โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 102-106/2562 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2562 กับให้จำเลยที่ 2 รับโจทก์ทั้งสี่กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันรับกลับเข้าทำงาน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานภาค 6 คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกัน ศาลแรงงานภาค 6 เห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การ และคำแถลงรับข้อเท็จจริงของคู่ความเพียงพอแก่การวินิจฉัย จึงให้งดสืบพยาน
ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 6 ให้ศาลแรงงานภาค 6 ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปว่ามีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องรับโจทก์ทั้งสี่กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่หรือไม่ เพียงใด แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับร่วมกันว่า โจทก์ทั้งสี่เคยเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 โดยเป็นแรงงานสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานกับจำเลยที่ 2 ชั่วคราว ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน และได้รับการต่อใบอนุญาตทำงานโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้แจ้งความต้องการและดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดตาก สาขาแม่สอด ตลอดมา จนกระทั่งครั้งสุดท้ายจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานให้แก่โจทก์ทั้งสี่ และเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 ก่อนเลิกจ้างเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 โจทก์ทั้งสี่และลูกจ้างอื่นรวมตัวกันลงลายมือชื่อสนับสนุนยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 2 เพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ในชั้นพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานสามารถเจรจาตกลงกันได้ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างลงวันที่ 14 มีนาคม 2562 กำหนดเวลาใช้บังคับ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2562 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2563 เมื่อโจทก์ทั้งสี่ถูกเลิกจ้างแล้ว โจทก์ทั้งสี่ได้ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยที่ 2 ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เพราะเหตุลงลายมือชื่อสนับสนุนการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและโจทก์ทั้งสี่ถูกเลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยที่ 2 รับโจทก์ทั้งสี่กลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 และมาตรา 123 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งยกคำร้อง ตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 102-106/2562 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2562 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 โจทก์ทั้งสี่ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โดยอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกัน พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก ที่ 26/2563 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2563 โจทก์ทั้งสี่ได้รับค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยครบถ้วนแล้ว แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และพนักงานตรวจแรงงาน แต่โจทก์ทั้งสี่จะถือเอาประโยชน์จากคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และพนักงานตรวจแรงงานซึ่งมาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันทั้งสองทางมิได้ เพราะเป็นการซ้ำซ้อนกัน เมื่อโจทก์ทั้งสี่รับค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานครบถ้วนแล้ว แสดงว่าโจทก์ทั้งสี่เลือกที่จะรับค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้างแทนการกลับเข้าทำงาน อันเป็นการเลือกถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่สละสิทธิไม่ถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งมาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกัน โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนและบังคับให้จำเลยที่ 2 รับโจทก์ทั้งสี่กลับเข้าทำงาน หรือจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันถูกเลิกจ้างจนถึงวันที่รับกลับเข้าทำงานได้อีก ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทั้งสี่นำเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันไปยื่นคำร้องทั้งต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ 1 และพนักงานตรวจแรงงาน ไม่ใช่การใช้สิทธิซ้ำซ้อน และไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่สละสิทธิหรือไม่ถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ 1 ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 6 ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปว่ามีเหตุเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องรับโจทก์ทั้งสี่กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่หรือไม่ เพียงใด แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า กรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยหรือค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวแก่ลูกจ้าง ซึ่งหากพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วปรากฏว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดที่นายจ้างมีหน้าที่จ่ายดังกล่าว ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวแก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 และมาตรา 124 ส่วนกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 และมาตรา 123 อันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องกล่าวหานายจ้างต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 124 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่ง ในกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหาย หรือให้นายจ้างผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 125 และมาตรา 41 (4) เห็นได้ว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 กำหนดการเยียวยาแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างไว้แตกต่างกันและเป็นกฎหมายคนละฉบับ ลูกจ้างจึงมีสิทธินำเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันไปยื่นคำร้องทั้งต่อพนักงานตรวจแรงงานหรือต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อนกัน ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่า เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสี่และโจทก์ทั้งสี่ได้รับเงินดังกล่าวครบถ้วนแล้ว ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ประสงค์ที่จะกลับเข้าทำงานกับจำเลยที่ 2 ต่อไปและโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 รับโจทก์ทั้งสี่กลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า "การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้ตามกฎหมายอื่น" ประกอบกับพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 41 (4) บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้นายจ้างกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ประการ คือ สั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานก็ได้ หรือสั่งให้จ่ายค่าเสียหายก็ได้ หรือสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่เห็นสมควรก็ได้ หรือคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อาจจะสั่งพร้อมกันหลายประการก็ได้ ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสี่ได้รับค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้าง อันถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 2 อีกต่อไป และไม่ถือเอาประโยชน์ในส่วนของการขอให้จำเลยที่ 2 รับโจทก์ทั้งสี่กลับเข้าทำงานก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสี่ก็ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจตามมาตรา 41 (4) สั่งให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสี่ได้ ในการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ 1 นั้น นอกจากโจทก์ทั้งสี่ขอให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 รับโจทก์ทั้งสี่กลับเข้าทำงานแล้ว โจทก์ทั้งสี่ยังขอให้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ โดยโจทก์ทั้งสี่ยังคงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ 1 ที่ให้ยกคำร้อง และขอให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่เช่นเดิมด้วย แสดงว่าโจทก์ทั้งสี่ยังติดใจเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมของจำเลยที่ 2 อยู่ โจทก์ทั้งสี่จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ 1 ในส่วนของค่าเสียหาย ศาลแรงงานภาค 6 ชอบที่จะพิจารณาว่า จำเลยที่ 2 ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 และมาตรา 123 อันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม หรือไม่ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องจ่ายค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ทั้งสี่หรือไม่ เพียงใด แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลแรงงานภาค 6 ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 และมาตรา 123 อันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ แล้ววินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องจ่ายค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสี่หรือไม่ เพียงใด แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ