โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 412,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 320,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 55,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันที่ 30 เมษายน 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน คืนค่าใช้จ่ายในการส่งคำคู่ความ 600 บาท ให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นผู้อำนวยการโครงการ ฟ. ซึ่งเป็นโครงการให้คำปรึกษาแก่ผู้ต้องการทำศัลยกรรม อำนวยความสะดวก ให้คำแนะนำ และประสานงานกับโรงพยาบาลที่จะทำศัลยกรรมหรือศัลยแพทย์ที่เหมาะสมให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำเลยสมัครเข้าร่วมโครงการ ฟ. โดยเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 จำเลยให้บุตรสาวของจำเลยโอนเงินจองคิวศัลยกรรมเข้าบัญชีธนาคาร ก. ชื่อบัญชี โครงการ ฟ. เลขที่ 391 – 1 – 05XXX – X จำนวน 50,000 บาท วันที่ 15 มีนาคม 2561 จำเลยชำระค่าผ่าตัดเป็นเงินสดแก่โครงการ 200,000 บาท และค่าตรวจสุขภาพ 15,000 บาท โดยโจทก์เป็นผู้รับเงินไว้ จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาการผ่อนชำระเงินค่าทำศัลยกรรมและค่าตอบแทนให้ไว้แก่โจทก์ วันที่ 22 มีนาคม 2561 โจทก์ดำเนินการให้จำเลยได้รับการผ่าตัดโดยแพทย์ของโรงพยาบาล ศ. หลังการผ่าตัดผ่านไประยะหนึ่งจำเลยเห็นว่าผลที่ได้รับไม่ทำให้ใบหน้าของจำเลยดีขึ้น แต่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายโดยใบหน้าผิดรูปและมีอาการเจ็บที่ใบหน้า จำเลยจึงฟ้องโจทก์และ ซ. กับพวกรวม 4 คน ให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่จำเลยฐานละเมิดเป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ 3657/2562 ของศาลแพ่ง ซึ่งโจทก์เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ศาลแพ่งมีคำพิพากษายกฟ้องตามคดีหมายเลขแดงที่ ผบ 4426/2563 ขณะฟ้องคดีนี้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างอุทธรณ์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยต้องชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีสืบเนื่องมาจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำเลยสมัครเข้าร่วมโครงการ ฟ. ซึ่งเป็นโครงการให้คำปรึกษาแก่ผู้ต้องการทำศัลยกรรม อำนวยความสะดวก ให้คำแนะนำ และประสานงานกับโรงพยาบาลที่จะทำศัลยกรรมหรือศัลยแพทย์ที่เหมาะสมให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ โดยจำเลยชำระค่าผ่าตัดเป็นเงินสดแก่โครงการฯ 200,000 บาท และค่าตรวจสุขภาพ 15,000 บาท มีโจทก์เป็นผู้รับเงินไว้ ส่วนค่าบริการในการทำศัลยกรรมดึงคอซึ่งโครงการฯ คิดค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 120,000 บาท และค่าทำศัลยกรรมในการนำไขมันจากหน้าท้องมาเติมที่แก้มเป็นเงิน 80,000 บาท จำเลยตกลงผ่อนชำระกับทางโครงการ ฯ โดยได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาการผ่อนชำระเงินค่าทำศัลยกรรมและค่าตอบแทนไว้ ซึ่งในข้อนี้ ซ. พยานโจทก์เบิกความว่า กรณีที่มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ทางโครงการฯ จะคิดค่าผ่าตัดตามความต้องการของผู้ที่สนใจ หากผู้สนใจไม่มีเงินชำระค่าผ่าตัดเต็มจำนวน โครงการฯ จะให้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมสนับสนุนเงินทุนเพื่อทำศัลยกรรม โดยโจทก์ซึ่งเป็นผู้ดูแลด้านการเงินของโครงการฯ เป็นผู้พิจารณาว่าสมควรให้การสนับสนุนแก่ผู้สนใจรายใด เนื่องจากพยานเป็นผู้มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีในด้านการเงิน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าเงินที่จำเลยทำสัญญาผ่อนชำระไว้ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นเงินค่าใช้จ่ายที่จำเลยต้องชำระในโครงการ ฟ. ดังนั้น แม้โจทก์จะมีชื่อเป็นคู่สัญญาในเอกสารการผ่อนชำระเงินค่าทำศัลยกรรมดังกล่าว แต่ก็ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงต่อไปว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวในฐานะใด ซึ่งในข้อนี้โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความอ้างว่า โจทก์เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการ ฟ. จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการ โดยโจทก์เป็นผู้พิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่จำเลยด้วยการให้จำเลยผ่อนชำระเงินค่าทำศัลยกรรมดังกล่าว ซึ่งโจทก์ทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการสนับสนุนเงินทุนเพื่อทำศัลยกรรมกับ ซ. โดยมี ซ. เบิกความสนับสนุนว่ามีการทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์กันไว้จริงตามสัญญาแบ่งผลประโยชน์เอกสารหมาย จ.11 อันเป็นการนำสืบพยานหลักฐานในทำนองว่า โจทก์เป็นหุ้นส่วนร่วมกันประกอบกิจการในโครงการ ฟ. แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ 4426/2563 ซึ่งจำเลยฟ้องโจทก์ในคดีนี้ว่าร่วมกับพวกกระทำละเมิดต่อโจทก์ ในคดีดังกล่าวโจทก์เบิกความว่า โจทก์ทำงานในโครงการ ฟ. ในฐานะเป็นลูกจ้างของโครงการ ตรงกับที่โจทก์เบิกความไว้ในคดีหมายเลขดำที่ ผบ 1174/2563 ตามสำเนาคำเบิกความที่ระบุว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของโครงการโดยได้รับเงินเดือน เดือนละ 40,000 บาท และข้อเท็จจริงดังกล่าวยังตรงกับคำเบิกความของโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ. 1679/2563 คำเบิกความในคดีหมายเลขแดงที่ 965/2563 คำเบิกความในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.1174/2563 นอกจากนี้ยังปรากฏตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ 11677/2562 ระหว่าง ว. โจทก์ ก. ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน จำเลย (ซ. เป็นจำเลยที่ 3 ส่วนโจทก์เป็นจำเลยที่ 4) ซึ่งคดีดังกล่าว ว. เป็นผู้เสียหายคนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการ ฟ. ของ ซ. เช่นเดียวกับจำเลยในคดีนี้ ซึ่งปรากฏตามบันทึกคำเบิกความของโจทก์ในคดีดังกล่าวว่า โจทก์เป็นเพียงลูกจ้างในโครงการ ฟ. โดยเป็นผู้อำนวยการโครงการและมีหน้าที่จัดทำเว็บไซต์ของโครงการและทำหน้าที่ด้านการเงินเท่านั้น ซึ่งคำเบิกความของโจทก์และผลของคำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันโจทก์ว่าโจทก์เป็นเพียงลูกจ้างในโครงการ ฟ. โดยทำหน้าที่ในด้านการเงิน และเป็นผู้เปิดบัญชีรับโอนเงินกับรับทำสัญญาผ่อนชำระหนี้ในโครงการดังกล่าวแทน ซ. เท่านั้น ส่วนหนังสือสัญญาแบ่งผลประโยชน์เอกสารหมาย จ.11 นั้น โจทก์เพิ่งยกเอกสารดังกล่าวเป็นพยานในคดีนี้ ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวขัดกับคำให้การและคำเบิกความในคดีก่อน โดยโจทก์มิได้นำสืบเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลในคดีดังกล่าวข้างต้นมาก่อน จึงเชื่อว่าเอกสารหมาย จ.11 มีการจัดทำขึ้นในภายหลังเพื่อผลประโยชน์ในการฟ้องคดีเรียกร้องเงินตามสัญญาผ่อนชำระหนี้จากลูกหนี้ในโครงการเท่านั้น อีกทั้ง โจทก์เองยังเบิกความว่า โจทก์ได้รับมอบอำนาจจาก ซ. ให้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.12 อันเป็นข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย จ.11 อีกด้วย จึงไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวได้ ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งที่จำเลยฟ้องโจทก์กับพวกให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.4426/2563 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความในคดีนี้นั้น แต่คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะเห็นว่าการกระทำของโจทก์กับพวกซึ่งเป็นจำเลยในคดีนั้นไม่เป็นการทำละเมิด โดยมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างหรือเป็นหุ้นส่วนกับ ซ. อันเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้หรือไม่ ผลของคำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์และจำเลยในคดีนี้ ซึ่งจำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้ด้วยว่า โจทก์เบิกความเท็จต่อศาลไว้ในคดีที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอื่นว่า โจทก์เป็นเพียงลูกจ้าง ไม่มีส่วนได้เสียในโครงการ ฟ. และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ อันเป็นการยกข้อต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ไว้ในคดีนี้แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเพียงลูกจ้างในโครงการ ฟ. ของ ซ. การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาการผ่อนชำระเงินค่าทำศัลยกรรมและค่าตอบแทนไว้ จึงเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะตัวแทนของ ซ. เท่านั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมิได้ระบุว่ากระทำในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจาก ซ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาที่แท้จริง โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะส่วนตัว โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะผู้ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ที่จะใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลย สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยได้รับยกเว้นนั้น ให้โจทก์ชำระต่อศาลในนามของจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 12,000 บาท