โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 137 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองฎีกาประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2546 และวันที่ 25 ตุลาคม 2546 จำเลยทั้งสองในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ได้ประชุมเพิ่มทุนจาก 177,000,000 บาท เป็น 200,000,000 บาท และจำเลยทั้งสองร่วมกันลงลายมือชื่อยื่นคำขอจดทะเบียนเพิ่มทุน โดยนางรัชนี ผู้จัดการมรดกของนายกัญจน โจทก์ และนางนวลเพ็ญ ทายาท ไม่ทราบเรื่องและไม่ยินยอมให้กระทำการดังกล่าว ต่อมานางรัชนีฟ้องขอให้เพิกถอนมติและเพิกถอนการจดทะเบียนเพิ่มทุนตามมติ เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เนื่องจากแม้โจทก์จะนำสืบว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันลงลายมือชื่อยื่นคำขอจดทะเบียนเพิ่มทุน นางรัชนี ผู้จัดการมรดกของนายกัญจน โจทก์ และนางนวลเพ็ญ ทายาท ไม่ทราบเรื่องและไม่ยินยอมให้กระทำการ แต่จำเลยทั้งสองก็นำสืบหักล้างว่า นางรัชนี โจทก์ นางนวลเพ็ญ และผู้ถือหุ้นทุกคนทราบเรื่องและยินยอมให้กระทำการ การรับฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่ถูกต้อง จำเลยทั้งสองฎีกาประการที่สองว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์บรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 โดยบรรยายฟ้องขัดกันไม่แน่ชัดว่าข้อความตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่อ้างว่าเป็นเท็จ ไม่ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงตามผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 หรือไม่ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงตามสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ก. อย่างไรและในช่วงเวลาใด และโจทก์บรรยายฟ้องลอย ๆ ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า การที่ทุนจดทะเบียนเพิ่มมากขึ้น จำนวนผู้ถือหุ้น และจำนวนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นในบริษัท ก. มากขึ้น อาจทำให้โจทก์และหรือผู้อื่นและหรือประชาชนเสียหายอย่างไร และหรือเป็นการกระทำเพื่อลวงอย่างไรให้บริษัท ก. หรือผู้ถือหุ้นของบริษัท ก. ขาดประโยชน์อันควรได้อย่างไร จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) และจำเลยทั้งสองฎีกาประการที่สามว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี เนื่องจากโจทก์ในคดีนี้มิได้เป็นโจทก์ในคดีแพ่งตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และการเพิ่มทุนจดทะเบียนทำให้โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัท ก. ผู้ถือหุ้นคนอื่น และหรือบริษัท ก. และหรือผู้อื่นหรือประชาชนที่เกี่ยวข้องได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้น รวมทั้งโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ผู้ถือหุ้นคนอื่น ผู้อื่นหรือประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายหรือขาดประโยชน์อันควรได้ นั้น เห็นว่า แม้คู่ความฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์จะมีสิทธิฎีกาต่อศาลฎีกาได้ หากไม่มีบทกฎหมายให้คำพิพากษานั้นเป็นที่สุดหรือบัญญัติห้ามมิให้ฎีกา แต่คดีนี้จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองจะมีสิทธิฎีกาได้ต่อเมื่อคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยทั้งสอง สำหรับที่จำเลยทั้งสองฎีกาประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า นางรัชนี ผู้จัดการมรดกของนายกัญจน โจทก์ และนางนวลเพ็ญ ทายาท ไม่ทราบเรื่องและไม่ยินยอมให้กระทำการดังกล่าว คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เนื่องจากจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้แย้งอยู่ จำเลยทั้งสองก็ให้เหตุผลในการฎีกาประเด็นนี้ว่า จำเลยทั้งสองเกรงว่าจะมีการนำเอาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังได้ในเบื้องต้นโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนดังกล่าวไปใช้อ้างในทางที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบว่าข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟัง เพราะนอกจากคดีนี้แล้วยังมีคดีอื่น ๆ อีกหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งจะสร้างความวุ่นวายยุ่งยากให้จำเลยทั้งสองนำสืบอธิบายข้อเท็จจริง ก็เป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลยทั้งสอง การรับฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงหาได้กระทบกระเทือนหรือมีผลทำให้จำเลยทั้งสองอาจได้รับความเสียหายแต่ประการใดไม่ สำหรับที่จำเลยทั้งสองฎีกาประการที่สองว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และประการที่สามว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ก็หามีผลทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เปลี่ยนแปลง จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยทั้งสองทุกประการเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง