โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกันให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับโจทก์แบ่งสินสมรสและคืนสินส่วนตัวคือจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์เลขที่ 23/7 ต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ดำเนินการใด ๆ ขอถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา กับให้โจทก์เพียงผู้เดียวมีอำนาจทำบัญชีทรัพย์สินเพื่อแบ่งสินสมรสและคืนสินส่วนตัว ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 ถึงเดือนสิงหาคม 2559 เป็นเงิน 220,000 บาท และ เดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะเสียชีวิต ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทดแทน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองกราบขอโทษโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกันให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทดแทน 100,000 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกัน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2530 มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือนางสาว ธ. เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2531 จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น 1 ห้อง เลขที่ 23/7 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยผู้ให้เช่า ต่อมาเดือนตุลาคม 2558 โจทก์และนางสาว ธ. สืบทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นชู้กับจำเลยที่ 2 หลังจากนั้นโจทก์และจำเลยที่ 1 ทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่อยมาและเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 โจทก์ จำเลยที่ 1 และนางสาว ธ. ทำบันทึกข้อตกลงโดยมีข้อความว่า "สัญญาฉบับนี้ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1...ผู้ให้สัญญาฝ่ายหนึ่งกับโจทก์และนางสาว ธ. ...ผู้รับสัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ผู้ให้สัญญาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สินดังต่อไปนี้ 1. สิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น 1 ห้อง เลขที่ 23/7... คู่สัญญาได้ตกลงทำสัญญากันดังต่อไปนี้ ข้อ 1. ผู้ให้สัญญายอมยกทรัพย์สินดังกล่าวทั้งหมดในส่วนของผู้ให้สัญญาให้แก่ผู้รับสัญญาเด็ดขาดนับแต่วันทำสัญญาฉบับนี้และผู้รับสัญญาตกลงรับเอา ทรัพย์สินดังกล่าวตามสัญญาฉบับนี้...และข้อ 4 ผู้ให้สัญญาตกลงยินยอมว่าในกรณีที่ผู้ให้สัญญาประพฤติผิดนัดผิดสัญญานี้ในข้อหนึ่งข้อใดผู้ให้สัญญายินยอมให้ผู้รับสัญญาใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อบังคับให้ผู้ให้สัญญาปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงนี้โดยทันที โดยทั้งนี้ผู้ให้สัญญาตกลงยินยอมเป็นผู้รับผิดชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมศาลเป็นต้น แทนผู้รับสัญญา...ลงชื่อจำเลยที่ 1 ผู้ให้สัญญาโจทก์ และนางสาว ธ. ผู้รับสัญญา และมีพยานลงลายมือชื่อสองคน" ประเด็นเรื่องเหตุแห่งการหย่านั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 ในทำนองชู้สาวซึ่งเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) ประเด็นเรื่องค่าทดแทนและค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์นั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ 100,000 บาท สำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูก่อนวันฟ้องและนับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะเสียชีวิตนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่าเจตนาของโจทก์ที่เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูมานับแต่วันฟ้องด้วยนั้นเห็นเจตนาของโจทก์ว่าประสงค์ขอค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 นั่นเอง แล้วศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าไม่สมควรกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ ฎีกาในประเด็นที่ว่า สิทธิการเช่าพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสในการให้สิทธิการเช่าพิพาทนั้นเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่และคำให้การของจำเลยที่ 1 เป็นการบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสดังกล่าวแล้วหรือไม่ และอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาประการเดียวว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ว่าสิทธิการเช่าเป็นของบุคคลภายนอกด้วยเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ ส่วนฎีกาโจทก์ในประเด็นอื่นที่ว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 20,000 บาท ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด หนี้กระทำการที่โจทก์ขอศาลให้มีคำสั่งบังคับจำเลยทั้งสองกราบขอโทษโจทก์นั้น ศาลจะพิพากษาให้ได้หรือไม่ และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมิได้วินิจฉัยประเด็นที่โจทก์ ขอให้ตั้งโจทก์ผู้เดียวจัดทำบัญชีทรัพย์สินเพื่อแบ่งสินสมรสและคืนสินส่วนตัวนั้น ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้วินิจฉัยไว้แล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหน้า 10 ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้โจทก์ฎีกา จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาที่ว่า สิทธิการเช่าพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของโจทก์ และจำเลยที่ 1 ตรงกันว่า สิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นเลขที่ 23/7 พิพาท เดิมเป็นของมารดาจำเลยที่ 1 ที่ทำสัญญาเช่ากับการท่าเรือแห่งประเทศไทย และในปี 2530 เมื่อจำเลยที่ 1 สมรสกับโจทก์ได้พักอาศัยด้วยกันกับมารดาจำเลยที่ 1 ที่อาคารพิพาท โจทก์นำสืบว่า มารดาจำเลยที่ 1 ได้ยกสิทธิการเช่าพิพาทให้เป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 กับโจทก์เพื่อค้าขายอาหารตามสั่ง โดยมีเงื่อนไขว่า จำเลยที่ 1 กับโจทก์จะต้องเลี้ยงดูมารดา จำเลยที่ 1 ไปตลอดชีวิตและต้องจ่ายค่าเช่าและต่อสัญญาเช่ากับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ส่วนจำเลยที่ 1 นำสืบว่า มารดาจำเลยที่ 1 ทำการค้าขายที่อาคารพิพาท ก่อนถึงแก่กรรม มารดาจำเลยที่ 1 ได้ยกสิทธิการเช่าพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ก่อนสมรสกัน โจทก์ไม่มีสินส่วนตัวมาก่อน โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างอ้างตนเองเป็น พยานนำสืบยันกันปากต่อปากโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน เมื่อไม่ปรากฏว่าเป็น การให้โดยเป็นหนังสือระบุว่ายกให้แก่ผู้ใด และหนังสือยกให้นั้นระบุว่าเป็นสินสมรส การจะฟังว่ามารดาจำเลยที่ 1 ยกให้โจทก์หรือจำเลยที่ 1 ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมไม่อาจ รับฟังได้โดยถนัดนัก แต่สิทธิการเช่าพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้มาในระหว่างสมรส และกรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคสอง บัญญัติว่าให้สันนิษฐาน ไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส เช่นนี้จึงต้องฟังว่าสิทธิการเช่าพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ จำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษฟังว่าสิทธิการเช่าพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ว่า สิทธิการเช่าเป็นของบุคคลภายนอกด้วยเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เมื่อสิทธิการเช่าพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิใช่สินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องหย่าขาดจากกัน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในเรื่องการแบ่งสินสมรสตามที่โจทก์ขอมาท้ายคำฟ้องฎีกา ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวน เห็นว่า ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า บันทึกข้อตกลงเอกสารท้ายฟ้องที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถูกโจทก์กับนางสาว ธ. ร่วมกันฉ้อฉลและมีผลผูกพันสินสมรสเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 เพียงครึ่งหนึ่งที่ยกให้โจทก์และนางสาว ธ. ร่วมกันอีกครึ่งหนึ่งเป็นสินสมรสในส่วนของโจทก์และส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ยกให้นางสาว ธ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั้นมีลักษณะเป็นการให้ เมื่อจำเลยที่ 1 บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสที่ทำไว้กับโจทก์แล้วเช่นนี้ ย่อมมีผลให้สิทธิการเช่าพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ยกให้แก่โจทก์กลับมาเป็นสินสมรสดังเดิม เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน สิทธิการเช่าพิพาทดังกล่าวต้องแบ่งให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 คนละครึ่งหนึ่งโดยส่วนของจำเลยที่ 1 ครึ่งหนึ่งได้ตกเป็นสิทธิของ นางสาว ธ. ไปแล้ว เท่ากับจำเลยที่ 1 และนางสาว ธ. มีส่วนแบ่งคนละหนึ่งในสี่ของ สิทธิการเช่าพิพาทกรณีเช่นนี้เป็นเรื่องของการปรับบทกฎหมายในเรื่องการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม และการแบ่งสินสมรสตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานหลักฐานอันเป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีที่คู่ความนำมาสืบ มิใช่เป็นการวินิจฉัยถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันจะเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นอย่างใดไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า สิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น 1 ห้อง เลขที่ 23/7 เป็นของโจทก์ครึ่งหนึ่ง และของจำเลยที่ 1 กับนางสาว ธ. คนละหนึ่งในสี่ ให้แบ่งกันในระหว่างเจ้าของรวมหากไม่ตกลงกันให้จัดการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ