โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง, 140, 191, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคแรก, 191 (ที่ถูก มาตรา 191 วรรคแรกและวรรคสาม), 83 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักฐานร่วมกันทำให้ผู้ถูกคุมขังหลุดพ้นจากการคุมขังโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 91 (ที่ถูกมาตรา 90) ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการแรกว่า การที่นายดาบตำรวจประสพจับกุมนายสำราญนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายดาบตำรวจประสพพบนายสำราญผู้ต้องหาซึ่งมีการออกหมายจับไว้แล้ว นายดาบตำรวจประสพมีอำนาจจับกุมนายสำราญได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้คือพันตำรวจโทนัฐฐา ไม่ปรากฏว่าร้อยตำรวจโทสมนึกเป็นพนักงานสอบสวนด้วย ดังนั้น การสอบสวนเพิ่มเติมของร้อยตำรวจโทสมนึกซึ่งได้กระทำแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2542 จึงไม่ชอบเป็นผลให้กระบวนพิจารณาต่อมาไม่ชอบนั้น เห็นว่า การสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นเพียงการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยทั้งสองจากการกระทำที่ได้มีการสอบสวนไว้โดยชอบแล้ว โดยจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ถือได้ว่าเป็นสิ่งเล็กน้อยในการสอบสวนซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของพันตำรวจโทนัฐฐา พนักงานสอบสวนและพันตำรวจโทสุชาติหัวหน้าพนักงานสอบสวน และมิได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดเจาะจงให้การกระทำดังกล่าวพนักงานสอบสวนต้องกระทำด้วยตนเอง พันตำรวจโทสุชาติพยานโจทก์เบิกความว่า ได้มีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธและไม่ยอมลงลายมือชื่อ เห็นได้ว่า ร้อยตำรวจโทสมนึกซึ่งเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของพันตำรวจโทนัฐฐาและพันตำรวจโทสุชาติได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติมแทน ดังนี้ การสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 128 (2) แล้ว
พิพากษายืน.