ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ละเมิดของข้าราชการปฏิบัติหน้าที่: ความรับผิดของกรมในฐานะผู้แทนและขอบเขตการใช้กฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
จำเลยที่ 1 เป็นอาจารย์สอนวิชาสุขศึกษาทราบอยู่แล้วว่าผู้ตายป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาและมีอาการเหนื่อยง่าย การที่จำเลยที่ 1 สั่งทำโทษผู้ตายซึ่งเป็นนักเรียนโดยให้ผู้ตายทำสก็อตจัมพ์(กระโดดขึ้นลง) จำนวน 100 ครั้ง จึงเป็นการสั่งทำโทษที่เกินกว่าเหตุ ทั้งขณะที่ผู้ตายทำสก็อตจัมพ์จำเลยที่ 1 ก็ไม่สนใจดูแลผู้ตายอย่างใกล้ชิดเพื่อดูว่า ผู้ตายจะรับการลงโทษดังกล่าวได้หรือไม่ และเมื่อผู้ตายทำสก็อตจัมพ์เสร็จแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ออกจากห้องเรียนไปโดยไม่สนใจดูแลว่าผู้ตายจะเป็นอย่างไร ผู้ตายมีอาการหายใจไม่ออกและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ดังนี้ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ตาย
จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณแผ่นดินอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาล ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เข้าสอนในชั้นเรียนของผู้ตายและสั่งลงโทษผู้ตายจึงเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ อย่างหนึ่งและมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ตาย จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อ ความเสียหายนั้นให้แก่โจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2539 แต่ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 ดังนั้น ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาลจึงจัดอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง มิใช่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539