โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑ (๑๘), ๘๐, ๙๑, ๒๗๗, ๒๗๙, ๓๑๗
ระหว่างพิจารณานาย ม. ผู้เสียหายที่ ๒ ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ และได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย เป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหายที่ ๒
จำเลยให้การปฏิเสธคดีส่วนอาญา และให้การในคดีส่วนแพ่ง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๙ วรรคแรก (เดิม), ๓๑๗ วรรคสาม (เดิม), ๓๑๗ วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำคุกกระทงละ ๒ ปี รวม ๗ กระทง เป็นจำคุก ๑๔ ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ ๕ ปี รวม ๗ กระทง เป็นจำคุก ๓๕ ปี รวมจำคุก ๔๙ ปี ข้อหาอื่นให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายมนัส ผู้เสียหายที่ ๒ เป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๒ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหายที่ ๒ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เด็กหญิง พ. ผู้เสียหายที่ ๑ เป็นบุตรของนาย ม. ผู้เสียหายที่ ๒ ผู้เสียหายที่ ๑ และที่ ๒ รู้จักกับจำเลย จำเลยเคยให้เงินผู้เสียหายที่ ๑ เด็กชาย ส. เด็กชาย ร. และเด็กหญิง จ. ไว้ใช้จ่าย สำหรับความผิดฐานพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ ตามฟ้องข้อ ๑.๑ ข้อ ๑.๓ ข้อ ๑.๗ ข้อ ๑.๙ ข้อ ๑.๑๑ และข้อ ๑.๑๓ นั้นถูกต้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าตามฟ้องข้อ ๑.๑ ข้อ ๑.๓ ข้อ ๑.๑๑ และข้อ ๑.๑๓ แม้จำเลยจะใช้โทรศัพท์เพื่อติดต่อให้ผู้เสียหายที่ ๑ ออกไปพบจำเลยในห้องรีสอร์ทเพื่อกระทำอนาจารแต่จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเพียงการชักชวนให้ผู้เสียหายที่ ๑ ไปพบจำเลยเท่านั้นจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการพรากผู้เสียหายที่ ๑ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ และตามฟ้องข้อ ๑.๕ ข้อ ๑.๗ ข้อ ๑.๙ ฟังได้เพียงว่าขณะผู้เสียหายที่ ๑ ไปซื้อข้าวแรมฟืนที่ร้านเมื่อทานเสร็จแล้วผู้เสียหายที่ ๑ ได้เข้าห้องน้ำพบกับจำเลย จำเลยจึงบอกให้ผู้เสียหายที่ ๑ เข้าไปในห้องน้ำอีกและจำเลยได้กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ ๑ จึงเป็นเพียงการกระทำอนาจาร ที่จำเลยยังไม่ได้พรากผู้เสียหายที่ ๑ ไปจากบิดามารดาอีกเช่นกัน เห็นว่า การที่จำเลยโทรศัพท์นัดหมายผู้เสียหายที่ ๑ ให้ไปพบและการที่จำเลยบอกให้ผู้เสียหายที่ ๑ เข้าไปในห้องน้ำแล้วจำเลยได้กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ ๑ นั้น เป็นการกระทำที่ล่วงล้ำต่ออำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ ๒ ซึ่งเป็นบิดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากผู้เสียหายที่ ๑ ซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการสุดท้ายว่า การรวมโทษทุกกระทงความผิดจะต้องรวมแล้วไม่เกินกำหนด ๒๐ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๒) หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษาให้จำคุกจำเลยรวมทุกกระทงความผิด ๔๙ ปีนั้นยังไม่ถูกต้องเนื่องจากความผิดกระทงหนักที่สุดในคดีนี้มีอัตราโทษจำคุก ๕ ปี อันเป็นโทษจำคุกเกิน ๓ ปี แต่ไม่เกิน ๑๐ ปี ดังนั้นโทษรวมทุกกระทงความผิดที่จะลงแก่จำเลยต้องไม่เกิน ๒๐ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๒) พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความผิดกระทงที่หนักที่สุดที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยนั้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ซึ่งมีโทษจำคุกอย่างสูงเกิน ๑๐ ปีขึ้นไป กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๓) เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นจะต้องไม่เกินกำหนด ๕๐ ปี ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำคุกกระทงละ ๒ ปี รวม ๗ กระทง เป็นจำคุก ๑๔ ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ ๕ ปี รวม ๗ กระทง เป็นจำคุก ๓๕ ปี รวมจำคุก ๔๙ ปี ข้อหาอื่นให้ยกแล้วศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษายืนนั้นเป็นการรวมโทษที่ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.๒๕๖๔ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ และมาตรา ๒๒๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี เป็นร้อยละ ๕ ต่อปี หรือเป็นอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราช-กฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ ๒ ต่อปี แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นาย ม. ผู้เสียหายที่ ๒ เป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๒ เป็นต้นไป จนถึงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๔ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ ๒ ต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหายที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๕ ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ