โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 7,911,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และขอให้ศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษจำเลยทั้งสี่ในขั้นสูงสุด
จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป (ฟ้องวันที่ 19 มิถุนายน 2562) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยส่วนที่โจทก์ได้รับยกเว้นนั้น ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 นำมาชำระต่อศาลในนามโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี กำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป (ฟ้องวันที่ 19 มิถุนายน 2562) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่ชำระเกินมาแก่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฝ่ายละ 500 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อตั้งโครงการ ฟ. มีวัตถุประสงค์ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ต้องการทำศัลยกรรมเกี่ยวกับความงาม โดยเป็นผู้ติดต่อโรงพยาบาลเพื่อให้บุคคลดังกล่าวทำศัลยกรรม โจทก์ทราบข้อมูลโครงการ ฟ. ทางสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานของโครงการดังกล่าว และเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลใช้ชื่อว่า โรงพยาบาล ฉ. ขณะเกิดเหตุมีนางศิริเพ็ญ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนและเป็นผู้รับอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นสามีนางศิริเพ็ญ เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 3 และเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลของจำเลยที่ 3 เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2559 โจทก์ดูคลิปวิดีโอโครงการของจำเลยที่ 1 ทางเว็บไซต์ และเว็บไซต์ยูทูบ โจทก์สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว จึงทำสัญญาเข้าทำศัลยกรรมเสริมความงามกับจำเลยที่ 1 ตกลงราคาค่าทำศัลยกรรมเสริมความงามเป็นเงิน 450,000 บาท ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 เพื่อขอเข้าร่วมโครงการทำศัลยกรรมดึงหน้า เป็นเงิน 50,000 บาท โดยในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 โจทก์เดินทางจากราชอาณาจักรสวีเดนมายังประเทศไทย และในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 อีก 200,000 บาท ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 โจทก์เดินทางไปพบจำเลยที่ 1 ที่หมู่บ้าน พ. และทำสัญญาขอเข้าร่วมโครงการกับจำเลยที่ 1 โดยในวันเดียวกันพนักงานของโครงการพาโจทก์ไปที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 3 โจทก์ได้รับการผ่าตัดศัลยกรรมดึงหน้าโดยจำเลยที่ 4 เป็นผู้ทำการผ่าตัด สำหรับปัญหาที่ว่า การที่จำเลยที่ 4 ผ่าตัดศัลยกรรมดึงหน้าให้แก่โจทก์เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4 หรือไม่นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 4 ศัลยกรรมผ่าตัดให้แก่โจทก์ตามมาตรฐานวิชาชีพ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 4 มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในส่วนนี้ด้วย และศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ปัญหาข้อนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา และต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 11 บัญญัติว่า "ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของ บริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใด ๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลง ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ..." จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 11 นั้น นอกจากจะกำหนดให้การโฆษณาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาแล้ว ยังรวมถึง ประกาศ คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของ บริการหรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใด ๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่ามีการนำวิดีโอคลิปโครงการ ฟ. ของจำเลยที่ 1 ไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูบซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปในสังคมปัจจุบันว่าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันยูทูบเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 นำวิดีโอคลิปไปแสดงเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ยูทูบดังกล่าวโดยไม่ปรากฏว่ามีการตั้งสถานะเป็นส่วนตัวหรือปิดกันมิให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้ จึงเป็นการทำให้ปรากฏแก่บุคคลทั่วไปถึงข้อมูลที่เป็นรายละเอียดโครงการของจำเลยที่ 1 รวมทั้งแสดงช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับจำเลยที่ 1 เพื่อเข้าร่วมโครงการ ฟ. ของจำเลยที่ 1 ผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์ เว็บไซต์ แอปพลิเคชันไลน์ แอปพลิเคชันเฟซบุ๊กได้นั้น ถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 โฆษณาแก่บุคคลทั่วไปเพื่อประโยชน์ในทางการค้าของจำเลยที่ 1 ด้วย มิใช่เพียงการสนทนาส่วนตัวระหว่างจำเลยที่ 1 กับบุคคลที่ปรากฏในวิดีโอคลิปดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างมาในฎีกาเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลทั่วไปได้พบโฆษณาโครงการของจำเลยที่ 1 ผ่านเว็บไซต์ยูทูบย่อมเข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดเกี่ยวกับการศัลยกรรมผ่าตัดเสริมความงามโดยมีโรงพยาบาลชั้นนำได้มาตรฐานระดับโลกร่วมอยู่ในโครงการของจำเลยที่ 1 และการผ่าตัดศัลยกรรมกับโครงการของจำเลยที่ 1 จะไม่มีผลกระทบ ไม่บวม ไม่เจ็บ ฟื้นตัวเร็ว ไร้รอยแผลเป็น และจะได้รับการบริการในราคาถูก ซึ่งข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ประชาชนพบเห็น หรือทราบข้อความที่จำเลยที่ 1 แสดงไว้ในวิดีโอคลิปดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะถือว่าเป็นการโฆษณาเพื่อประโยชน์ในทางการค้าของจำเลยที่ 1 แล้ว ยังถือว่าการที่จำเลยที่ 1 หรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 สนทนากับโจทก์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ตามบันทึกการสนทนานั้น เป็นการที่จำเลยที่ 1 ให้คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของบริการหรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญาอันถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเข้าร่วมโครงการ ฟ. ของจำเลยที่ 1 ตามความหมายของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 11 แล้ว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การโฆษณาของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นการโฆษณาอันเป็นเท็จหรือโฆษณาเกินจริงอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถูกดำเนินคดี หรือมีคำสั่งให้แก้ไขข้อความที่โฆษณาแต่ประการใด หรือยังมีกรณีที่บุคคลอื่นก็ใช้คำโฆษณาในลักษณะเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างมาในฎีกานั้น กรณีดังกล่าวไม่ถือเป็นข้อสำคัญที่จะนำมาพิจารณาในคดีนี้ เพราะไม่ว่าการโฆษณาของจำเลยที่ 1 จะเป็นเท็จหรือเกินจริงหรือไม่ จะมีบุคคลอื่นให้ถ้อยคำโฆษณาเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ หรือจำเลยที่ 1 จะเคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับโฆษณาดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม หากปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้แก่ผู้บริโภค ก็ต้องถือว่าประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้บริโภคกับจำเลยที่ 1 ผู้ประกอบธุรกิจ ตามความหมายของมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ด้วยเช่นกัน และคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์มิได้ก้าวล่วงข้ามขั้นตอนของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยการโฆษณาดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 ซึ่งเป็นสัญญาที่โจทก์ทำข้อตกลงเข้าร่วมโครงการ ฟ. กับจำเลยที่ 1 มีข้อความในทำนองว่า การเข้าร่วมโครงการของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงการปรึกษาเพื่อให้ทางโครงการช่วยเหลือแนะนำตามสมควรตลอดจนแนะนำโรงพยาบาลหรือศัลยแพทย์ที่น่าจะเหมาะสมให้ ซึ่งโจทก์จะเป็นผู้ตัดสินใจเอง และโจทก์เข้าใจดีว่าทางโครงการไม่ได้โฆษณาหรือเป็นตัวแทนให้แก่โรงพยาบาลหรือศัลยแพทย์ท่านใด และจะไม่หยิบยกเรื่องนี้ไปร้องเรียนหรือกล่าวอ้างให้โรงพยาบาลหรือศัลยแพทย์ท่านใดที่เกี่ยวข้องได้รับความเสียหาย รวมทั้งข้อตกลงยกเว้นความรับผิดอื่น ๆ ตามที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าว โดยไม่มีข้อความที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นแพทย์ และข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าที่สามารถตกลงกันได้เพื่อแจ้งเตือนถึงผลลัพธ์อันอาจจะเกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัด จึงไม่ถือว่าโจทก์ถูกหลอกลวงนั้น เมื่อพิจารณาบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ของสัญญาสำเร็จรูปที่จำเลยที่ 1 จัดทำไว้ก่อนแล้ว ซึ่งถือเป็นข้อตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าที่เป็นการยกเว้น หรือจำกัดความรับผิดเพื่อละเมิดหรือผิดสัญญาในความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของผู้อื่น อันเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ตกลง หรือของบุคคลอื่นซึ่งผู้ตกลงต้องรับผิดด้วย ตามความหมายของมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ที่กำหนดไว้ว่าข้อสัญญาดังกล่าวจะนำมาเป็นข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดไม่ได้ และการที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ติดต่อจัดหาโรงพยาบาลให้แก่โจทก์เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ติดต่อโรงพยาบาลจำเลยที่ 3 ให้แก่โจทก์และโจทก์เข้ารับการผ่าตัดตามวัตถุประสงค์แล้ว ถือว่าภารกิจของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในฐานะตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 แล้วนั้นก็ล้วนเป็นข้อกล่าวอ้างที่ขัดกับที่จำเลยที่ 1 โฆษณาไว้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการตามโครงการของจำเลยที่ 1 เอง จึงไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการได้แสดงให้ปรากฏแก่บุคคลทั่วไปว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดเกี่ยวกับการศัลยกรรมผ่าตัดเสริมความงามโดยมีโรงพยาบาลชั้นนำได้มาตรฐานระดับโลกร่วมอยู่ในโครงการของจำเลยที่ 1 และการผ่าตัดศัลยกรรมกับโครงการของจำเลยที่ 1 นั้น จะไม่มีผลกระทบ ไม่บวม ไม่เจ็บ ฟื้นตัวเร็ว ไร้รอยแผลเป็น และจะได้รับการบริการในราคาถูก ซึ่งแม้โจทก์จะมีอาชีพเป็นพยาบาลแผนกจิตเวช เมื่อเห็นโฆษณาดังกล่าวก็อาจทำให้โจทก์เข้าใจว่าโครงการของจำเลยที่ 1 จะใช้เทคนิคการผ่าตัดใหม่ที่ไม่มีรอยแผลเป็น โจทก์จึงตัดสินใจเข้าร่วมกับโครงการของจำเลยที่ 1 ดังที่โจทก์เบิกความว่าโจทก์เห็นโฆษณาของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงตัดสินใจทำศัลยกรรมดึงหน้าเพื่อให้ดูอ่อนเยาว์ขึ้น เมื่อโจทก์ตกลงทำสัญญาเข้าร่วมโครงการกับจำเลยที่ 1 จึงต้องถือว่าข้อความที่จำเลยที่ 1 แสดงไว้ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งข้อตกลงในสัญญาเข้าร่วมโครงการ ฟ. ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ด้วย ซึ่งในส่วนผลของการเข้าร่วมโครงการ ฟ. ของจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์เบิกความต่อไปว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 โจทก์เข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรม โดยมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้ผ่าตัด แต่ผลการผ่าตัดไม่เป็นดังที่จำเลยที่ 1 โฆษณาไว้ โดยโจทก์มีอาการหน้าบวมมาก มีรอยเขียวฟกช้ำ ปลายจมูกของโจทก์มีอาการอักเสบ บวมแดง ขมับสองข้างมีอาการชา หางตาทั้งสองข้างตึง แก้มสองข้างไม่เท่ากัน ใบหน้าคล้อย มุมปากตก เหนียงคอห้อย ฝ้าที่ใบหน้ายังปรากฏเช่นเดิม มีแผลเป็นน่าเกลียดที่ใบหน้า และที่ตา ไม่เป็นไปตามที่จำเลยที่ 1 โฆษณา จนโจทก์ขาดความมั่นใจ ระแวงคนเห็นแผลเป็น ซึ่งคำเบิกความของโจทก์สอดคล้องกับภาพถ่าย ซึ่งเป็นภาพถ่ายของโจทก์หลังการผ่าตัดที่ปรากฏร่องรอยบาดแผลหลังจากการผ่าตัดที่ชัดเจน ทั้งบริเวณด้านหน้าและด้านหลังบริเวณหลังใบหูหรือท้ายทอย ซึ่งในข้อนี้โจทก์ยังมีนายแพทย์เทพเป็นพยานเบิกความว่า พยานได้ตรวจดูใบหน้าของโจทก์พบว่ามีรอยแผลเป็นที่ท้ายทอยทั้งสองข้าง ซึ่งในการผ่าตัดนั้นเป็นเรื่องปกติจะต้องมีรอยแผลเป็น ซึ่งจะต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบก่อนเข้ารับการผ่าตัดด้วยเสมอ อันเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับที่นายแพทย์ปรีชา ซึ่งเป็นรองศาสตราจารย์หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่ง คณะแพทย์ศาสตร์เขียนบทความไว้ว่า "ลงมีดไปแล้วถึงอย่างไรก็มีแผลเป็นแน่ ๆ นั่นเป็นสิ่งแรกที่ผู้หญิงต้องแลก" แม้นายแพทย์เทพจะมิได้ทำรายงานผลการตรวจร่างกายโจทก์ไว้ แต่โจทก์ก็ยังมีสำเนาใบแสดงความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ส่งโจทก์ไปตรวจหาร่องรอยบาดแผลจากการทำศัลยกรรม ซึ่งแพทย์ผู้ตรวจได้วินิจฉัยว่า พบบาดแผลเก่าจากการผ่าตัด อันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้โจทก์จะผ่านการผ่าตัดทำศัลยกรรมมาเป็นเวลานานแล้วก็ยังปรากฏร่องรอยบาดแผลเก่าจากการผ่าตัดอยู่จริงดังที่นายแพทย์เทพเบิกความ เมื่อไม่ปรากฏว่านอกจากข้อพิพาทกับจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้แล้ว โจทก์มีการผ่าตัดศัลยกรรมกับบุคคลอื่นอีก จึงเชื่อว่าแผลเป็นดังกล่าวเกิดจากการผ่าตัดศัลยกรรมอันเป็นข้อพิพาทกันในคดีนี้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์นำเอกสารหมาย จ.30 มาถามค้านนายอิศรา พยานจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยนายอิศรามิได้รับรองข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าว และโจทก์ไม่นำพลตำรวจตรีณรงค์ศักดิ์ แพทย์ผู้ตรวจและลงชื่อในเอกสารหมาย จ.30 มาเบิกความรับรอง ส่วนผลการตรวจก็ไม่ระบุว่าเป็นการตรวจบาดแผลส่วนไหนของร่างกาย จึงรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานเอกสารดังกล่าวไม่ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีผู้บริโภค ซึ่งการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีผู้บริโภคนั้นมีลักษณะที่ไม่เคร่งครัดเหมือนคดีแพ่งทั่วไป เพื่อมิให้คู่ความเอาชนะกันโดยอาศัยเทคนิคทางกฎหมาย ดังนั้น แม้นายอิศราจะมิได้รับรองข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าว แต่เมื่อพิจารณาจากสำเนาใบแสดงความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจเอกสารหมาย จ.30 ที่เป็นเอกสารที่โรงพยาบาลตำรวจซึ่งเป็นหน่วยงานราชการเป็นผู้ส่งมาตามคำสั่งเรียกเข้ามาในสำนวนคดีแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจที่จะนำสำเนาใบแสดงความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจเอกสารหมาย จ.30 มารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า คำเบิกความของนายแพทย์ธีรภพ พยานจำเลยที่ 1 เบิกความว่า แผลจากการผ่าตัดและแผลเป็นมีความแตกต่างกันและสามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งนายแพทย์ธีรภพ เป็นแพทย์ผู้มีประสบการณ์ในด้านการผ่าตัดศัลยกรรมมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี คำเบิกความย่อมมีน้ำหนักมากกว่าคำเบิกความของนายแพทย์เทพนั้น เมื่อพิจารณาจากคำเบิกความของนายแพทย์ธีรภพแล้วปรากฏว่าเป็นการเบิกความถึงข้อเท็จจริงทั่วไปเกี่ยวกับบาดแผลอันเกิดจากการผ่าตัด สาเหตุของการเกิดของบาดแผล ลักษณะของบาดแผล และการรักษาบาดแผลเท่านั้น ไม่ปรากฏว่านายแพทย์ธีรภพได้ตรวจร่างกายโจทก์หรือยืนยันว่าโจทก์มิได้มีแผลเป็นอันเกิดจากการผ่าตัดในคดีนี้แต่ประการใด ซึ่งต่างจากนายแพทย์เทพที่เบิกความยืนยันว่านายแพทย์เทพได้ตรวจร่างกายโจทก์และพบรอยแผลเป็นที่ท้ายทอยทั้งสองข้างจริง อีกทั้งนายแพทย์ธีรภพ ยังเบิกความเจือสมกับคำเบิกความของนายแพทย์เทพ และบทความของนายแพทย์ปรีชาในข้อเท็จจริงที่ว่า ในการผ่าตัดนั้นจะต้องมีรอยแผลอันเกิดจากมีดที่ผ่าตัดอีกด้วย คำเบิกความของนายแพทย์ธีรภพจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ในข้อนี้ได้ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ผลการผ่าตัดศัลยกรรมของโจทก์ประสบความสำเร็จ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ ตามที่จำเลยที่ 4 บันทึกไว้ในเวชระเบียน และหลังการผ่าตัดโจทก์มิได้โต้แย้งทักท้วงว่าผลการผ่าตัดมีรอยแผลเป็นหรือบกพร่องอื่น ๆ ตามที่ปรากฏในวิดีโอคลิปการให้สัมภาษณ์ นั้น เห็นว่า บันทึกของจำเลยที่ 4 เป็นการระบุถึงผลการผ่าตัดศัลยกรรมเมื่อเสร็จสิ้นการทำศัลยกรรมผ่าตัดเท่านั้น ส่วนผลของการรักษาบาดแผลภายหลังจากการผ่าตัดในเวลาต่อมานั้นไม่มีการบันทึกไว้ สำหรับภาพถ่าย หรือวิดีโอคลิปของโจทก์ และตามสื่อบันทึกข้อมูล ซึ่งแสดงถึงผลภายหลังจากการผ่าตัดศัลยกรรมของโจทก์นั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีการแสดงภาพศีรษะด้านหลังเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าการผ่าตัดศัลยกรรมให้แก่โจทก์ไม่มีร่องรอยแผลเป็นดังที่จำเลยที่ 1 โฆษณาไว้ ส่วนการจัดทำบันทึกวิดีโอคลิปนั้น โจทก์ให้สัมภาษณ์แก่ฝ่ายจำเลยที่ 1 หลังจากการผ่าตัดผ่านไปเพียง 1 เดือน ซึ่งในขณะนั้นโจทก์ยังไม่ทราบถึงผลข้างเคียงอันเกิดจากการผ่าตัดว่าจะมีร่องรอยของแผลเป็นหรือไม่ การที่โจทก์มิได้โต้แย้งทักท้วงผลการผ่าตัดในทันทีจึงไม่ใช่ข้อพิรุธ ดังจะเห็นได้จากในเวลาต่อมาเมื่อโจทก์พบว่าโจทก์ได้รับผลกระทบจากการผ่าตัดศัลยกรรม โจทก์ได้แจ้งแก่จำเลยผ่านแอปพลิเคชันไลน์ว่า ผลการผ่าตัดมิได้เป็นไปตามที่จำเลยที่ 1 โฆษณาไว้ และไม่ขอจ่ายเงินที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 1 อีกต่อไป ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโฆษณาของจำเลยที่ 1 มีข้อความเตือนแล้วว่า "ผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล" นั้น คำเตือนดังกล่าวเป็นการเตือนผลของการทำศัลยกรรมซึ่งอาจจะได้ผลไม่เป็นที่พอใจของผู้เข้ารับบริการบางราย แต่ไม่ใช่การเตือนเป็นการเฉพาะว่าถ้าผ่าตัดทำศัลยกรรมแล้วอาจจะมีรอยแผลเป็น ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 โฆษณาว่าการผ่าตัดศัลยกรรมในโครงการของจำเลยที่ 1 ไม่มีรอยแผลเป็นจึงไม่ตรงตามความเป็นจริง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ติดตามดูโฆษณาของโครงการของจำเลยที่ 1 ทางสื่อออนไลน์ และได้สนทนากับจำเลยที่ 1 หรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 แล้ว จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวโดยทำหนังสือขอเข้าร่วมโครงการกับจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะใช้เวลานานก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการกับจำเลยที่ 1 แต่ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้เวลาในการรวบรวมเงินเพื่อเข้าทำสัญญาเข้าร่วมโครงการกับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งคำโฆษณาและคำรับรองของโครงการของจำเลยที่ 1 ข้างต้นก็ยังคงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเข้าร่วมโครงการด้วย เมื่อเป็นการโฆษณาที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายแก่โจทก์ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาซึ่งเป็นเรื่องนิติกรรม แต่กลับวินิจฉัยกำหนดค่าสินไหมทดแทนในเรื่องละเมิดซึ่งเป็นเรื่องนิติเหตุ เป็นการวินิจฉัยกฎหมายคนละฉบับแตกต่างกัน การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงคลาดเคลื่อนนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาให้บริการทางการแพทย์ โดยผลการผ่าตัดศัลยกรรมไม่เป็นไปตามที่จำเลยที่ 1 โฆษณาไว้ว่า การผ่าตัดศัลยกรรมในโครงการของจำเลยที่ 1 ไม่บวม ไม่ช้ำ ไร้รอยแผลเป็น ไม่ต้องพักฟื้น อันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 สัญญาหรือรับรองว่าโจทก์จะไม่มีอาการเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานจากการผ่าตัดศัลยกรรม หรือการผ่าตัดจะไม่มีรอยแผลเป็น แต่เมื่อฝ่ายจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโดยปรากฏว่าโจทก์มีรอยแผลเป็นที่หลังท้ายทอยหลังใบหูทั้งสองข้างทำให้โจทก์ขาดความมั่นใจ ระแวงคนเห็นแผลเป็น อันเป็นการที่โจทก์ได้รับความทุกข์ทรมานจากผลของการผ่าตัดที่ไม่เป็นไปตามที่จำเลยที่ 1 โฆษณาไว้ ซึ่งเป็นความเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 ประกอบมาตรา 222 วรรคแรก กรณีมิได้เป็นการที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดตามมาตรา 444 หรือมาตรา 446 ดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างมาในฎีกา แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท นั้น เห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์นั้นไม่ปรากฏว่ารอยแผลเป็นของโจทก์ที่ได้รับมีร่องรอยปรากฏชัดเพียงใด และโจทก์จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการรอยแผลเป็นที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่โจทก์กลับคืนมาเป็นเงินเพียงใด การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้มาเป็นเงิน 100,000 บาท นั้น นับว่าสูงเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรลดค่าเสียหายส่วนนี้ลงเหลือ 50,000 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประการต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์แล้วจะเห็นได้ว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามคำบรรยายฟ้องอาจเป็นได้ทั้งกรณีละเมิดเพราะจำเลยที่ 1 อาจต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดในส่วนของการผ่าตัดศัลยกรรมของจำเลยที่ 4 ที่อาจกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการผ่าตัดศัลยกรรมแก่โจทก์ หรืออาจเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาในเรื่องของสัญญาให้บริการทางการแพทย์ตามสัญญาเข้าร่วมในโครงการ ฟ. ของจำเลยที่ 1 ก็ได้เช่นกัน ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า จำเลยทั้งสี่ผิดสัญญาหรือทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาททั้งในเรื่องผิดสัญญาและละเมิด เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาให้บริการทางการแพทย์ มิใช่เรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ในมูลละเมิด ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์จึงเป็นความรับผิดอันเกิดจากสัญญา ซึ่งสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาให้บริการทางการแพทย์ อันเป็นเอกเทศสัญญาประเภทหนึ่ง มิใช่เรื่องของสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 จึงมิได้ถือเอาอายุความ 1 ปี นับแต่วันการชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้นตามมาตรา 601 มาใช้บังคับ ดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง แต่เป็นเรื่องที่มิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์อ้างว่า หลังจากโจทก์เข้าทำศัลยกรรมกับจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ผลการผ่าตัดโจทก์มีอาการอักเสบ บวมแดง ขมับสองข้างมีอาการชา หางตาทั้งสองข้างตึง แก้มสองข้างไม่เท่ากัน มีรอยแผลเป็นที่หลังหู ใบหน้าคล้อย มุมปากตก เหนียงคอห้อย ไม่เป็นไปตามที่จำเลยที่ 1 โฆษณา โดยไม่ปรากฏวันที่แน่ชัดว่าโจทก์ทราบเรื่องรอยแผลเป็นเมื่อใด จึงถือว่าโจทก์ทราบผลของการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 19 มิถุนายน 2562 ซึ่งยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และกรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่จะต้องถือเอาอายุความในคดีอาญามาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงรายละเอียดที่ไม่ทำให้ผลแห่งคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ได้ความเป็นที่ยุติว่า จำเลยที่ 1 เผยแพร่โครงการ ฟ. โดยใช้สถานที่โรงพยาบาลเฉพาะทางศัลยกรรมตกแต่งกมลของจำเลยที่ 3 เป็นสถานที่ในการโฆษณาโครงการของจำเลยที่ 1 และสถานที่ถ่ายทำวิดีโอคลิป ดังปรากฏตามภาพถ่ายโรงพยาบาลและภาพถ่ายของจำเลยที่ 1 และผู้เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ยังปรากฏตามภาพข่าวในหนังสือของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งปรากฏคำให้สัมภาษณ์ของนายสุรชัย นักร้องลูกทุ่งที่ถือว่าเป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ให้คำปรึกษาร่วมกันให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการผ่าตัดศัลยกรรมในโครงการ ฟ. ของจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ถูกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเปรียบเทียบปรับ ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวจริง เมื่อพิจารณาประกอบกับจำเลยที่ 3 ประกอบธุรกิจเป็นโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งเฉพาะทาง มิใช่โรงพยาบาลที่รับรักษาโรคทั่วไป แม้จำเลยที่ 3 จะอ้างว่า จำเลยที่ 3 มีเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์กิจการของจำเลยที่ 3 เองอยู่แล้วก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 ก็ย่อมทราบอยู่แล้วว่า จำเลยที่ 3 ไม่อาจจูงใจหรือชักชวนผู้ป่วยให้เข้ารับบริการเพื่อประโยชน์ของตนได้ เพราะจะขัดกับข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 ซึ่งในข้อนี้นายอิศรา พยานจำเลยที่ 3 และที่ 4 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ใช่สถานพยาบาล ก็ไม่ต้องขออนุญาตในการโฆษณาจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น จำเลยที่ 3 จึงต้องอาศัยช่องทางหลบเลี่ยงโดยการจัดตั้งกลุ่มบุคคลเพื่อทำหน้าที่ในการโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ารับบริการทางการแพทย์จากจำเลยที่ 3 เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้ยังปรากฏจากการติดต่อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทางแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ชี้แจงรายละเอียดของการผ่าตัดและราคาผ่าตัด ต่าง ๆ มีการปรับเพิ่มรายการผ่าตัด เสนอส่วนลดแก่ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ และยังกำหนดวันผ่าตัดให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการได้โดยไม่ต้องสอบถามโรงพยาบาลจำเลยที่ 3 แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจในการตัดสินใจในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารกิจการของจำเลยที่ 3 ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 อ้างว่า นายอิศรา พยานจำเลยที่ 3 และที่ 4 เบิกความว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้โรงพยาบาลของจำเลยที่ 3 เป็นสถานที่ถ่ายทำคลิปโฆษณา และก่อนที่โจทก์จะเข้ารับการผ่าตัดในคดีนี้ จำเลยที่ 3 ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ถ่ายภาพโรงพยาบาลเฉพาะทางศัลยกรรมตกแต่งกมลของจำเลยที่ 3 นำไปทำเป็นวิดีโอคลิปโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 3 แล้วมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับเว็บไซต์ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ตกลงที่จะหยุดการกระทำซึ่งละเมิดต่อจำเลยที่ 3 แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าหลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งตัวโจทก์ไปเข้ารับการผ่าตัด ทางโรงพยาบาลของจำเลยที่ 3 ก็รับตัวโจทก์ไว้ผ่าตัดทันที โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้ตรวจสอบการโฆษณาของจำเลยที่ 1 ว่ายังคงละเมิดสิทธิของจำเลยที่ 3 หรือไม่ รวมทั้งไม่ปรากฏว่ามีการคิดค่าใช้จ่ายและเรียกเก็บค่าผ่าตัดศัลยกรรมในส่วนที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บไว้ก่อนแล้วแต่ประการใด คงมีแต่การคิดค่าผ่าตัดส่วนที่จำเลยที่ 3 ดำเนินการเพิ่มเติมให้เท่านั้น จึงเชื่อว่าการที่จำเลยที่ 3 ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงการหาช่องทางไว้ต่อสู้คดีหากถูกผู้เข้ารับการผ่าตัดฟ้องร้องให้ร่วมรับผิดในการโฆษณาของจำเลยที่ 1 มากกว่าประสงค์จะบังคับคดีตามคำพิพากษากับจำเลยที่ 1 อย่างจริงจัง ดังนั้น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงมิใช่พยานหลักฐานที่จะชี้ให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีผลประโยชน์จากการโฆษณาร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 4 นั้น แม้จำเลยที่ 4 จะนำสืบในทำนองว่า จำเลยที่ 4 เป็นเพียงลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่ปรากฏว่านอกจากจำเลยที่ 4 ได้รับเงินเดือนแล้ว จำเลยที่ 4 ยังได้รับค่าตอบแทนแพทย์ในแต่ละรายการผ่าตัดด้วย และได้ความจากนายอิศรา พยานจำเลยที่ 3 และที่ 4 เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า นางศิริเพ็ญภริยาของจำเลยที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้นในโรงพยาบาลจำเลยที่ 3 นางศิริเพ็ญเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ในการรับเงินนั้นนอกจากมีการโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 แล้ว ยังมีการโอนเงินเข้าบัญชีของนางศิริเพ็ญโดยตรงอีกด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏตามภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ในสำนวนของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพซึ่งปรากฏคำให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 4 ที่ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนในลักษณะสนับสนุนโครงการ ฟ. ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ยังเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่นายสุรชัยก่อนเข้ารับการผ่าตัดในโครงการของจำเลยที่ 1 อีกด้วย ซึ่งหากมีประชาชนสนใจเข้าร่วมโครงการของจำเลยที่ 1 มาก จำเลยที่ 4 และนางศิริเพ็ญ ก็จะได้รับผลตอบแทนจากการผ่าตัดเป็นจำนวนมากเช่นกัน จึงแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการ ฟ. ของจำเลยที่ 1 อีกด้วย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ดำเนินโครงการโดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีผลประโยชน์ร่วมกันอันมีลักษณะเป็นหุ้นส่วนกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวแก่โจทก์ นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 มิถุนายน 2562) เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มอัตราร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ