โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 และริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง, 73 จำคุก 1 เดือน และปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐานจึงไม่ลดโทษให้ โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 รถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงจึงไม่ริบ
โจทก์อุทธรณ์ โดยรองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญาธนบุรี ซึ่งปฏิบัติราชการในหน้าที่อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 7 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง ภายในระยะเวลาดังกล่าว และให้จำเลยทำงานบริการสังคมตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่จำเลยฎีกาประการแรกว่า รถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเพราะรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางมิใช่ทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดโดยสภาพ และพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 เป็นเพียงบทบัญญัติให้ลงโทษจำเลยมิได้มุ่งถึงตัวทรัพย์แต่อย่างใดนั้น เห็นว่า คดีโจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกทรายซึ่งมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 และขอให้ศาลสั่งริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลาง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องและคดีไม่จำต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ จึงฟังได้ว่าจำเลยได้ใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย รถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) แม้พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 มิได้บัญญัติถึงการริบของกลางไว้แต่ก็มิได้บัญญัติถึงเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น จึงนำมาตรา 33 มาใช้บังคับได้ตามมาตรา 17 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้วินิจฉัยว่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดและการริบเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์หรือไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ย่อมเห็นแล้วว่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดซึ่งโจทก์ขอให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดและระบุบทกฎหมาย ก็ไม่ทำให้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ชอบ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"
พิพากษายืน