คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ยืมเงิน และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมกันชำระเงิน 3,431,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองต่างให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,431,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ และยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์พร้อมวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 แล้วต่อมาศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ให้ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 แล้วมีคำสั่งต่อไป ศาลชั้นต้นพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลแล้วมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาและฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา ยกคำร้องและไม่รับฎีกาของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอรับเงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ในศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้วางต่อศาลพร้อมอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 คืน อ้างว่าศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์และวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ เป็นการวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนจำเลยที่ 1 ที่ได้ยื่นอุทธรณ์ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจขอรับคืนได้ ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิรับเงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนที่วางไว้ต่อศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์คืนหรือไม่ เห็นว่า เงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ต้องวางต่อศาลพร้อมอุทธรณ์นั้นเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์และมูลความแห่งคดีนี้เป็นการชำระหนี้อันแบ่งแยกมิได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมคนหนึ่งได้นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาลครบถ้วนแล้ว จึงมีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วยจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์ในการยื่นอุทธรณ์อีกเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำซ้อนเท่านั้น หาใช่เป็นการที่จำเลยที่ 2 วางเงินแทนจำเลยที่ 1 ไม่ และเงินค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าวเป็นเพียงเงินที่วางไว้เพื่อเป็นประกันว่า หากในที่สุดศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้อุทธรณ์ต้องรับผิดชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนคู่ความที่ชนะคดีแล้วผู้ชนะคดีจะมีสิทธิได้รับค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้ออกใช้ก่อนจากเงินที่ผู้อุทธรณ์วางไว้ หาใช่เป็นการวางเพื่อชำระหนี้แก่คู่ความฝ่ายชนะคดีในศาลชั้นต้นไม่ จึงต้องถือว่าเงินดังกล่าวยังเป็นของผู้อุทธรณ์ เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 2 ชนะคดี และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยที่ 2 ก็ชอบที่จะร้องขอให้คืนเงินที่วางนั้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้คืนเงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนที่จำเลยที่ 2 นำมาวางไว้แก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ