โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 70,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 70,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นบิดาของนายอุทร นาเขียว ส่วนจำเลยเป็นมารดาของนางสาวบัวลอย กันยาประสิทธิ์ นางสาวบัวลอยเกิดวันที่ 11 ธันวาคม 2524 ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 โจทก์และจำเลยจัดพิธีแต่งงานมีการหมั้นโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทราบว่านางสาวบัวลอยอายุยังไม่ครบ 17 ปี ส่วนการหมั้นมีของหมั้นเป็นสร้อยคอทองคำพร้อมจี้และสินสอดเป็นเงินสด นายอุทรกับนางสาวบัวลอยอยู่กินฉันสามีภริยากันได้ 3 วัน ก็เลิกการอยู่กินด้วยกันและโจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงว่าจำเลยตกลงคืนเงินสินสอดจำนวน 60,000 บาท และของหมั้นสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท พร้อมจี้ทองคำให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 26 พฤษภาคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ.1 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 มีผลใช้บังคับได้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ขณะแต่งงานนางสาวบัวลอยอายุ 14 ปีเศษ เป็นการขัดต่อกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ เท่ากับว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่มีผลบังคับได้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ในขณะที่นายอุทรทำการหมั้นกับนางสาวบัวลอยนั้นนางสาวบัวลอยอายุยังไม่ครบ 17 ปี บริบูรณ์ โดยมีอายุเพียง 15 ปีเศษ การหมั้นดังกล่าวจึงฝ่าฝืนบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1435 วรรคหนึ่ง ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1435 วรรคสอง นอกจากนี้มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่านางสาวบัวลอยอายุไม่ครบ 17 ปี จำเลยและนางสาวบัวลอยจึงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 412 และ 413 โดยจะถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามอำเภอใจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 หาได้ไม่ ดังนั้น บันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 จึงมีมูลและใช้บังคับได้ หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไป จำเลยมีสิทธิบอกเลิกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยได้บอกเลิกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินสอดและของหมั้นคืนให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง เห็นว่า ข้อตกลงหรือสัญญาที่ทำขึ้นนั้นย่อมผูกพันคู่สัญญาทุกฝ่ายให้ต้องปฏิบัติตามสัญญา การเลิกสัญญาจะกระทำได้ต่อเมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฏหมายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 386 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หาใช่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยอำเภอใจไม่ เมื่อข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 มิได้ให้สิทธิจำเลยบอกเลิกข้อตกลง และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีสิทธิใดๆ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้บอกเลิกข้อตกลงได้แล้ว แม้จำเลยจะบอกเลิกข้อตกลงก็ไม่มีผลเป็นการบอกเลิก บันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 ยังมีผลผูกพันให้จำเลยต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่จะต้องคืนเงินสินสอดจำนวน 60,000 บาท และของหมั้นสร้อยคอทองคำหนัก 2 พร้อมจี้ทองคำให้แก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 70,400 บาท ซึ่งเป็นเงินค่าสินสอดและของหมั้นที่จำเลยจะต้องคืนให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน