โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลักเอาบัตรเงินสดทันใจ (บัตร เอ.ที.เอ็ม.) ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปากเกร็ด จำนวน 1 ใบ ราคา 150 บาท ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายศิริชัย สุขุมานันท์ ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ต่อมาจำเลยทั้งสองนำบัตรเอ.ที.เอ็ม. ดังกล่าวไปลักเอาเงินของผู้เสียหายโดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคารต่าง ๆ หลายกรรมต่างกันรวม 60 ครั้ง เป็นเงินรวม 1,380,000 บาท และค่าธรรมเนียมอีก 1,330 บาท ไปเป็นของจำเลยทั้งสองโดยทุจริต เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 และยึดได้เงินสดจำนวน 108,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่ถูกจำเลยทั้งสองร่วมกันลักไป ตู้เย็น 1 เครื่อง ราคา 5,300 บาท เครื่องเสียง 1 ชุด ราคา20,000 บาท โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ราคา 7,900 บาท สร้อยคอทองคำหนัก 2 บาทจำนวน 2 เส้น พร้อมพระเลี่ยมทองคำ 1 องค์ ราคา 30,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันซื้อโดยใช้เงินของผู้เสียหายที่ร่วมกันลักไป เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 2 และยึดได้เงินสดจำนวน 260,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองร่วมกันลักไป รถยนต์ 1 คัน ราคา 520,000 บาท รถจักรยานยนต์ 1 คัน ราคา 38,800บาท ตู้เย็น 1 เครื่อง ราคา 5,800 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันซื้อโดยใช้เงินของผู้เสียหายที่ร่วมกันลักไป จึงยึดไว้เป็นของกลาง ผู้เสียหายได้รับของกลางคืนไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 717,000 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335,83, 91 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 105,530 บาท แก่ผู้เสียหายและสั่งคืนรถยนต์กับรถจักรยานยนต์ของกลางรวมราคา 558,800 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 2 เข้ามาใหม่ภายใน 15 วัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำผิดหลายกรรมรวม 62 กระทง จำคุกกระทงละ 4 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 2 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(2) ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 105,530 บาท และคืนรถยนต์กับรถจักรยานยนต์ของกลางรวมราคา 558,800 บาท แก่ผู้เสียหาย หากไม่สามารถคืนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของกลางได้ให้ใช้ราคาแทน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิด2 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 4 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี ให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 664,330 บาท แก่ผู้เสียหาย ให้ยกคำขอในส่วนที่ให้คืนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า ฎีกาของโจทก์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม มิใช่กรรมเดียว เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย หาใช่เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างไม่ ฎีกาของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ชอบแล้วปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ลักเอาบัตรเงินสดทันใจ (บัตร เอ.ที.เอ็ม.)ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปากเกร็ด ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายศิริชัย สุขุมานันท์ ผู้เสียหายไปนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมจะทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถเบิกถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหายในครั้งเดียวได้ทั้งหมดเพราะมีข้อจำกัดของธนาคารเกี่ยวกับจำนวนเงินในการเบิกถอน ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้นำบัตรเงินสดทันใจ (บัตร เอ.ที.เอ็ม.) ดังกล่าวไปเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคารในวันเวลาและสถานที่ต่าง ๆ กันหลายจังหวัด ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้ว่า จำเลยที่ 1 ต้องการใช้บัตรเงินสดทันใจ (บัตร เอ.ที.เอ็ม.) เบิกถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหายเป็นคราว ๆ ไป จนกว่าเงินในบัญชีของผู้เสียหายจะหมด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมรวม 62 กระทงนั้น เห็นว่า จำเลยใช้บัตรเงินสดทันใจ (บัตร เอ.ที.เอ็ม.) เบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคารต่าง ๆ รวม 60 ครั้ง เป็นความผิด 60 กระทง เมื่อรวมกับความผิดฐานลักบัตรเงินสดทันใจ (บัตร เอ.ที.เอ็ม.) อีก 1 กระทง จำเลยที่ 1 กระทำความผิดรวมทั้งหมด 61 กระทง เท่านั้น ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1กระทำความผิดหลายกรรมรวม 62 กระทงนั้น จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมรวม 61 กระทง จำคุกกระทงละ 4 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกกระทงละ 2 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1