โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 283, 309, 310 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9, 12 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้นและความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และ 310 ศาลชั้นต้นถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในความผิดดังกล่าวเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) แล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 (ที่ถูก ต้องระบุมาตรา 9 วรรคหนึ่ง) การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคแรก อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 5 ปี และจำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศและในการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยทั้งสี่ให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาและได้บรรเทาผลร้ายแห่งความผิด เห็นสมควรลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 5 ปี 4 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดที่ศาลชั้นต้นลงโทษเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังยุติในเบื้องต้นว่า นางสาวคมภาส ผู้เสียหายที่ 1 เดินทางจากประเทศไทยไปประเทศเดนมาร์กและนางสาวดวงจันทร์ ผู้เสียหายที่ 2 เดินทางจากประเทศไทยไปประเทศเดนมาร์ก ต่อมาผู้เสียหายทั้งสองเดินทางกลับประเทศไทย จากนั้นนางพิภาวี เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พาผู้เสียหายทั้งสองไปร้องทุกข์ต่อพันตำรวจตรีพงษ์ไสว ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันทำให้ปราศจากเสรีภาพและร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก และ 310 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในความผิดฐานดังกล่าวเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำความผิดตามฐานความผิดที่ผู้เสียหายทั้งสองไม่ได้ถอนคำร้องทุกข์หรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายทั้งสองตกเป็นจำเลยและให้การต่อสู้คดีในข้อหาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตในศาลของประเทศเดนมาร์ก ศาลยกฟ้องเพราะถูกบังคับให้ค้าประเวณี เมื่อผู้เสียหายทั้งสองหนีออกจากสถานที่ค้าประเวณีก็ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศเดนมาร์ก เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในประเทศเดนมาร์กและผู้เกี่ยวข้องว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกร่วมหลอกลวง ล่อลวง ให้ผู้เสียหายทั้งสองมาค้าประเวณีที่ประเทศเดนมาร์กและมีการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นไว้ในเบื้องต้น โดยมีนางสายหยุด เจ้าหน้าที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ พยานโจทก์เบิกความสนับสนุน ผู้เสียหายทั้งสองเดินทางจากประเทศเดนมาร์กกลับถึงประเทศไทยก็ได้แจ้งแก่นางพิภาวี เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ พยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกร่วมกันหลอกลวง ล่อลวง ให้ผู้เสียหายทั้งสองมาค้าประเวณีที่ประเทศเดนมาร์ก ขอให้ช่วยพาผู้เสียหายทั้งสองไปร้องทุกข์ ผู้เสียหายทั้งสองร้องทุกข์และให้การต่อพันตำรวจตรีพงษ์ไสว พนักงานสอบสวน พยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 หลอกลวง ล่อลวงผู้เสียหายทั้งสองให้ไปค้าประเวณีว่ามีงานทำที่ร้านอาหารของจำเลยที่ 3 ที่ประเทศเดนมาร์ก จำเลยที่ 2 พาผู้เสียหายทั้งสองมาส่งที่สนามบินดอนเมือง จำเลยที่ 3 กับพวกไปรับผู้เสียหายทั้งสองที่ประเทศเยอรมันแล้วเดินทางมาที่ประเทศเดนมาร์กและผู้เสียหายทั้งสองได้ค้าประเวณีที่ประเทศเดนมาร์ก ปรากฏตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายทั้งสอง ดังนั้นพยานบอกเล่าดังกล่าวมาข้างต้น ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ กล่าวคือ เป็นพยานบอกเล่าที่มีคุณภาพดีหรือคุณค่าในเชิงพิสูจน์มากพอที่จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่คดีโจทก์ได้ อันเป็นข้อยกเว้นให้รับฟังได้โดยไม่คำนึงว่าจะมีตัวผู้เสียหายทั้งสองประจักษ์พยานอยู่หรือไม่ นอกจากนี้โจทก์มีคำพิพากษาของศาลในประเทศเดนมาร์กและคำแปลเอกสาร ซึ่งจำเลยที่ 3 และ ที่ 4 ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลในประเทศเดนมาร์ก จำเลยที่ 3 ให้การต่อศาลมีใจความสรุปว่า ผู้เสียหายทั้งสองติดต่อจำเลยที่ 1 เพื่อเดินทางไปทำงานที่ประเทศเดนมาร์ก จำเลยที่ 1 กับพวกจะดำเนินการให้ผู้เสียหายทั้งสองเดินทางมาประเทศเดนมาร์ก โดยผู้เสียหายที่ 1 จะเดินทางมาเดือนพฤษภาคม 2545 ส่วนผู้เสียหายที่ 2 จะเดินทางมาเดือนตุลาคม 2545 จำเลยที่ 3 เป็นคนไปรับผู้เสียหายทั้งสองที่เมืองฮัมบวร์ก เพื่อมาค้าประเวณี ถ้อยคำของจำเลยที่ 3 น่าเชื่อว่าเป็นความจริง เนื่องจากคนทั่วไปย่อมไม่กล่าวเท็จให้เป็นโทษต่อตนเองและศาลในประเทศเดนมาร์กรับฟังว่า จำเลยที่ 3 ประกอบธุรกิจการค้าประเวณีและได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มีกำไรจำนวนมากโดยแสวงหาประโยชน์จากผู้หญิงไทยหลายคนซึ่งรวมถึงผู้เสียหายทั้งสองด้วย คำพิพากษาและคำแปลเอกสาร จึงเป็นพยานหลักฐานประกอบที่มีอยู่ต่างหากและเป็นพยานหลักฐานที่เชื่อมโยงกันไปสนับสนุนบันทึกเรื่องราวและบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายทั้งสอง ให้น่าเชื่อถือหรือมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น ในระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำแถลงว่า ได้รับเงิน 100,000 บาท จากจำเลยทั้งสี่ ขอถอนคำร้องทุกข์ในคดีความผิดอันยอมความได้และไม่ติดใจดำเนินคดีข้อหาอื่นอีกต่อไป ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำแถลงว่า ได้รับเงิน 100,000 บาท จากจำเลยทั้งสี่ จึงไม่ติดใจเอาความและไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่อีกต่อไป หลังจากนั้นผู้เสียหายทั้งสองไม่ได้ไปเบิกความเป็นพยานโจทก์ที่ศาลอีกเลย แม้ศาลออกหมายจับเนื่องจากมีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงการมาเป็นพยานตามพฤติการณ์แวดล้อมแห่งคดีนี้ จำเลยทั้งสี่ให้เงินรวม 200,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง เพื่อจูงใจผู้เสียหายทั้งสองและพยานโจทก์ที่เกี่ยวข้องไม่เบิกความเป็นพยานต่อศาลเพื่อลงโทษแก่จำเลยทั้งสี่ และคดีย่อมไม่มีประจักษ์พยานบุคคลมารับฟังลงโทษผู้กระทำความผิดได้ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีมีเหตุผลอันหนักแน่นและมีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี และโจทก์มีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนแล้วรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันกระทำความผิดจริง การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นตัวการร่วมกันหลอกลวง ล่อลวงผู้เสียหายทั้งสองให้ไปค้าประเวณีว่า มีงานทำที่ร้านอาหารของจำเลยที่ 3 ที่ประเทศเดนมาร์ก ก็โดยมีเจตนาและวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันเพื่อให้ผู้เสียหายทั้งสองไปทำการค้าประเวณี ถือว่าการกระทำตามฟ้องข้อ ก. กับข้อ ค. หรือข้อ ข. กับข้อ จ. เป็นการกระทำกรรมเดียวกันอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด หาใช่เป็นความผิดคนละกรรมต่างกันไม่ อนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำการในลักษณะดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะรวม 2 ครั้ง จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำนวน 2 กรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่ศาลชั้นต้นรวมลงโทษสำหรับการทำผิดต่อผู้เสียหายทั้งสองในความผิดฐานเดียวกันเพียงกรรมเดียว จึงไม่ถูกต้อง แต่โจทก์ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งชัดแจ้งในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อีกกรรมหนึ่งได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
สำหรับความผิดตามคำฟ้อง ข้อ ง. กับข้อ ฉ. ฐานร่วมกันทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพและความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และมาตรา 310 เป็นอันระงับไปเพราะผู้เสียหายทั้งสองขอถอนคำร้องทุกข์ ส่วนความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง ทำให้ปราศจากเสรีภาพเพื่อให้ผู้อื่นทำการค้าประเวณีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 12 นั้น เป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่เกิดขึ้นในประเทศเดนมาร์กนอกราชอาณาจักร จำเลยที่ 3 ผู้กระทำผิดเป็นคนไทยและผู้เสียหายทั้งสองได้ร้องขอให้ลงโทษ จำเลยที่ 3 จะต้องรับโทษในราชอาณาจักรและศาลไทยจะลงโทษได้เฉพาะความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 และมาตรา 310 ประกอบมาตรา 8 ตามประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น ศาลฎีกาต้องตีความกฎหมายทางอาญาโดยเคร่งครัด จะขยายความมาตรา 8 ไปไกลว่า กฎหมายอาญามีเจตนารมณ์ให้ลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมายพิเศษเฉพาะเรื่องอันมีโทษหนักขึ้นตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 12 หาได้ไม่ และมาตรา 12 นั้นเองไม่ได้บัญญัติว่า หากกระทำความผิดดังกล่าวไม่ว่าภายในหรือนอกราชอาณาจักรต้องรับโทษด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคแรก พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวกันอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้จำคุกคนละ 5 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม ให้จำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก