โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 140, 191, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคแรก, 191 (ที่ถูก มาตรา 191 วรรคแรกและวรรคสาม), 83 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักฐานร่วมกันทำให้ผู้ถูกคุมขังหลุดพ้นจากการคุมขังโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (ที่ถูก มาตรา 90) ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ระหว่างที่นายดาบตำรวจประสพ วงศ์สอน เจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย ออกตรวจและดูแลความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณงานวัดที่วัดป่าบ้านค้อ ตำบลบ้านฝาง กิ่งอำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย ได้พบนายสำราญ บุตรโคตร ผู้ต้องหาในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งมีการออกหมายจับไว้แล้วตามเอกสารหมาย จ.1 อยู่ที่ลานวัดดังกล่าว นายดาบตำรวจประสพจึงจับกุมนายสำราญแล้วควบคุมตัวไปขึ้นรถกระบะซึ่งจอดอยู่ในบริเวณวัดเพื่อนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี มีนายวิเชียร บุตรมาน จำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1289/2542 ของศาลชั้นต้น กับพวกร่วมกันต่อสู้ขัดขวางโดยใช้กำลังประทุษร้ายแย่งชิงนายสำราญเป็นเหตุให้นายสำราญหลุดพ้นไปได้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการแรกว่าการที่นายดาบตำรวจประสพจับกุมนายสำราญนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายดาบตำรวจประสพพบนายสำราญผู้ต้องหาซึ่งมีการออกหมายจับไว้แล้ว นายดาบตำรวจประสพมีอำนาจจับกุมนายสำราญได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (3) เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนเอกสารหมาย จ.1 เป็นสำเนาที่ทำขึ้นโดยการพิมพ์ และมีเจ้าหน้าที่ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง ซึ่งเป็นวิธีการจัดทำสำเนาเอกสารวิธีหนึ่งนอกจากการจัดทำสำเนาเอกสารด้วยการถ่ายจากต้นฉบับ ดังนั้นที่เอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้ถ่ายจากต้นฉบับและผู้ลงลายมือชื่อออกหมายไม่ได้เป็นผู้รับรองนั้นก็ไม่ทำให้เอกสารหมาย จ.1 เป็นสำเนาเอกสารที่ไม่ชอบอันจะมีผลทำให้การจับกุมนายสำราญของนายดาบตำรวจประสพเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่ประการใดไม่
จำเลยทั้งสองฎีกาในประการต่อมาว่า พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้คือพันตำรวจโทนัฐฐา ทราวุธ ไม่ปรากฏว่าร้อยตำรวจโทสมนึกเป็นพนักงานสอบสวนด้วย ดังนั้น การสอบสวนเพิ่มเติมของร้อยตำรวจโทสมนึกซึ่งได้กระทำแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2542 ตามเอกสารหมาย จ.4 จึงไม่ชอบเป็นผลให้กระบวนพิจารณาต่อมาไม่ชอบนั้น เห็นว่า การสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นเพียงการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยทั้งสองจากการกระทำที่ได้มีการสอบสวนไว้โดยชอบแล้วโดยจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ถือได้ว่าเป็นสิ่งน้อยในการสอบสวนซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของพันตำรวจโทนัฐฐาพนักงานสอบสวนและพันตำรวจโทสุชาติ พลายแสง หัวหน้าพนักงานสอบสวน และมิได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดเจาะจงให้การกระทำดังกล่าวพนักงานสอบสวนต้องกระทำด้วยตนเอง พันตำรวจโทสุชาติพยานโจทก์เบิกความประกอบหนังสือนำส่งคำให้การผู้ต้องหาที่สอบสวนเพิ่มเติมตามเอกสารหมาย จ.4 ว่า ได้มีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธและไม่ยอมลงลายมือชื่อ เห็นได้ว่าร้อยตำรวจโทสมนึกซึ่งเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของพันตำรวจโทนัฐฐาและพันตำรวจโทสุชาติได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติมแทน ดังนี้ การสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 128 (2) แล้ว
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองมิได้ร่วมกับนายวิเชียร บุตรมาน กระทำความผิดตามฟ้องนั้น ปัญหานี้โจทก์มีนายดาบตำรวจประสพเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 เดินเข้ามาขอร้องให้พยานปล่อยนายสำราญขณะพยานควบคุมนายสำราญไปที่รถกระบะ เมื่อพยานนำนายสำราญไปนั่งที่เบาะด้านหน้าซึ่งมีนายชูชาติ ฝ้ายเทศ เป็นผู้ขับโดยมีพยานนั่งประกบและล๊อกตัวนายสำราญอยู่ จำเลยที่ 1 ได้เปิดประตูรถแล้วดึงพยานออกจากรถและนายสำราญก็ออกมาด้วย ขณะนั้นมีจำเลยที่ 2 เข้ามาดึงนายสำราญออกจากมือของพยาน และนายวิเชียรเข้ามาแกะมือพยานออกจนนายสำราญหลุดจากการควบคุมและวิ่งหลบหนีไป โดยมีนายอัศฤกษ์ บ่อทอง นายคณิต สลาพิมพ์ อาสาสมัครและนายชูชาติ ฝ้ายเทศ เป็นพยานเบิกความสนับสนุน เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวอยู่ในเหตุการณ์ใกล้ชิดเบิกความสอดคล้องต้องกันและสมเหตุสมผล แม้บางตอนจะแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงพลความ มิใช่สาระสำคัญที่จะทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์เหล่านั้นมีข้อพิรุธดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ประกอบกับจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.2 พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง ที่จำเลยทั้งสองเบิกความว่าได้ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.2 โดยที่ยังไม่มีการกรอกข้อความนั้น คงเป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอยๆ และจำเลยทั้งสองมิได้ถามค้านพยานโจทก์ในเรื่องนี้ไว้ จึงไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นความจริงดังที่กล่าวอ้าง พยานจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนายวิเชียรไม่มีการวางแผนหรือแบ่งหน้าที่กันทำ เพราะต่างคนต่างทำจึงมิได้ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองกับนายวิเชียรได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายแย่งตัวนายสำราญให้พ้นจากการควบคุมของนายดาบตำรวจประสพซึ่งเป็นความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นตัวการร่วมกับนายวิเชียรกระทำความผิดตามฟ้อง
จำเลยทั้งสองฎีกาในประการสุดท้ายขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกับพวกใช้กำลังประทุษร้ายแย่งชิงตัวผู้ต้องหาซึ่งถูกคุมขังตามอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาให้หลุดพ้นไปจากการคุมขังหลบหนีไปได้ในเวลากลางวันต่อหน้าผู้คนจำนวนมากเช่นนี้ เป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ตามพฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษและไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน