โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 59,136,568.86 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.50 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 22,047,909.20 บาทนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ก็ให้ยึดที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 4953 และ 4954 ตำบลสวนหลวง (หนองแขม) อำเภอกระทุ่มแบนจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้ หากไม่พอชำระ ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดสหพัฒน์โลหะกิจต่อโจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม กับทำสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดกับห้างหุ้นส่วนจำกัดสหพัฒน์โลหะกิจ แต่ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยยอมรับผิดในวงเงิน 38,160,000 บาท การที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ถึง59,136,568.86 บาท เกินวงเงินที่จำเลยยอมผูกพันตามสัญญา และเมื่อจำเลยผู้ค้ำประกันรับผิดจนเต็มวงเงินค้ำประกันแล้ว ในการคิดดอกเบี้ยจากจำเลยนับแต่นั้นเป็นต้นไป สัญญาค้ำประกันมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้ง โจทก์ย่อมเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 22,047,909.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงิน 2 รายการคือต้นเงินจำนวน17,212,195.51 บาท และต้นเงินจำนวน 3,023,496 บาท โดยดอกเบี้ยในต้นเงินแต่ละรายการให้คำนวณตามอัตราต่าง ๆ ดังนี้ (1) อัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน17,212,195.51 บาท นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2533 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2540 และในต้นเงินจำนวน 3,023,496 บาท นับแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2533 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม2540 (2) อัตราร้อยละ 22 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 18 กันยายน 2540(3) อัตราร้อยละ 25 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 กันยายน 2540 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2541(4) อัตราร้อยละ 24 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 เมษายน 2541 ถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2541(5) อัตราร้อยละ 22.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2541 ถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน2541 (6) อัตราร้อยละ 22 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 ถึงวันที่ 30พฤศจิกายน 2541 (7) อัตราร้อยละ 21.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2541 ถึงวันที่14 ธันวาคม 2541 (8) อัตราร้อยละ 21.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2541 ถึงวันที่10 มกราคม 2542 (9) อัตราร้อยละ 20.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 มกราคม 2542 ถึงวันที่1 กุมภาพันธ์ 2542 (10) อัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 ถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 (11) อัตราร้อยละ 19.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2542 (12) อัตราร้อยละ 18.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์2542 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2542 และ (13) อัตราร้อยละ 18.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 17มีนาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เฉพาะดอกเบี้ยในต้นเงินทั้งสองรายการคำนวณรวมกันถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 เมษายน 2542) ต้องไม่เกินจำนวน 37,089,659.66 บาท(ที่ถูก 37,088,659.66 บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง) โดยจำเลยรับผิดไม่เกินวงเงินค้ำประกันจำนวน 38,160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่หนี้ของลูกหนี้(ห้างหุ้นส่วนจำกัดสหพัฒน์โลหะกิจ) ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเต็มวงเงินจำนวน 38,160,000บาท หากจำเลยไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดที่ดินเลขที่ 4953 และ4954 ตำบลสวนหลวง (หนองแขม) อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ในวงเงินจำนวน 8,000,000 บาท หากขายทอดตลาดได้เงินไม่ถึงจำนวน 8,000,000 บาท ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า"... มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่หนี้ของลูกหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเต็มวงเงินค้ำประกันจำนวน 38,160,000 บาท นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันทุกฉบับในข้อ 1 ได้ระบุไว้ว่าผู้ค้ำประกันยินยอมเข้าค้ำประกันหนี้สินทุกชนิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดสหพัฒน์โลหะกิจภายในวงเงินที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับและอุปกรณ์แห่งหนี้อันมีดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้ ดังนั้น แม้สัญญาค้ำประกันดังกล่าว อันเป็นสัญญาหรือหนี้อุปกรณ์จะมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ ก็ต้องถืออัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทอันเป็นสัญญาหรือหนี้ประธานซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดสหพัฒน์โลหะกิจทำไว้กับโจทก์ทั้งนี้โดยเทียบเคียงแบบอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4145/2542 ระหว่างธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) โจทก์ นายสมนึก พัฒนพิขากร กับพวก จำเลย มีข้อต้องพิจารณาต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงใด ปรากฏว่าสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.12 ในข้อ 7 ได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดสหพัฒน์โลหะกิจยอมเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี เริ่มจากวันทำสัญญานี้เป็นต้นไปจนกว่าจะครบกำหนดวันชำระหนี้ตามตั๋วเงินจากต่างประเทศแล้วหากครบกำหนดวันชำระหนี้ตามตั๋วเงินจากต่างประเทศแล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัดสหพัฒน์โลหะกิจยังไม่สามารถชำระหนี้ให้ได้ ก็ยินยอมเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ถ้าต่อไปอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นหรือต่ำลง ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวยินยอมให้ปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามที่ธนาคารจะได้กำหนดขึ้นใหม่ ส่วนสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.10 ในข้อ 7 ก็มีข้อความในทำนองเดียวกัน เว้นแต่ในช่องอัตราดอกเบี้ยตอนต้นมิได้พิมพ์หรือเขียนจำนวนอัตราดอกเบี้ยไว้ แต่ตามใบแจ้งหนี้ได้ระบุว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากห้างหุ้นส่วนจำกัดสหพัฒน์โลหะกิจสำหรับค่าสินค้าตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ซึ่งเป็นหนี้จำนวนเดียวกับหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับนี้ในอัตราร้อยละ 11 ต่อปี ฝ่ายจำเลยก็มิได้ให้การต่อสู้ให้เป็นอย่างอื่น จึงรับฟังได้ว่า คู่สัญญาได้มีข้อตกลงให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยสำหรับค่าสินค้าตามสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.10 นี้ในอัตราร้อยละ 11 ต่อปี โดยปริยายแล้ว จากข้อความที่ระบุในสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสองฉบับดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราที่สูงขึ้นได้ต่อเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร จึงมีผลเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนไว้ล่วงหน้า เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญา ดังนั้น เงินค่าดอกเบี้ยส่วนที่สูงกว่าอัตราที่กำหนดไว้เดิมจึงถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนแม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยคำนึงถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 383 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า โจทก์ได้คิดดอกเบี้ยในลักษณะเป็นเบี้ยปรับในระหว่างผิดนัดจากลูกหนี้รายนี้สูงขึ้นมาก โดยบางช่วงสูงถึงร้อยละ 25 ต่อปีซึ่งเพิ่มจากเดิมกว่าร้อยละ 100 แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าการผิดนัดของลูกหนี้รายนี้มีผลทำให้โจทก์ต้องเสียหายถึงขนาดที่ต้องคิดดอกเบี้ยเป็นเบี้ยปรับสูงขึ้นมากถึงเพียงนั้นแต่อย่างใด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้คำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ในฐานะผู้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ และภาวะดอกเบี้ยเงินสินเชื่อในตลาดการเงินในปัจจุบันแล้ว เห็นสมควรให้ลดเบี้ยปรับดังกล่าวลงบางส่วน นอกจากนี้ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สัญญาค้ำประกันคงรวมวงเงินค้ำประกันได้ทั้งสิ้น จำนวน 38,160,000บาท เท่านั้น จำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดเกินวงเงินค้ำประกันจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่หนี้ของลูกหนี้ชั้นต้นตามสัญญาทรัสต์รีซีทเต็มวงเงินค้ำประกันนั้น ยังไม่ถูกต้องเพราะเป็นการนำเอาดอกเบี้ยของหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทมารวมกับต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทจนเต็มวงเงินค้ำประกันแล้ว จึงคิดดอกเบี้ย และเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย ซึ่งที่ถูกต้องแล้วการคิดคำนวณความรับผิดตามวงเงินค้ำประกันนี้จะต้องถือตามหนี้ต้นเงินในสัญญาทรัสต์รีซีทเท่านั้น โดยไม่รวมดอกเบี้ยที่จำเลยจะต้องรับผิดต่างหาก ซึ่งหนี้ต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าว ก็ปรากฏว่ามีจำนวนต่ำกว่าจำนวนวงเงินค้ำประกันอยู่แล้ว ในการคิดคำนวณดอกเบี้ยจากหนี้ต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดจากจำเลยได้ตลอดระยะเวลาที่จำเลยผิดนัดจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ดังนั้น ในกรณีนี้จึงไม่จำต้องคำนึงว่าเมื่อนำดอกเบี้ยมารวมกับหนี้ต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทแล้วจะเกินจำนวนวงเงินค้ำประกันหรือไม่อีก ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง แม้จะปรากฏว่าโจทก์มีคำขอมาท้ายอุทธรณ์ ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ในวงเงินจำนวน 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนองเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์มาด้วยนั้น ปรากฏว่าตามอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์สำหรับหนี้จำนองนั้นไม่ถูกต้องอย่างไรบ้างคำขอท้ายอุทธรณ์ข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 38 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะรับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์โดยพิจารณาพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์สำหรับหนี้จำนองดังกล่าวตามที่โจทก์ขอได้"
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด ให้จำเลยชำระแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 17,212,195.51 บาท นับแต่วันที่ 11ตุลาคม 2533 จนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2536 และในต้นเงินจำนวน 3,023,496บาท นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2533 จนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2536 หลังจากนั้นจึงให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ต่อไปในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปตามประกาศ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ ในชุดเอกสารหมาย จ.16 รวม 16 ฉบับคือ ฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ฉบับลงวันที่ 10 มีนาคม 2538 ฉบับลงวันที่ 19ธันวาคม 2539 ฉบับลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2540 ฉบับลงวันที่ 1 สิงหาคม 2540ฉบับลงวันที่ 19 กันยายน 2540 ฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2541 ฉบับลงวันที่ 20ตุลาคม 2541 ฉบับลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 ฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน2541 ฉบับลงวันที่ 11 ธันวาคม 2541 ฉบับลงวันที่ 29 ธันวาคม 2541 ฉบับลงวันที่27 มกราคม 2542 ฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 ฉบับลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์2542 และฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2542 กับฉบับที่โจทก์จะประกาศต่อ ๆ ไปหลังวันฟ้อง ตามช่วงระยะเวลาที่ประกาศดังกล่าวแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ บวกด้วย 0.25ทุกอัตรา จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยผิดนัดผิดสัญญาตามประกาศธนาคารโจทก์แต่ละฉบับ และอัตราดอกเบี้ยหลังวันฟ้องต้องไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 18.50 ต่อปี ตามที่โจทก์ฟ้อง โดยไม่จำต้องคำนึงถึงวงเงินค้ำประกัน กับดอกเบี้ยคิดคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 37,088,659.66 บาทตามที่โจทก์ฟ้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง