โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ขอให้เรียกบริษัท ม. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งเรียกบริษัท ม. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามขอ
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงิน 1,654,108 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 สิงหาคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่โจทก์ได้รับการยกเว้นนั้นให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมนำมาชำระต่อศาลในนามโจทก์
จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยร่วมมีวัตถุประสงค์ในการประกอบและจำหน่ายรถยนต์กับผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับรถยนต์รวมทั้งให้บริการที่เกี่ยวข้อง มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้แทนจำหน่าย โจทก์ติดต่อเช่ารถยนต์กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระราคารถยนต์ที่เช่าแก่จำเลยที่ 1 แล้วนำมาให้โจทก์ทำสัญญาเช่าแบบลีสซิ่งในวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 โดยมีนางสาววิสุทธิณี ทำสัญญาค้ำประกันการเช่ารถยนต์ของโจทก์ต่อจำเลยที่ 2 ต่อมารถยนต์ที่เช่ามีเสียงดังเกิดขึ้นในระบบเบรกขณะขับเคลื่อนถอยหลัง โจทก์จึงนำรถยนต์ที่เช่าไปให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมครั้งแรกวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 จำเลยที่ 1 ทำการซ่อมแซมแล้วมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ได้นำรถยนต์ที่เช่าไปให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมอีกในวันที่ 9 สิงหาคม 2559 วันที่ 6 กันยายน 2559 วันที่ 11 ตุลาคม 2559 และวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 จำเลยที่ 1 รับรถยนต์ที่เช่าไว้ทำการซ่อมแซม โดยจำเลยร่วมได้ส่งช่างและผู้เชี่ยวชาญจากแผนกเทคนิคศูนย์บริการกลาง (CSD) มาร่วมทำการตรวจสอบแก้ไขด้วยแล้วส่งคืนโจทก์ จนกระทั่งวันที่ 25 มกราคม 2560 โจทก์ได้นำรถยนต์ที่เช่าไปคืนจำเลยที่ 1 และไม่กลับไปรับคืนอีกโดยได้บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 2 จึงนำรถยนต์ที่เช่าไปขายแก่บุคคลภายนอก โจทก์ได้ชำระค่าเช่าไปแล้วทั้งสิ้นรวม 1,654,108 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาเช่ารถยนต์จากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาเช่ารถยนต์กับโจทก์ ต่อมาเมื่อโจทก์รับรถยนต์ไปใช้ปรากฏว่าเกิดเสียงดังในขณะขับรถถอยหลัง เมื่อนำรถกลับไปให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมหลายครั้งแต่ไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นการส่งมอบทรัพย์ที่เช่าในสภาพที่ไม่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ เป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นก่อนหรือในขณะส่งมอบและเพิ่งปรากฏขึ้นภายหลังจากการส่งมอบรถ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดตามสัญญาเช่าเนื่องจากส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซึ่งไม่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ หรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา มิใช่กรณีฟ้องขอให้รับผิดในกรณีชำรุดบกพร่อง บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474 จึงไม่นำมาปรับใช้กับคดีนี้ และการฟ้องขอให้รับผิดโดยขอคืนเงินที่ชำระตามสัญญาเช่า เนื่องจากส่งมอบทรัพย์ที่เช่าไม่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันเป็นการผิดสัญญาเช่านั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 190/30 โจทก์เอารถไปให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 แล้วไม่ได้ไปรับรถคืนอันเป็นการบอกเลิกสัญญา สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงเริ่มนับแต่วันที่ 26 มกราคม 2560 โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการต่อมาว่า จำเลยที่ 2 ต้องคืนเงินค่าเช่ารถยนต์พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า สัญญาเช่าเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สิน การรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่เช่าต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 549 ซึ่งบัญญัติว่า "การส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่าก็ดี ความรับผิดของผู้ให้เช่าในกรณีชำรุดบกพร่องและรอนสิทธิก็ดี ผลแห่งข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดก็ดี เหล่านี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการซื้อขายอนุโลมความตามควร" และมาตรา 472 วรรคแรก บัญญัติว่า "ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด" ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ให้เช่ารถยนต์นอกจากมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์โดยมีสภาพที่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาแล้ว ยังมีหน้าที่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า โจทก์รับมอบรถยนต์ที่เช่าไปใช้ประโยชน์เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ต่อมารถยนต์ที่เช่ามีเสียงดังเกิดขึ้นในระบบเบรกขณะขับเคลื่อนถอยหลัง โจทก์จึงนำรถยนต์ที่เช่าไปเข้าศูนย์บริการของจำเลยที่ 1 ครั้งแรกวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 จะเห็นได้ว่ารถยนต์ที่เช่ามีปัญหาเกี่ยวกับระบบเบรกหลังจากโจทก์รับไปขับเพียงประมาณ 1 เดือนเศษเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากการใช้ตามปกติหลังจากรับมอบรถยนต์ไปใช้หรือเกิดจากการกระทำโดยตรงของโจทก์ เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวเป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากการผลิตหรือการประกอบรถยนต์ อันเป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นก่อนส่งมอบและเพิ่งปรากฏขึ้นภายหลังจากส่งมอบแก่โจทก์ และเสียงที่ดังเกิดที่เบรกรถยนต์ซึ่งเป็นระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขับรถยนต์ แม้จำเลยที่ 1 จะซ่อมแซมหลายครั้งแล้วก็ยังแก้ไขไม่ได้ย่อมทำให้เกิดความวิตกกังวลและความไม่เชื่อมั่นในการใช้รถที่เช่า ความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าดังกล่าวจึงถึงขนาดเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ให้เช่าได้ส่งมอบรถยนต์โดยมีสภาพที่เหมาะกับการใช้ประโยชน์ตามที่เช่า แม้สัญญาเช่ามีข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าอันเป็นการยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 549 ประกอบมาตรา 472 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ประกอบกิจการให้บริการสินเชื่อในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ให้เช่าหรือเช่าซื้อ เป็นต้น จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ ส่วนโจทก์เป็นผู้บริโภค และข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปที่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าเป็นผู้กำหนดให้จำเลยที่ 2 ได้รับยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากการผิดสัญญาถือได้ว่าข้อตกลงเช่นนี้ทำให้จำเลยที่ 2 ได้เปรียบโจทก์อีกฝ่ายเกินสมควร จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีผลใช้บังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม (1) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าโดยไม่อาจยกข้อตกลงยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดในสัญญาดังกล่าวขึ้นปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ เมื่อรถยนต์ที่เช่ามีความชำรุดบกพร่องและความชำรุดบกพร่องดังกล่าวถึงขนาดเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติดังวินิจฉัยมาแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ให้เช่าผิดสัญญาด้วยการนำรถยนต์ที่มีความชำรุดบกพร่องถึงขนาดเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญามาให้โจทก์เช่า โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าต่อจำเลยที่ 2 ด้วยการนำรถยนต์ที่เช่าไปคืน โดยถือว่าโจทก์ไม่สามารถใช้รถยนต์ที่เช่าให้เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญามาตั้งแต่ต้น เมื่อสัญญาเช่าเลิกกันโดยโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าไปคืนจำเลยที่ 1 แล้วมีหนังสือบอกเลิกสัญญา และจำเลยที่ 2 นำรถยนต์ที่เช่าไปขายแก่บุคคลภายนอกแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วยการคืนเงินค่าเช่าที่ได้มาทั้งหมดจำนวน 1,654,108 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ประกอบมาตรา 224 แก่โจทก์ โดยศาลไม่จำต้องกำหนดให้โจทก์ชำระค่าใช้ทรัพย์แก่จำเลยที่ 2 เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถใช้ทรัพย์ให้สมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้ปกติดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 คืนเงินค่าเช่ารถพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาประการสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ตั้งข้อหาในการฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยร่วมนำรถยนต์ที่ไม่ได้มาตรฐานมีความชำรุดบกพร่องมาขายให้แก่โจทก์โดยให้โจทก์ทำสัญญาเช่าแบบลีสซิ่งกับจำเลยที่ 2 โจทก์ต้องผ่อนชำระค่าเช่าให้แก่จำเลยที่ 2 ทุกเดือนโดยไม่สามารถใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ โจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาเช่าและให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยร่วมร่วมกันคืนเงินที่โจทก์ชำระไปแล้วทั้งหมด เป็นค่าเช่างวดแรก 1,456,000 บาท ค่าเช่าที่โจทก์ชำระตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เป็นเงิน 198,108 บาท ค่าติดตั้งบันไดข้างรถยนต์ 55,000 บาท ค่าเคลือบแก้วรถยนต์ 37,000 บาท ค่าบำรุงรักษารถ 15,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ 400,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 2,161,108 บาท เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าคืนให้แก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยชอบ สัญญาเช่าเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 โจทก์จึงขอบังคับให้จำเลยที่ 2 คืนเงินดังกล่าวที่โจทก์ชำระไปแล้วให้แก่โจทก์ได้ แต่สำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทในขณะที่โจทก์ฟ้องคดี ทั้งไม่ใช่ผู้รับชำระค่าเช่าจากโจทก์ โจทก์ในฐานะผู้บริโภคคงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและเรียกค่าเสียหายภายใต้บังคับของกฎหมายเท่านั้น กรณีย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมชำระเงินดังกล่าวที่โจทก์ชำระไปแล้วคืนให้แก่โจทก์ตามคำขอบังคับของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของโจทก์และจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ทำให้ดอกเบี้ยผิดนัดของค่าเช่ารถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ต้องคืนแก่โจทก์ ซึ่งเป็นหนี้เงินที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ต้องปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ดังนี้ เมื่อปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 1,654,108 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 สิงหาคม 2560) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 หลังจากนั้นให้ชำระอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ