โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341, 343 พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 6, 9, 17, 19 กับให้จำเลยคืนเงิน จำนวน 1,110,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) (3), 9, 17, 19 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปฐานเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์โดยมิชอบจำคุก 6 เดือน และฐานโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ปรับ 50,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์โดยมิชอบ คงจำคุก 3 เดือน และฐานโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์คงปรับ 25,000 บาท รวมจำคุก 3 เดือน และปรับ 25,000 บาท แต่จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน มีกำหนด 3 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 กรณีไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยคืนเงิน 1,110,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 มกราคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 ด้วย ให้จำเลยคืนเงิน 1,038,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 มกราคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลฎีกามีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ เพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 และมีอำนาจฟ้องหรือไม่ คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การประกอบธุรกิจเป็นนายทุนวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ นอกจากจะมีผลกระทบต่อการออมของประชาชนแล้วยังกระทบต่อการระดมเงินออมของสถาบันการเงินที่ทางราชการสนับสนุนและรับผิดชอบ ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัฐให้เสียหาย ความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 จึงเป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพนักงานอัยการเท่านั้นที่มีสิทธิฟ้อง โจทก์เป็นราษฎรจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 มกราคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น ปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้พระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและ กำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยให้คิดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 มกราคม 2560) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เมื่อใดก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์