โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 608,082 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงิน 345,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2561 เป็นต้นไปจนกว่า จะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกัน ในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน 500,000 บาท จากโจทก์ ไม่มีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ย จำเลยตกลงจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น ภายในวันที่ 27 มิถุนายน 2558 ต่อมาจำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืมด้วยการโอนเงินหรือฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคาร ก. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 จำนวน 25,000 บาท วันที่ 8 ธันวาคม 2559 จำนวน 25,000 บาท วันที่ 6 กรกฎาคม 2560 จำนวน 15,000 บาท วันที่ 13 สิงหาคม 2560 จำนวน 15,000 บาท วันที่ 8 กันยายน 2560 จำนวน 15,000 บาท วันที่ 30 มกราคม 2561 จำนวน 20,000 บาท วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 20,000 บาท และวันที่ 20 มีนาคม 2561 จำนวน 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 155,000 บาท เป็นการชำระหนี้บางส่วนแล้ว โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือฉบับลงวันที่ 16 มีนาคม 2561 บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันผิดนัดแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงิน ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทง เพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว" ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์หรือหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เวนคืนหรือแทงเพิกถอนเป็นพยานหลักฐานในคดี จึงต้องห้ามมิให้นำสืบเรื่องการใช้เงินชำระหนี้กู้ยืม จึงไม่อาจรับฟังคำเบิกความของจำเลยที่อ้างตนเองเป็นพยานว่า จำเลยชำระหนี้เป็นเงินสดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 วันที่ 30 ตุลาคม 2560 และวันที่ 11 พฤศจิกายน 2560 วันละ 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 60,000 บาท แก่โจทก์เป็นพยานหลักฐานได้ เพราะต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติดังกล่าวห้ามการนำสืบเฉพาะกรณีการใช้เงิน ไม่ห้ามการนำสืบกรณีการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ตามคำแนะนำของนายสุเทพ โจทก์อ้างว่าโจทก์ ไม่มีบัญชีเงินฝาก จึงตกลงให้จำเลยชำระหนี้ผ่านนายสุเทพ ต่อมาโจทก์ให้จำเลยชำระหนี้ผ่านนายยุทธนา ซึ่งเป็นพนักงานขับรถของโจทก์ จำเลยเริ่มต้นชำระหนี้ผ่านนายสุเทพ โดยเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม 2558 จำเลยชำระเงินสดให้แก่นายสุเทพ 50,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยโอนเงินหรือฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายสุเทพที่ธนาคาร ท. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 จำนวน 50,000 บาท วันที่ 22 กรกฎาคม 2558 จำนวน 50,000 บาท วันที่ 27 กรกฎาคม 2558 จำนวน 3,000 บาท วันที่ 5 สิงหาคม 2558 จำนวน 50,000 บาท วันที่ 11 สิงหาคม 2558 จำนวน 20,000 บาท วันที่ 19 สิงหาคม 2558 จำนวน 11,000 บาท วันที่ 4 กันยายน 2558 จำนวน 5,000 บาท วันที่ 21 กันยายน 2558 จำนวน 10,000 บาท วันที่ 3 ธันวาคม 2558 จำนวน 25,000 บาท วันที่ 9 ธันวาคม 2558 เป็นเงินสองจำนวน 25,000 บาท และ 50,000 บาท ตามลำดับ วันที่ 4 มกราคม 2559 จำนวน 50,000 บาท วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 จำนวน 25,000 บาท วันที่ 15 เมษายน 2559 จำนวน 25,000 บาท นายจักรพงศ์ ลูกหนี้ของจำเลยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายสุเทพเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2559 จำนวน 25,000 บาท วันที่ 26 มีนาคม 2559 เป็นเงินสองจำนวน 30,500 บาท และ 100,000 บาท ตามลำดับ วันที่ 6 เมษายน 2559 จำนวน 25,000 บาท วันที่ 13 กรกฎาคม 2559 จำนวน 25,000 บาท นางสาวพลอยไพลิน หลานจำเลย โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายสุเทพเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 จำนวน 25,000 บาท วันที่ 7 ตุลาคม 2559 จำนวน 25,000 บาท นายยศกร หลานจำเลยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายสุเทพเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 จำนวน 25,000 บาท วันที่ 8 มกราคม 2560 จำนวน 25,000 บาท วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นเงินสองจำนวน 24,000 บาท และ 1,000 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 779,500 บาท ต่อมาโจทก์แจ้งให้จำเลยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายยุทธนาที่ธนาคาร ก. จำเลยจึงโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายยุทธนาดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 จำนวน 25,000 บาท วันที่ 7 พฤษภาคม 2560 จำนวน 15,000 บาท แล้วยังให้นายยศกรโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายยุทธนาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 จำนวน 25,000 บาท และให้นางสาวเขมิกา บุตรนายยศกร โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายยุทธนา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 จำนวน 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 80,000 บาท โดยจำเลยมีนายยศกรและนายยุทธนาเป็นพยานยืนยันข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของจำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายยุทธนาเบิกความเป็นพยานจำเลยยืนยันว่า เมื่อจำเลยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของพยานแล้ว พยานถอนเงินสดส่งมอบแก่โจทก์แล้ว ซึ่งการนำสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารว่า จำเลยชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ก) ส่วนโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า นายสุเทพเป็นลูกน้องของบุตรโจทก์ แต่โจทก์ไม่เคยตกลงให้จำเลยชำระหนี้ผ่านนายสุเทพ จำเลยเคยชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์ แต่จำไม่ได้ว่าชำระคืนเท่าใด เป็นการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ประมาณ 20,000 บาท จำเลยจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้อื่นเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์บ้างหรือไม่ โจทก์ไม่ทราบ เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญา จำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์โทรศัพท์ทวงถามจำเลยแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จำเลยยังชำระหนี้ไม่ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า นายสุเทพเป็นผู้พาจำเลยมากู้ยืมเงินจากโจทก์ นายสุเทพไม่เคยนำเงินสดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์เคยมอบหมายให้นายยุทธนาซึ่งเป็นลูกจ้างทำหน้าที่ขับรถให้แก่โจทก์ทวงถามจำเลย จำเลยไม่เคยโอนเงินให้นายยุทธนาชำระหนี้แก่โจทก์ และโจทก์ยังเบิกความตอบคำถามติง ของทนายโจทก์ว่านายยุทธนาไม่เคยส่งมอบเงินหรือโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ นายสุเทพจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์หรือไม่ โจทก์จำไม่ได้ แล้วโจทก์ยังมีนายสุเทพเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของพยานเพื่อนำไปชำระคืนแก่โจทก์ แล้วพยานโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคาร ก. 4 ถึง 5 ครั้ง เป็นเงินประมาณ 100,000 บาท แล้วนายสุเทพเบิกความ ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า จำเลยโอนเงินหรือฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากของพยานที่ ธนาคาร ท. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 จำนวน 50,000 บาท วันที่ 22 กรกฎาคม 2558 จำนวน 50,000 บาท วันที่ 5 สิงหาคม 2558 จำนวน 50,000 บาท วันที่ 3 ธันวาคม 2558 จำนวน 25,000 บาท วันที่ 9 ธันวาคม 2558 เป็นเงินสองจำนวน 25,000 บาท และ 50,000 บาท ตามลำดับ วันที่ 4 มกราคม 2559 จำนวน 50,000 บาท วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 จำนวน 25,000 บาท และวันที่ 15 พฤษภาคม 2559 จำนวน 25,000 บาท ส่วนการโอนเงินรายการอื่นไม่เกี่ยวกับการชำระหนี้แก่โจทก์ พยานไม่เคยได้รับเงินโอนเข้าบัญชีเงินฝากของพยานเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2559 จำนวน 30,500 บาท และ 100,000 บาท นายจักรพงษ์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของพยานเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2559 จำนวน 25,000 บาท ส่วนวันที่ 6 เมษายน 2559 และวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 นายจักรพงษ์จะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของพยานวันละ 25,000 บาท หรือไม่ พยานจำไม่ได้ นางสาวพลอยไพลินจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของพยานเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 และวันที่ 7 ตุลาคม 2559 วันละ 25,000 บาท หรือไม่ พยานจำไม่ได้ เมื่อจำเลยโอนเงินให้แก่พยานเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว พยานโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคาร ก. แม้จำเลยมิได้นำสืบบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคาร ก. ตามคำเบิกความของนายสุเทพเป็นพยานหลักฐานของจำเลย คำเบิกความของพยานโจทก์ปากนายสุเทพดังกล่าว เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของโจทก์เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบพยานหลักฐานพิสูจน์ว่าคำเบิกความดังกล่าวของพยานโจทก์ปากนายสุเทพไม่เป็นความจริง แต่โจทก์มิได้นำสืบ พยานหลักฐานพิสูจน์และคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนายสุเทพเจือสมคำเบิกความของจำเลย ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ปากนายสุเทพมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความเข้าข้างจำเลย เชื่อว่า พยานโจทก์ปากนายสุเทพเบิกความไปตามความเป็นจริงที่ได้รู้เห็นมาโดยปราศจากมูลเหตุจูงใจ จึงรับฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ ปากนายสุเทพสนับสนุนพยานหลักฐานของจำเลยให้มีน้ำหนักรับฟังได้มากยิ่งขึ้น แม้พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจรับฟังได้ว่า นายสุเทพเป็นผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนโจทก์ ดังข้อกล่าวอ้างของจำเลยก็ไม่ทำให้พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักลดน้อยลงไปหรือไม่น่าเชื่อถือ แต่จำเลยไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนว่า นายสุเทพโอนเงินจำนวนอื่นนอกจากคำเบิกความของนายสุเทพชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เป็นเงินจำนวนอื่นนอกจากที่นายสุเทพเบิกความยอมรับไว้ นอกจากนี้ โจทก์เบิกความยอมรับว่า โจทก์มอบหมายให้นายยุทธนาทวงถามจากจำเลย ถือได้ว่านายยุทธนาเป็นบุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนโจทก์ พยานหลักฐานของจำเลยที่นำสืบมาสมแก่ภาระการพิสูจน์และมีน้ำหนัก รับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยโอนเงินหรือฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายสุเทพตามจำนวนที่นายสุเทพเบิกความยอมรับว่า จำเลยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายสุเทพเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 จำนวน 50,000 บาท วันที่ 22 กรกฎาคม 2558 จำนวน 50,000 บาท วันที่ 5 สิงหาคม 2558 จำนวน 50,000 บาท วันที่ 3 ธันวาคม 2558 จำนวน 25,000 บาท วันที่ 9 ธันวาคม 2558 จำนวน 25,000 บาท และจำนวน 50,000 บาท วันที่ 4 มกราคม 2559 จำนวน 50,000 บาท วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 จำนวน 25,000 บาท และวันที่ 15 พฤษภาคม 2559 จำนวน 25,000 บาท เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ รวมเป็นเงิน 350,000 บาท แล้วนายสุเทพโอนเงินดังกล่าวทั้งหมดเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ โดยโจทก์ยินยอมรับเงินที่นายสุเทพโอนเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ ซึ่งเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง และจำเลยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายยุทธนาผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนโจทก์ เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 80,000 บาท ถือได้ว่า จำเลยชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 315 แม้หนังสือสัญญากู้เงินข้อ 4. มีข้อตกลงให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่ไม่ได้ตกลงอัตราดอกเบี้ยไว้ ซึ่งตามปกติแล้วจำเลยต้องชำระดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ซึ่งขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยกู้ยืมเงินเป็นต้นไป ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องเรียกร้องดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป ศาลจึงต้องพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดเป็นต้นไป ไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยกู้ยืมเงินเป็นต้นไปได้เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง คำบรรยายฟ้องของโจทก์แสดงให้เห็นว่า โจทก์เข้าใจว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลา คือวันที่ 27 มิถุนายน 2558 แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ภายหลังจากครบกำหนดเวลาดังกล่าวตามหนังสือสัญญากู้เงินแล้ว โจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาหรือเรียก ให้ชำระหนี้ทั้งหมดทันที โจทก์กลับยังยินยอมรับชำระหนี้จากจำเลยโดยไม่อิดเอื้อนถือได้ว่า โจทก์ไม่ได้ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาเป็นสำคัญดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ดังนั้น เมื่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนจำเลยผู้เป็นลูกหนี้แล้ว จำเลยยังไม่ชำระหนี้ จึงจะตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง และมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือฉบับลงวันที่ 16 มีนาคม 2561 บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 ดังนั้น หากจำเลยไม่ชำระหนี้ภายในวันที่ 4 เมษายน 2561 ก็จะตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2561 เป็นต้นไป ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งโจทก์มิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา และฎีกา รวมทั้งไม่ยื่นคำแก้ฎีกาคัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ว่า หากโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด ก็จะนับแต่วันที่ 5 เมษายน 2561 เป็นต้นไป ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนวันที่ 5 เมษายน 2561 จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปแล้วเป็นเงิน 155,000 บาท โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายสุเทพแล้วนายสุเทพโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์เป็นเงิน 350,000 บาท และโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายยุทธนาซึ่งเป็นบุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนโจทก์เป็นเงิน 80,000 บาท รวมเป็นเงิน 585,000 บาท ซึ่งเกินกว่าจำนวนเงินต้นตามสัญญาแล้ว ต้องถือว่าจำเลยชำระหนี้เงินต้นให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์อีก และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ