โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 175, 177
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา ให้จำคุก 2 ปี และฐานเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล ให้จำคุก 2 ปี รวมเป็นจำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา ให้จำคุก 1 ปี และฐานเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล ให้จำคุก 1 ปี รวมเป็นจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เลขที่ 3153 เนื้อที่ 29 ไร่ มีชื่อจำเลยเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 เวลากลางวัน จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2192/2562 ว่าโจทก์บุกรุกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของจำเลยด้วยการนำพันธุ์ข้าวไปหว่านในที่ดินพิพาทเต็มทั้งแปลง ขอให้ลงโทษโจทก์ในความผิดฐานบุกรุก ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2562 เวลากลางวัน จำเลยเบิกความเป็นพยานในคดีดังกล่าวต่อศาลว่า "ข้าฯ กับครอบครัวเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ด้วยการทำนาเต็มทั้งแปลงด้วยตนเอง และบางปี ข้าฯ ก็ได้มอบสิทธิให้บุคคลอื่นเช่าทำนาแทนตลอดมา" ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ คดีเห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดข้อหาเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา และข้อหาเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 และ 177 โดยบรรยายฟ้องต่อเนื่องกัน แต่ในความผิดข้อหาเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า คำเบิกความของจำเลยเป็นความเท็จอย่างไรเท่านั้น ส่วนความจริงเป็นอย่างไรไม่ได้บรรยายไว้ เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี... (5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี" การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 เวลากลางวัน จำเลยซึ่งทราบอยู่แล้วว่าที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เลขที่ 3153 เป็นของโจทก์ แต่จำเลยนำความเท็จมาฟ้องต่อศาลชั้นต้นตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2192/2562 ว่า เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2562 เวลากลางวัน โจทก์บุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าวของจำเลย ด้วยการนำพันธุ์ข้าวไปหว่านในที่ดินพิพาทเต็มทั้งแปลง ความจริงแล้วจำเลยได้ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นายบุญเรือน ต่อมานายบุญเรือนขายที่ดินพิพาทให้แก่นางอำพรหรืออ่ำ และโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2562 เวลากลางวัน จำเลยเบิกความเป็นพยานต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญาดังกล่าวข้างต้นว่า "ข้าฯ กับครอบครัวเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน... ด้วยการทำนาเต็มทั้งแปลงด้วยตนเอง และบางปี ข้าฯ ก็ได้มอบสิทธิให้บุคคลอื่นเช่าทำนาตลอดมา..." ซึ่งเป็นความเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดี ดังนี้ จึงเห็นได้ว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดข้อหาเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 โดยกล่าวถึงข้อความซึ่งอ้างว่าจำเลยเอาความอันเป็นเท็จฟ้องโจทก์ต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา และได้บรรยายฟ้องให้เห็นด้วยว่าความจริงเป็นประการใด แล้วต่อมาโจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องต่อเนื่องเชื่อมโยงกับข้อหาเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง ซึ่งในข้อหานี้ โจทก์ได้กล่าวถึงข้อความซึ่งอ้างว่าจำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาลไว้ด้วยแล้ว เช่นนี้ แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าความจริงเป็นประการใด แต่อย่างไรก็ดี เมื่อได้อ่านคำฟ้องโดยรวมทั้งหมดแล้ว ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า ความจริงดังกล่าวก็เป็นเรื่องเดียวกันกับที่โจทก์บรรยายฟ้องให้เห็นว่าความจริงเป็นประการใดในข้อหาเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 กล่าวคือ ความจริงแล้วจำเลยได้ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นายบุญเรือน ต่อมานายบุญเรือนขายที่ดินพิพาทให้แก่นางอำพรหรืออ่ำ และโจทก์ การที่จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177 วรรคสอง จำเลยยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น หลังจากนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษา จำเลยได้ยื่นฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้ฎีกาว่าจำเลยไม่เข้าใจฟ้องของโจทก์ในข้อหาเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาลไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เช่นนี้ จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้แต่อย่างใด ดังนั้น คำฟ้องโจทก์ในข้อหาเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ นั้น เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความประกอบหนังสือสัญญาซื้อขายสอดคล้องทำนองเดียวกันว่าได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทจากนายบุญเรือนและนางดวน นายบุญเรือนมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ของที่ดินพิพาทให้พยานโจทก์ทั้งสองยึดถือไว้ และส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาท จากนั้นพยานโจทก์ทั้งสองเข้าทำประโยชน์ในที่ดินด้วยการทำนาปลูกข้าวตลอดมา ข้อนี้จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าพยานโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายบุญเรือนและนางดวนจริง โจทก์ยังเบิกความว่าจำเลยได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายบุญเรือนและนางดวนไปแล้ว ทั้งได้มอบต้นฉบับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้แก่นายบุญเรือนและนางดวนด้วยเพียงแต่ไม่ทราบว่านายบุญเรือนซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยเมื่อปีใด ข้อนี้จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากนายเขียน 340,000 บาท เพื่อนำมาเป็นทุนในการศึกษาแก่บุตร ในหนังสือสัญญากู้ระบุชื่อนางดวนเป็นผู้ให้กู้ มาทราบภายหลังว่าเป็นภริยาของนายเขียน และเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2526 จากนั้นในปี 2546 จึงนำไปจำนำไว้แก่นายเขียนหรือบุญเรือน แล้วนายเขียนได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ด้วยการทำนา อันเป็นการอ้างว่าจำเลยกู้เงินจากนายเขียนโดยนำหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ของที่ดินพิพาทให้นายเขียนยึดถือไว้เป็นประกัน มิใช่เป็นการซื้อขายที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่า แม้โจทก์ไม่มีนายบุญเรือนหรือนางดวนมาเบิกความยืนยันว่า นายบุญเรือนหรือนางดวนซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยก็ตาม แต่จำเลยรับว่านายบุญเรือนได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่มีการทำหนังสือสัญญากู้เงินกับจำเลยเมื่อปี 2546 โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยมาติดต่อนายบุญเรือนเพื่อชำระหนี้เงินกู้และขอหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ของที่ดินพิพาทคืนแต่อย่างใด จำเลยเพิ่งมากล่าวอ้างว่าได้ติดต่อขอซื้อที่ดินพิพาทคืนจากนายบุญเรือนในปี 2562 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากทำสัญญากู้เงินแล้วถึงประมาณ 16 ปี จึงมีพิรุธ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่นายบุญเรือน ดังจะเห็นได้จากเมื่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีหนังสือแจ้งจำเลยมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการถือครองที่ดินพิพาท แต่จำเลยไม่มาชี้แจงข้อเท็จจริงตามแบบตรวจสอบการถือครอง กรณีแปลงที่ดินที่ได้มีการจัดที่ดินแล้ว จำเลยกลับมาว่าจ้างคนเข้าไปไถนาในที่ดินพิพาทภายหลังได้รับแจ้งจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าถ้าไม่เข้าทำประโยชน์จะสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาท แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทมานานแล้ว อีกทั้งก่อนจำเลยฟ้องโจทก์ในความผิดฐานบุกรุก จำเลยไปลงบันทึกประจำวันยอมรับว่านายสาทร สามีจำเลยได้ขายสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่นายเขียนโดยให้นายเขียนเข้าทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา ต่อมานายเขียนขายสิทธิในที่ดินพิพาทให้นางอำพร เจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายบุญเรือน สามีนางดวนตั้งแต่ปี 2546 แล้ว หาใช่เป็นการนำที่ดินพิพาทไปเป็นประกันเงินกู้ตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้เงินดังที่จำเลยนำสืบไม่ การที่จำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทให้นายบุญเรือนครอบครองทำประโยชน์ ถือได้ว่าจำเลยได้สละสิทธิทำกินในที่ดินพิพาท มีผลให้จำเลยสิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยจึงรู้อยู่แล้วว่าจำเลยสิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นายบุญเรือน การที่จำเลยกลับมาอ้างสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ฟ้องขอให้ลงโทษโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายบุญเรือนและนางดวน จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ส่วนโจทก์จะได้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ ย่อมเป็นอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่จะต้องพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ดังนั้น ที่จำเลยฟ้องโจทก์ในความผิดฐานบุกรุก จึงเป็นการเอาความอันเป็นเท็จมาฟ้องโจทก์ต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่ายังมีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงใช้สิทธิฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งและคดีอาญานั้นฟังไม่ขึ้น ทั้งข้อความที่จำเลยเบิกความยืนยันว่าจำเลยและครอบครัวครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทในฐานะผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วโจทก์และนางอำพรเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินและไม่ได้บุกรุกที่ดินพิพาทดังที่จำเลยเบิกความ ซึ่งหากศาลเชื่อว่าโจทก์กระทำความผิดจริง ศาลอาจพิพากษาลงโทษโจทก์ ทำให้โจทก์เสื่อมเสียต่อชื่อเสียงและเสรีภาพ การเบิกความเท็จของจำเลยจึงเป็นข้อสำคัญในการพิจารณาคดีอาญา การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา และฐานเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาลมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดโทษจำคุกแก่จำเลยมานั้น หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า ความผิดฐานเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญาและฐานเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล กฎหมายมิเพียงแต่จะคุ้มครองสิทธิของคู่ความในคดี แต่ยังมุ่งคุ้มครองกระบวนพิจารณาคดีของศาลเพื่อให้ศาลสามารถวินิจฉัยคดีได้อย่างถูกต้องเที่ยงธรรมอีกด้วย ทั้งเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมซึ่งเป็นความผิดต่อรัฐ การกระทำความผิดของจำเลยจึงไม่เพียงแต่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ยังทำให้การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีของศาลผิดไปจากความเป็นจริง พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน หรือมีเหตุอื่นตามที่จำเลยอ้างในฎีกา ก็ไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รอการลงโทษให้จำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา ให้จำคุก 6 เดือน และฐานเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล ให้จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4