โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 9,978,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และขอให้ศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษต่อจำเลยทั้งสี่ขั้นสูงสุด
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 เมษายน 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับการยกเว้นนั้นให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 เมษายน 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อตั้งโครงการ ฟ. มีวัตถุประสงค์ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ต้องการทำศัลยกรรมเกี่ยวกับความงามโดยเป็นผู้ติดต่อโรงพยาบาลเพื่อให้บุคคลดังกล่าวทำศัลยกรรม ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการต้องให้โครงการบันทึกวิดีโอทั้งก่อนและหลังทำศัลยกรรม แล้วโครงการจะพิจารณานำไปประชาสัมพันธ์เผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ โครงการดังกล่าวมีเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูลการทำศัลยกรรมความงาม เผยแพร่วิดีโอการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมโครงการที่มีความพึงพอใจต่อการทำศัลยกรรม มีภาพของผู้เข้าร่วมโครงการเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างก่อนและหลังทำศัลยกรรม จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลใช้ชื่อว่า โรงพยาบาล ฉ. จำเลยที่ 4 เป็นศัลยแพทย์ตกแต่งประจำโรงพยาบาลดังกล่าวและเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 หลังจากโจทก์ทราบข้อมูลโครงการ ฟ. ทางสื่อออนไลน์ โจทก์เริ่มติดต่อสนทนากับพนักงานของโครงการดังกล่าวทางเฟซบุ๊ก เพื่อเข้าร่วมโครงการทำศัลยกรรมดึงหน้า ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2561 โจทก์ชำระเงินจองให้โครงการโดยโอนเข้าบัญชีธนาคารชื่อบัญชี โครงการ ฟ. โดยจำเลยที่ 2 (ผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานจองคิวผ่าตัดโครงการ ฟ. ) 50,000 บาท วันที่ 19 ธันวาคม 2561 โจทก์เดินทางมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาไปพบจำเลยที่ 1 ที่บ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการ โจทก์ชำระเงินสดให้โครงการ 228,500 บาท และโอนเงินเข้าบัญชีชื่อบัญชี โครงการ ฟ. โดยจำเลยที่ 2 (ผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานจองคิวผ่าตัดโครงการ ฟ. ) 200,000 บาท รวมเป็นเงินที่ชำระไปแล้วทั้งสิ้น 478,500 บาท แบ่งเป็นค่าดึงหน้าสามส่วน 280,000 บาท ค่าดึงคอ 180,000 บาท และค่าตรวจร่างกาย 18,500 บาท จากนั้นจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาจ้างเป็นที่ปรึกษาและปรับปรุงความงาม และวันเดียวกันทางโครงการได้ออกหนังสือส่งตัวคนไข้ให้โจทก์และเรียกรถแท็กซี่ให้พาโจทก์ไปส่งที่โรงพยาบาล ฉ. วันที่ 20 ธันวาคม 2561 โจทก์ได้รับการผ่าตัดศัลยกรรมดึงหน้าและดึงคอโดยจำเลยที่ 4 เป็นแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด วันที่ 21 ธันวาคม 2561 จำเลยที่ 3 ได้รับค่ารักษาพยาบาลจากโครงการ ฟ. เป็นค่าตรวจร่างกายโจทก์ 13,300 บาท และค่าผ่าตัดดึงหน้าและดึงคอโจทก์ 160,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำละเมิด และจำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด และตามที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับฟ้องโจทก์ในส่วนที่อ้างว่า จำเลยที่ 4 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์มีแผลเป็นที่ด้านหน้าและหลังใบหูทั้งสองข้าง ใบหน้าเบี้ยว ผิวหนังบริเวณแก้มและคางไม่เรียบตะปุ่มตะป่ำ นั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 และเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้อธิบายขั้นตอนการรักษารวมทั้งผลที่จะเกิดขึ้นจากการรักษาให้โจทก์ทราบแล้ว ซึ่งผลการผ่าตัดที่ปรากฏแผลเป็นหลังจากผ่าตัดเป็นไปตามแผนการผ่าตัดของจำเลยที่ 4 มิได้ปรากฏบาดแผลจากการผ่าตัดที่จะเป็นการบ่งชี้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นไปด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้ใบหน้าของโจทก์เสียโฉม ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 มิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อในการผ่าตัดดึงหน้าให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ จึงต้องรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเฉพาะแผลพุพองใต้คางของโจทก์ และการโฆษณาด้วยข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริงของจำเลยที่ 1
ปัญหาข้อต่อไปที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในการโฆษณาด้วยข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริงหรือไม่ เพียงใด และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องอาจเป็นได้ทั้งละเมิดและผิดสัญญา แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงว่าจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ส่วนเรื่องผิดสัญญามิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ และโจทก์ไม่ได้คัดค้าน กรณีต้องถือว่าไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องผิดสัญญา การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำโฆษณาและคำรับรองของจำเลยที่ 1 เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา เมื่อการโฆษณาและรับรองไม่ตรงกับความจริง จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากประเด็นข้อพิพาท คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 141 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 โฆษณาด้วยข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริงอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาที่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อสำนวนขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน ปัญหาข้อนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 โฆษณาว่าผ่าตัดไร้รอยแผลเข้าลักษณะข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง อันเป็นการโฆษณาที่ใช้ข้อความไม่เป็นธรรมก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการบริการ และตัดโอกาสของโจทก์ที่จะใช้ข้อมูลดังกล่าวตัดสินใจที่จะเข้าทำสัญญาเป็นที่ปรึกษาและปรับปรุงความงามกับจำเลยที่ 1 โจทก์ผู้บริโภคจึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา เป็นกรณีจำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิของโจทก์ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ จึงต้องรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 4 แจ้งถึงความเสี่ยงในการเกิดแผลเป็นภายหลังการผ่าตัดให้โจทก์ทราบแล้ว แต่โจทก์เพิ่งจะได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวก่อนการผ่าตัดเพียงไม่กี่ชั่วโมง ประกอบกับที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำไว้ ระบุในข้อ 5 ว่า หากโจทก์ไม่ยอมเข้ารับการผ่าตัด ให้เงินที่โจทก์ชำระแก่จำเลยที่ 1 แล้วตกเป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดโดยไม่ต้องคืนแก่โจทก์ แสดงว่าโจทก์ตกอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด การที่โจทก์ทราบข้อมูลเรื่องแผลเป็นจากจำเลยที่ 4 ก่อนการผ่าตัดจึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ให้ไม่เป็นละเมิด จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์ ที่โจทก์ฎีกาขอให้กำหนดค่าเสียหายสูงสุดตามฟ้อง และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าตนเองได้รับความทุกข์ทรมานทางร่างกายและจิตใจอย่างไรบ้างจนก่อให้เกิดความเสียหายคำนวณเป็นราคาเงินได้ ในทางกลับกันโจทก์ได้รับการผ่าตัดจนใบหน้าสวยงามย่อมทำให้โจทก์มีความสุขสดชื่น จึงไม่มีเหตุที่จะทำให้โจทก์ทนทุกข์ทรมาน นั้น เห็นสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกัน โดยเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 โฆษณาเกินความจริงว่าผ่าตัดไร้รอยแผล ย่อมทำให้โจทก์คาดหวังว่าหลังได้รับการผ่าตัดจะไม่มีแผลเป็นอยู่บนใบหน้าโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีแผลเป็นบริเวณใบหน้าโจทก์ ไม่เป็นไปตามคำโฆษณา ย่อมเกิดผลกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจโจทก์ ถือว่าโจทก์ได้รับความทุกข์ทรมานทางจิตใจ ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 แม้โจทก์ไม่อาจนำสืบให้เห็นได้ว่าความเสียหายดังกล่าวคำนวณเป็นราคาเงินเท่าใด ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้ได้ตามที่เห็นสมควร โดยเห็นว่า การที่โจทก์ยอมเสียเงินเป็นค่าใช้จ่ายให้จำเลยที่ 1 เป็นจำนวนมากถึง 478,500 บาท เพื่อทำศัลยกรรมดึงหน้าและดึงคอตามคำโฆษณาของจำเลยที่ 1 แสดงว่าโจทก์ให้ความสำคัญกับการไม่มีแผลเป็นบริเวณใบหน้าเป็นพิเศษ เมื่อมีแผลเป็นเกิดขึ้นย่อมกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจโจทก์เป็นอย่างมากและเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม ได้พิจารณาแผลเป็นบริเวณใบหน้าโจทก์แล้ว คงเหลือแผลเป็นอยู่ที่ขมับ หลังใบหู และท้ายทอย แม้ไม่เป็นไปตามคำโฆษณาของจำเลยที่ 1 ที่รับรองว่าไม่มีแผลเป็น แต่แผลเป็นดังกล่าวก็จางลงมาก สอดคล้องกับที่พลตำรวจโทนายแพทย์อรรถพันธ์ตอบทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 และทนายจำเลยที่ 3 ที่ 4 ถามค้านว่า แผลเป็นที่เกิดจากการผ่าตัดจะจางลงไปเรื่อย ๆ เมื่อระยะเวลาผ่านไปจะเห็นแผลเป็นไม่ชัด ประกอบกับบริเวณดังกล่าวมีเส้นผมบังอยู่ หากไม่ได้ตั้งใจมองในระยะใกล้ก็ไม่น่าจะเห็นแผลเป็นได้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ 200,000 บาท นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 แล้ว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขใหม่ นั้น เห็นว่า ก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้มีการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวบัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่อาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จึงต้องบังคับตามมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขอัตราดอกเบี้ยเสียใหม่ให้ถูกต้อง ที่โจทก์ฎีกาขอให้กำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษ นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 โฆษณาว่าเป็นการผ่าตัดไร้รอยแผล แม้จะเป็นการโฆษณาเกินความจริง แต่แผลเป็นหลังผ่าตัดที่ยังคงเหลืออยู่ที่ขมับ หลังใบหู และท้ายทอยของโจทก์เป็นแผลเป็นที่เกิดขึ้นตามปกติของการผ่าตัด อีกทั้งตามวิดีโอคลิปปรากฏว่าผลการผ่าตัดทำให้ใบหน้าโจทก์เปลี่ยนแปลงดีขึ้นกว่าเดิม ส่วนที่จำเลยที่ 4 ไม่ได้ตรวจความเรียบร้อยของแผลให้โจทก์ในช่วงที่มีการนัดตัดไหมทำให้แผลที่เกิดขึ้นใต้คางของโจทก์ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีและโจทก์ขาดโอกาสที่จะได้รับคำแนะนำการดูแลแผลที่ถูกต้องก็มีผลเพียงทำให้แผลหายช้ากว่าปกติ กรณียังไม่อาจรับฟังได้ว่าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องในคดีนี้เกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค หรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จึงไม่อาจสั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ได้ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการโฆษณาเท็จ นั้น เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในตอนต้นแล้วว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถือได้ว่าดำเนินการโครงการ ฟ. ร่วมกัน การที่จำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 โฆษณาโครงการ ฟ. ด้วยข้อความเกินความจริง แต่โรงพยาบาลของจำเลยที่ 3 ยังรับทำศัลยกรรมให้ผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวมาตลอด ย่อมรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 โฆษณาโครงการเกินความจริง จึงต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มีการแบ่งปันผลประโยชน์กัน และจำเลยที่ 2 มาฟ้องผู้เข้าร่วมโครงการ ฟ. ที่ค้างชำระเงินแก่โครงการเป็นการส่วนตัวตามสำเนาสัญญาแบ่งผลประโยชน์ที่เกิดจากโครงการ ฟ. ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 และสำเนาคำพิพากษาแนบท้ายฎีกาของโจทก์ นั้น เห็นว่า โจทก์ไม่ได้อ้างส่งสำเนาสัญญาแบ่งผลประโยชน์แนบท้ายฎีกาของโจทก์เป็นพยานหลักฐานให้ถูกต้องตามขั้นตอนกระบวนพิจารณา นอกจากนี้ยังปรากฏจากสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ 49/2564 ของศาลจังหวัดพิษณุโลก แนบท้ายฎีกาของโจทก์เองว่าจำเลยที่ 2 เบิกความในคดีอื่นว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือน เดือนละ 40,000 บาท ไม่มีส่วนในการลงทุนในโครงการ ฟ. ขัดกับข้อความในสัญญาแบ่งผลประโยชน์ จึงไม่อาจนำสำเนาสัญญาแบ่งผลประโยชน์ดังกล่าวมารับฟังได้ เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในตอนต้นแล้วว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ในโครงการ ฟ. ร่วมกับจำเลยที่ 1 อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมรู้เห็นกับการโฆษณาเกินความจริงของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และเกี่ยวข้องเพียงเป็นแพทย์ผู้ผ่าตัดโจทก์ ไม่ปรากฏว่ามีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือร่วมรู้เห็นกับการโฆษณาเกินความจริงของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องวินิจฉัยข้อโต้แย้งอื่นที่จำเลยที่ 1 อ้างมาในฎีกาเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 เพราะถูกหลอกลวงด้วยข้อความอันเป็นเท็จจึงเป็นการเข้าใจผิดในสาระสำคัญย่อมตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินที่หลอกลวงเอาไปจากโจทก์ทั้งหมด นั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้อง จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 270,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 เมษายน 2562) ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราที่ปรับเปลี่ยนบวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดชำระเงินดังกล่าว 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราและตามระยะเวลาเดียวกันแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ