัดจำ ศาลจึงสามารถนำบทบัญญัติมาตรานี้มาปรับใช้กับสัญญาทั่ว ๆ ไปที่มีการให้สิ่งใดเป็นมัดจำได้ หาจำกัดเฉพาะสัญญาที่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เท่านั้นไม่ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อบทบัญญัติมาตรา 7 ส่วนท้าย บัญญัติไว้ว่า "...ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้" จึงเป็นดุลพินิจของศาลที่จะปรับลดมัดจำที่สูงเกินส่วนลงหรือไม่ก็ได้ มิได้บังคับศาลให้ต้องลดมัดจำเสมอไป ประกอบกับในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 ซึ่งเป็นบทกฎหมายทั่วไป ได้บัญญัติในเรื่องมัดจำไว้ว่า "เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย" และมาตรา 378 บัญญัติไว้ว่า "มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้ (2) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น (3)..." การปรับลดมัดจำจึงต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของมาตรา 377 ที่ต้องการให้มัดจำเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญา รวมทั้งต้องคำนึงถึงว่า ฝ่ายที่วางมัดจำมีส่วนผิดหรือไม่ด้วย ซึ่งก็ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในแต่ละคดีเป็นเรื่อง ๆ ไป สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทและเลิกสัญญากันหลายครั้ง ซึ่งสาเหตุที่ต้องเลิกสัญญาและทำสัญญากันใหม่นั้นได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์ปากพันตำรวจตรีเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นสามีโจทก์ว่า เพราะโจทก์ไม่มีเงินพอที่จะชำระราคาที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้แก่จำเลย จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์เองเป็นฝ่ายผิดสัญญาตลอดมา ในส่วนของมัดจำที่โจทก์วางไว้ตามสัญญาแต่ละฉบับก็ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยและจำเลยร่วมโดยโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า จำเลยยอมให้โจทก์นำมัดจำที่วางไว้ตามสัญญาครั้งก่อน ๆ ที่เลิกกันมารวมเป็นมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำกันใหม่เป็นผลให้โจทก์ชำระค่ามัดจำในวันทำสัญญาฉบับสุดท้ายเพียง 700,000 บาท เท่านั้น การที่จำเลยยอมให้โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่แทนฉบับเดิมและยอมให้โจทก์นำมัดจำตามสัญญาครั้งก่อน ๆ ที่เลิกกันแล้วมารวมเป็นมัดจำตามสัญญาที่ทำกันใหม่ทั้ง ๆ ที่จำเลยสามารถริบมัดจำตามสัญญาครั้งก่อน ๆ ได้เช่นนี้ นับเป็นการให้โอกาสและเป็นคุณแก่โจทก์อย่างมากแล้ว แต่โจทก์กลับไม่นำพาที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำไว้กับจำเลย กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะลดมัดจำที่ถึงแม้จะสูงเกินส่วนลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมด ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6