โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 337 และให้จำเลยคืนเงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย 8,000 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคหนึ่ง, 80 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกรรโชก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน ยกคำขอให้คืนเงินแก่ผู้เสียหาย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคหนึ่ง, 337 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 80 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษฐานพยายามกรรโชกทรัพย์อีกกระทงหนึ่งจำคุก 4 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน เมื่อรวมกับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุก 5 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 ในปัญหานี้โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 ว่า จำเลยข่มขืนใจนายกิตติ์นิพัทธ์ ผู้เสียหาย ซึ่งถูกเจ้าพนักงานจับกุมดำเนินคดีอาญาความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ให้ยอมหรือยอมจะให้จำเลยได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยจำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายว่าผู้เสียหายกระทำความผิดที่มีอัตราโทษหนักต้องจำคุกหลายปีและมีโทษปรับเป็นเงินจำนวนหลายแสนบาท จำเลยสามารถช่วยเหลือผู้เสียหายให้ไม่ต้องรับโทษหนักและจะดำเนินคดีผู้เสียหายในความผิดที่มีอัตราโทษน้อยแต่ผู้เสียหายต้องชำระเงินให้แก่จำเลย 20,000 บาท อันเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย จนผู้เสียหายซึ่งถูกข่มขืนใจดังกล่าวเกิดความกลัวและยอมชำระเงินให้แก่จำเลยเป็นเงิน 8,000 บาท เห็นว่า การที่จำเลยบอกผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายกระทำความผิดที่มีอัตราโทษหนักต้องจำคุกหลายปีและมีโทษปรับเป็นเงินจำนวนหลายแสนบาท จำเลยสามารถช่วยเหลือผู้เสียหายให้ไม่ต้องรับโทษหนักและจะดำเนินคดีผู้เสียหายในความผิดที่มีอัตราโทษน้อย แต่ผู้เสียหายต้องชำระเงินให้จำเลย 20,000 บาท นั้น มิใช่การขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหายแต่อย่างใด เพราะผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานจับกุมดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายอยู่แล้วในความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งการถูกจับกุมดำเนินคดีดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย จำเลยเพียงแต่บอกให้ผู้เสียหายทราบถึงโทษทัณฑ์ที่จะได้รับตามกฎหมาย และการเรียกเงินของจำเลยก็เพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีมิให้ผู้เสียหายได้รับโทษหนัก ซึ่งหากผู้เสียหายไม่ให้เงินตามที่จำเลยเรียกร้องก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป เมื่อการกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการขู่เข็ญ คำฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงขาดองค์ประกอบของการกระทำความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคหนึ่ง ส่วนคำฟ้องข้อ 1.2 ที่บรรยายว่า จำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายต่อไปว่า จำเลยจะมาตรวจสอบที่ร้านค้าของผู้เสียหายทุกเดือนและหากพบการกระทำความผิดก็จะดำเนินคดีกับผู้เสียหาย แต่หากผู้เสียหายชำระเงินให้แก่จำเลยทุกเดือน เดือนละ 1,000 บาท จำเลยจะไม่มาตรวจสอบร้านค้าของผู้เสียหายในแต่ละเดือนที่ผู้เสียหายชำระเงินนั้น ก็มิใช่เป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหายอีกเช่นกัน เพราะผู้เสียหายจะถูกดำเนินคดีตามที่จำเลยอ้างก็ต่อเมื่อมีการตรวจสอบร้านค้าของผู้เสียหายแล้วพบว่ามีการกระทำความผิดจริง การเรียกเงินของจำเลยเพียงเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบร้านค้าของผู้เสียหายเท่านั้น แต่หากผู้เสียหายไม่ให้เงินจำเลยก็จะมาตรวจสอบแต่มิได้ข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายแม้ไม่พบการกระทำความผิด การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องส่วนนี้จึงมิใช่การขู่เข็ญอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 337 วรรคหนึ่ง อีกเช่นกัน ฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยอีกต่อไปเพราะไม่มีผลต่อรูปคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยพิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์