โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 264, 265, 268, 341
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ ต่อมาจำเลยขอถอนคำให้การดังกล่าวและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา บริษัท ฟ. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 265, (ที่ถูก และ 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก, 265, 341) 341 ประกอบมาตรา 80 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานปลอมเอกสาร ฐานปลอมเอกสารสิทธิ ฐานใช้เอกสารปลอม ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ฐานฉ้อโกง และฐานพยายามฉ้อโกงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานปลอมเอกสารสิทธิ (ที่ถูก และฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมนั้น ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 แต่เพียงกระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวม 11 กระทง เป็นจำคุก 11 ปี 66 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปีรวม 4 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อแรกมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยที่ว่า โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยนั้น เห็นว่า จำเลยอุทธรณ์ประเด็นที่ว่า โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยมีรายละเอียดว่า โจทก์ร่วมรู้เห็นในการกระทำความผิดของจำเลยมาโดยตลอดเนื่องจากโจทก์ร่วมเป็นผู้ลงนามในเอกสารการเรียกเก็บเงินไปยังสำนักงานประกันสังคมทุกครั้ง ถือว่าโจทก์ร่วมมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยด้วย ซึ่งการวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องย้อนไปวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยตามที่จำเลยอุทธรณ์หรือไม่ อุทธรณ์จำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายที่จำเลยกล่าวอ้าง มิใช่อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพโดยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ การที่จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงนั้นในชั้นอุทธรณ์เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นนอกจากที่จำเลยให้การรับสารภาพ จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ อันไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยเพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมข้อต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิด 11 กระทง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยโจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำต่อผู้ประกันตนในวันแรก 5 คน วันที่สอง 1 คน วันที่สาม 3 คน และวันที่สี่ 2 คน รวม 11 คน ย่อมเป็นความผิดสำเร็จในตัวของแต่ละคนและอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพจึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดรวม 11 กระทง ตามจำนวนผู้ประกันตนที่จำเลยปลอมเอกสารว่ามาใช้บริการที่คลินิกของโจทก์ร่วม และโจทก์ร่วมฎีกาว่า การกระทำความผิดของจำเลยมีลักษณะเป็นการก่อเหตุหลายครั้งมีเจตนาให้เกิดผลที่แยกกันเป็นครั้ง ๆ ไป การกระทำของจำเลยครั้งหนึ่งก็เป็นความผิดสำเร็จตามจำนวนผู้ประกันตนที่เป็นผู้มาใช้บริการที่คลินิกของโจทก์ร่วมแล้ว นั้น เห็นว่า แม้จำเลยปลอมเอกสารผู้ประกันตนหลายคนในวันเดียวต่างวาระกันก็ตาม แต่โดยสภาพแห่งการกระทำความผิดอาจปลอมเอกสารของบุคคลหลายคนในวันเดียวต่างวาระกันได้ ดังนี้ การกระทำความผิดในแต่ละวันเกิดเหตุจะเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่จำเลยมีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อผู้เสียหายเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากจำนวนของผู้ประกันตนที่ถูกปลอมเอกสารแต่ละคนเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า วันเกิดเหตุแต่ละวัน จำเลยทำเอกสารและเอกสารสิทธิปลอม แล้วจำเลยนำเอกสารที่ทำปลอมดังกล่าวไปใช้แสดงเพื่อฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกงโจทก์ร่วม ดังนี้ เห็นได้ว่าจำเลยทำเอกสารและเอกสารสิทธิปลอมเพื่อจะนำไปใช้ฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกงโจทก์ร่วม อันเป็นการกระทำต่อเนื่องด้วยเจตนาเดียวเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าผู้ประกันตนได้รับบริการทางการแพทย์และคลินิกมีรายได้จากการบริการทางการแพทย์จากบุคคลดังกล่าว การกระทำของจำเลยแต่ละวันเกิดเหตุจึงเป็นความผิดกรรมเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดเพียง 4 กระทงนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ร่วมข้อต่อไปว่า โทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดมานั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจว่า มูลเหตุที่จำเลยกระทำความผิดครั้งนี้เกิดจากคลินิกของโจทก์ร่วมได้ว่าจ้างทันตแพทย์ประจำและทันตแพทย์ชั่วคราวเป็นรายวัน โดยให้เงินค่าจ้างร้อยละ 50 ของรายได้คลินิกในแต่ละวัน และประกันรายได้ให้ไม่ต่ำกว่าวันละ 3,000 บาท แต่จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝึกหัดไม่ทำหน้าที่บริหารเวลาให้คลินิกของโจทก์ร่วมมีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 6,000 บาท จนโจทก์ร่วมภาคทัณฑ์จำเลยว่า หากมีการทำรายได้ต่ำกว่าวันละ 6,000 บาทโดยเกิดจากที่จำเลยไม่ยอมใช้โทรศัพท์ติดต่อยืนยันนัดหมายกับคนไข้ โจทก์ร่วมจะหักเงินจำเลยวันละ 500 บาท และหากรายได้ของคลินิกต่ำกว่า 6,000 บาท ต่อวัน และรายได้ต่อเดือนของคลินิกต่ำกว่า 1,000,000 บาท จำเลยจะไม่ได้รับค่าคอมมิชชั่น ทั้งค่าคอมมิชชั่นที่จำเลยจะได้รับเป็นเงินเพียง 24.75 บาท ดังนี้ การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายเพื่อให้โจทก์ร่วมมีรายได้ในแต่ละวันและแต่ละเดือนตามที่โจทก์ร่วมต้องการ มิใช่เป็นการแสวงหาประโยชน์สำหรับจำเลยเอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี ก่อนลดโทษเป็นการเหมาะสมแก่สภาพความผิดของจำเลยแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงโทษจำคุก ฎีกาโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อต่อไปว่า มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้จัดการฝึกหัด ซึ่งต้องบริหารเวลาให้มีคนไข้ไปใช้บริการคลินิกโจทก์ร่วมให้มีรายได้ต่อวันไม่ต่ำกว่าวันละ 6,000 บาท โดยใช้โทรศัพท์ติดต่อยืนยันการนัดหมายกับคนไข้ก่อนวันนัด1 วัน หากมีลูกค้ายกเลิกนัด จำเลยต้องใช้โทรศัพท์ติดต่อนัดหมายลูกค้ารายอื่นเข้าไปใช้บริการแทน แต่จำเลยกลับไม่ปฏิบัติตามที่โจทก์ร่วมมอบหมาย โดยอาศัยโอกาสที่จำเลยมีหน้าที่ด้านการเงิน จัดทำเวชระเบียน รับบัตรประจำตัวประชาชนของคนไข้ ออกใบเสร็จรับเงินและออกเอกสารแบบแสดงการใช้สิทธิบริการทางการแพทย์กรณีทันตกรรม ปลอมใบแจ้งค่ารักษารายการรักษาทันตกรรม สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประกันตน และแบบแสดงการใช้สิทธิบริการทางการแพทย์กรณีทันตกรรม แล้วนำเอกสารและเอกสารสิทธิที่ทำปลอมดังกล่าวไปใช้เพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าผู้ประกันตนได้รับบริการทางการแพทย์และคลินิกมีรายได้จากการบริการทางการแพทย์จากบุคคลดังกล่าว ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสียงในการประกอบกิจการกับเป็นเหตุให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานีบอกเลิกบันทึกข้อตกลงการร่วมเป็นสถานพยาบาลในการให้บริการทางการแพทย์กรณีทันตกรรมแก่ผู้ประกันตนกับคลินิกทันตกรรมของโจทก์ร่วมตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไป ทั้งยังทำให้สำนักงานประกันสังคมและผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมได้รับความเสียหายอีกด้วย กรณีจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและเป็นเสาหลักในการเลี้ยงดูครอบครัว ก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน