โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 360 ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2479 มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคสอง ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินที่ยึดครอบครอง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 เดือน และปรับคนละ 3,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้คนละ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่พิพาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติว่า นายติ๊บเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 8805 ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 96 ตารางวา ซึ่งรับโอนมาจากนายจันทร์ บิดา จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ข.) เลขที่ 266 หมู่ที่ 8 ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 13 ตารางวา โดยนางเหลี่ยว มารดา ยกให้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2545 ระหว่างที่ดินของนายติ๊บด้านตะวันออกและที่ดินของจำเลยที่ 2 ด้านทิศตะวันตกมีทางพิพาทซึ่งกว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 40 เมตร เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 1 พี่สาวของจำเลยที่ 2 ซึ่งทำนาในที่ดินของจำเลยที่ 2 ว่าจ้างบุคคลอื่นไถนาในที่ดินรุกล้ำทางพิพาทกว้างประมาณ 2 เมตร ยาวตลอดแนว 40 เมตร และต่อมาจำเลยที่ 1 ปลูกต้นกล้วยลงบนทางพิพาท ชาวบ้านหลายคนซึ่งไม่สามารถใช้ทางพิพาทได้แจ้งต่อนายละ ผู้ใหญ่บ้านท้องที่ วันที่ 20 มิถุนายน 2549 นายละจึงเข้าร้องเรียนต่อนายรุจ ปลัดอำเภอพาน และร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโทวิษณุ พนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 วันที่ 28 กันยายน 2549 นายอำเภอพานแจ้งให้สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย สาขาพาน ตรวจสอบ สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย สาขาพาน ตรวจสอบแล้วรายงานนายอำเภอพาน นายอำเภอพานแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการตรวจสอบแล้วเสนอรายงานต่อนายอำเภอพาน โดยเชื่อว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2549 นายอำเภอพานมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ปรับสภาพที่ดินให้กลับสู่สภาพเดิม แต่จำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตาม วันที่ 12 ธันวาคม 2549 นายอำเภอพานมอบอำนาจให้นายรุจเข้าร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโทแสวง พนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอพานขอให้สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย สาขาพาน ตรวจสอบรังวัดแนวเขต สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย สาขาพาน ตรวจสอบแล้วมีหนังสือแจ้งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอพาน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 บัญญัติว่า " สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น (1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน (2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ (3) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่า ป้อมและโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์ " จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเห็นได้ว่า ทางหรือถนนซึ่งเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน อันจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามมาตรา 1304 (2) ย่อมต้องเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน หาได้หมายความรวมถึงทางหรือถนนอันเป็นทรัพย์สินของเอกชนหรืออยู่ในที่ดินของเอกชนด้วยไม่ เว้นเสียแต่เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นเอกชนจะได้อุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว เมื่อหลักฐานเดิมที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ติดกันโดยไม่จดทางสาธารณประโยชน์ ย่อมฟังได้ว่าทางพิพาทมิใช่เป็นทางสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาแต่เดิมก่อนการเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโดยถูกต้องตามกฎหมายแต่อย่างใด กับได้ความตามหนังสือสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย สาขาพาน ประกอบการนำชี้แนวเขตที่ดินของนายจันทร์และจำเลยที่ 2 ว่า ทางพิพาทอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 8805 อีกด้วย เช่นนี้ฟังได้ว่าทางพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยที่ 2 แม้โจทก์จะมีพยานบุคคลหลายคนมาเบิกความยืนยันว่า ชาวบ้านใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกไปทำนา ทำสวน ทำไร่และขนพืชผลทางการเกษตรมาเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 50 ปี แต่ไม่มีพยานปากใดเบิกความว่า เจ้าของที่ดินได้อุทิศหรือยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว ทั้งการใช้ทางพิพาทก็เพียงเฉพาะผู้ที่มีที่ดินอยู่ด้านในถัดจากที่ดินของจำเลยที่ 2 เพื่อการเข้าไปทำนา ทำสวนและทำไร่ตามฤดูกาลในลักษณะของการถือวิสาสะหรือการใช้ทางจำเป็นหรือทางภารจำยอมเท่านั้น มิใช่เป็นการใช้ทางพิพาทเพื่อการสัญจรไปมาตามปกติของพลเมืองหรือประชาชนหมู่มากโดยทั่วไป เพราะโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าทางพิพาทมิได้สิ้นสุดเพียงแค่ในที่ดินของจำเลยที่ 2 เท่านั้น หากแต่ยังได้เชื่อมต่อเป็นเส้นทางเดียวกันกับทางสาธารณประโยชน์ส่วนอื่น ๆ ด้วย พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) หรือเป็นที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง