คดีทั้งสี่สำนวนนี้ เดิมศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ ร. 2789/2563 หมายเลขแดงที่ ร. 3550/2563 คดีหมายเลขดำที่ ร. 794/2563 หมายเลขแดงที่ ร. 3551/2563 และคดีหมายเลขดำที่ ร. 2795/2563 หมายเลขแดงที่ ร. 3552/2563 ของศาลแรงงานกลาง โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 และเรียกจำเลยทั้งเจ็ดสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องและโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 7 แก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่จำเลยรับทรัพย์ของจำเลยคืนจากโจทก์ทั้งเจ็ด และจ่ายเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่โจทก์แต่ละคนได้รับก่อนจำเลยหยุดกิจการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2563 สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์แต่ละคนตามคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวน
จำเลยทั้งเจ็ดสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์ที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ดังกล่าวออกจากสารบบความ
โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 แถลงรับว่า จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 แล้ว
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ให้แก่โจทก์ที่ 2 ไม่น้อยกว่าเดือนละ 24,750 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 3 ไม่น้อยกว่าเดือนละ 60,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 4 ไม่น้อยกว่าเดือนละ 38,458.50 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 5 ไม่น้อยกว่าเดือนละ 33,750 บาท และจ่ายเงินในเดือนสิงหาคม 2563 ให้แก่โจทก์ที่ 2 ไม่น้อยกว่า 22,275 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 3 ไม่น้อยกว่า 54,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 4 ไม่น้อยกว่า 34,612.65 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 5 ไม่น้อยกว่า 30,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดไม่จ่ายเงินดังกล่าวในแต่ละเดือนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังและที่คู่ความไม่โต้เถียงกันได้ความว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการเป็นตลาดกลางเชื่อมต่อผู้ใช้บริการและอำนวยความสะดวกในการรับจองห้องพักหรือที่พักกับโรงแรมในประเทศไทยทางออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ แอปพลิเคชันในโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์อื่น ๆ ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เคยเป็นลูกจ้างของโจทก์ มีระยะเวลาการทำงาน ตำแหน่งสุดท้ายและอัตราค่าจ้างตามฟ้องแต่ละสำนวน กำหนดจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือน ลักษณะการทำงานของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จะออกไปพบลูกค้านอกบริษัทเป็นส่วนใหญ่ เมื่อต้นปี 2563 เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ในประเทศไทย รัฐบาลและหน่วยงานราชการมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ โดยมีประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 ทำให้กระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมโดยทั่วไป เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 จำเลยประชุมลูกจ้างทั้งหมดชี้แจงว่าจำเลยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ไม่สามารถเปิดทำการตามปกติได้ จำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 และเสนอเงื่อนไขให้ลูกจ้างรับเงินสนับสนุนช่วยเหลือในเดือนพฤษภาคม 2563 อัตราร้อยละ 40 ของค่าจ้าง และในเดือนมิถุนายน 2563 อัตราร้อยละ 15 ของค่าจ้าง หรือลาออกแล้วรับเงินช่วยเหลือในเดือนพฤษภาคม 2563 อัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง วันที่ 28 เมษายน 2563 จำเลยแจ้งการหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 และหยุดกิจการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 แต่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ยังมาทำงานในวันที่ 1 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2563 จำเลยเก็บอุปกรณ์การทำงานของจำเลยจากโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 และไม่จ่ายค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2563 แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2563 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2563 จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 แล้ว และศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวเนื่องจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ถือว่าเป็นการหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ได้รับก่อนจำเลยหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่จำเลยประกาศหยุดกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 ส่วนศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ไม่ปรากฏว่าเป็นเหตุขัดขวางมิให้จำเลยประกอบกิจการให้บริการจองที่พักออนไลน์ในงานส่วนใดอย่างสิ้นเชิง จำเลยยังสามารถประกอบกิจการได้ แม้ประสบภาวะขาดทุนอย่างมากเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจนมีผลให้มีนักท่องเที่ยวใช้บริการจองที่พักทางออนไลน์กับจำเลยน้อยลง กรณีไม่ใช่การหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงต้องจ่ายเงินอัตราร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ได้รับก่อนหยุดกิจการให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2563 สำหรับเงินของเดือนพฤษภาคม 2563 ถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ต้องจ่ายทุกวันสิ้นเดือน ส่วนเดือนสิงหาคม 2563 ต้องจ่ายภายในวันที่ 30 สิงหาคม 2563 เมื่อไม่จ่ายต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การหยุดกิจการของจำเลยเป็นการหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย ซึ่งจำเลยไม่จำต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการ ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ณ สถานที่จ่ายเงินตามมาตรา 55 และภายในกำหนดเวลาการจ่ายเงินตามมาตรา 70 (1)" บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์คุ้มครองนายจ้างที่ประสบเหตุการณ์ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างรุนแรงจนถึงขั้นนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว และในทางเดียวกันก็มีเจตนารมณ์คุ้มครองลูกจ้างด้วย เพราะหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างทำให้ลูกจ้างต้องตกงานขาดรายได้และได้รับความเดือดร้อน โดยตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานในระหว่างหยุดกิจการนั้น นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการ ยกเว้นแต่เหตุที่ทำให้นายจ้างหยุดกิจการนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง คดีนี้จำเลยประกอบกิจการให้บริการเป็นตลาดกลางในการรับจองห้องพัก ที่พัก และโรงแรมในประเทศไทยทางออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ แอปพลิเคชันในโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์อื่น ๆ โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย เมื่อต้นปี 2563 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติใช้บริการจองที่พักทางออนไลน์กับจำเลยน้อยลง เป็นผลทำให้รายได้ของจำเลยลดลงจนถึงขนาดขาดทุนเป็นอย่างมาก อันสืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลและหน่วยงานราชการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทย โดยมีประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 ทำให้กระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมโดยทั่วไป จำเลยจึงหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของจำเลย จนทำให้จำเลยไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาว่าเหตุที่ทำให้จำเลยหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวเกิดจากเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยหลุดพ้นจากการชำระเงินตามมาตราดังกล่าวแก่ลูกจ้างด้วยหรือไม่นั้น คดีนี้ แม้จำเลยมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราว เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวใช้บริการกับจำเลยน้อยลง ทำให้รายได้ของจำเลยลดลงและต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างมากก็ตาม แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ดังกล่าวเป็นเพียงการก่อให้เกิดความยากลำบากแก่จำเลยในการดำเนินกิจการของตนต่อไปเท่านั้น มิได้ถึงขนาดเป็นอุปสรรคขัดขวางจนทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่อยู่ในภาวะและวิสัยที่จะประกอบธุรกิจต่อไปได้โดยสิ้นเชิงในขณะนั้น ดังนั้น การที่จำเลยมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวในระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งที่ยังสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวเพราะเหตุสุดวิสัยที่จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธไม่จ่ายเงินในระหว่างหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวให้แก่ลูกจ้างได้ แต่ถือได้ว่าจำเลยมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ได้รับก่อนจำเลยหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่จำเลยไม่ได้ให้โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ทำงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยไม่ฟังขึ้น ส่วนที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 ด้วยนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่า หรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้" บทบัญญัติดังกล่าวให้ศาลแรงงานมีอำนาจที่จะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอได้ หากศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ ดังนี้ แม้โจทก์ที่ 2 จะฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 โดยไม่ได้ฟ้องหรือแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 โดยไม่ได้อ้างเหตุว่าศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความอย่างไร แต่เมื่อศาลฎีกาพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ จึงให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 ตามที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยมาได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง
พิพากษายืน