โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 โดยให้โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 3,000 หุ้น แล้วแจ้งต่อนายทะเบียนโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น โดยให้โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 จำนวน 3,000 หุ้น แล้วแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 เป็นให้โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 1,000 หุ้น ด้วยการนำหุ้นของจำเลยที่ 2 มาโอนให้แก่โจทก์ แล้วแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 ด้วยทุน 1,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท โดยมีผู้เริ่มก่อการและเข้าชื่อซื้อหุ้น 6 คน ได้แก่ จำเลยที่ 2 ถือหุ้นจำนวน 3,500 หุ้น นายคมสันถือหุ้นจำนวน 3,000 หุ้น โจทก์ถือหุ้นจำนวน 3,000 หุ้น นางสุวคนธ์ถือหุ้นจำนวน 300 หุ้น นายศิริวัฒน์ถือหุ้นจำนวน 100 หุ้น และนายชาคริสถือหุ้นจำนวน 100 หุ้น เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 จำเลยที่ 2 และนางพัชรกันย์ทำบันทึกข้อตกลงบริหารกิจการของจำเลยที่ 1 ร่วมกัน โดยจำเลยที่ 2 ตกลงขายหุ้นจำนวน 5,000 หุ้น เป็นมูลค่า 65,000,000 บาท ให้แก่นางพัชรกันย์ จำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท ระหว่างวันที่ 27 เมษายน 2558 ถึงวันที่ 4 เมษายน 2562 คือ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท ระหว่างวันที่ 5 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2562 คือ นางพัชรกันย์และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ถึงปัจจุบัน คือ นางพัชรกันย์ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 วันที่ 27 พฤษภาคม 2559 และวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการบริษัทลงลายมือชื่อรับรองสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นว่า จำเลยที่ 2 ถือหุ้นจำนวน 5,900 นายคมสันถือหุ้นจำนวน 2,000 หุ้น โจทก์ถือหุ้นจำนวน 2,000 หุ้น และนายศิริวัฒน์ถือหุ้นจำนวน 100 หุ้น แล้วส่งไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสระบุรี วันที่ 25 ตุลาคม 2560 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและส่งไปยังนายทะเบียนว่า จำเลยที่ 2 ถือหุ้นจำนวน 8,000 หุ้น นายคมสันถือหุ้นจำนวน 1,000 หุ้น โจทก์ถือหุ้นจำนวน 1,000 หุ้น วันที่ 11 เมษายน 2561 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและส่งไปยังนายทะเบียน โดยไม่มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น วันที่ 29 พฤษภาคม 2561 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและส่งไปยังนายทะเบียนว่า จำเลยที่ 2 ถือหุ้นจำนวน 8,000 หุ้น นายคมสันถือหุ้นจำนวน 1,000 หุ้น และโจทก์ถือหุ้นจำนวน 1,000 หุ้น วันที่ 3 เมษายน 2562 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและส่งไปยังนายทะเบียนว่า นางพัชรกันย์ถือหุ้นจำนวน 4,000 จำเลยที่ 2 ถือหุ้นจำนวน 4,000 หุ้น นายคมสันถือหุ้นจำนวน 500 หุ้น นายจิรวัฒน์ถือหุ้นจำนวน 500 หุ้น นายเอกธนพัชร์ถือหุ้นจำนวน 500 หุ้น และนายอติชาตถือหุ้นจำนวน 500 หุ้น โดยไม่มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น และเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 นางพัชรกันย์ในฐานะกรรมการบริษัทลงลายมือชื่อรับรองสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและส่งไปยังนายทะเบียนโดยไม่มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นเช่นเดียวกับสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 วันที่ 5 สิงหาคม 2562 โจทก์และจำเลยที่ 2 ทำบันทึกข้อตกลงว่า จำเลยที่ 2 ตกลงยกหุ้นของตนในบริษัทจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์จำนวน 1,000 หุ้น และให้แก่นางสาวอุทัยวรรณ พี่สาวของโจทก์จำนวน 500 หุ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุว่าการบังคับตามคำพิพากษาไม่อาจบังคับจำเลยที่ 2 ได้เพราะจำเลยที่ 2 พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจจำเลยที่ 1 ไปแล้ว จึงไม่มีอำนาจแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1139 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 2 จัดทำสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยลดสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์แล้วนำหุ้นของโจทก์ที่ลดลงไปเพิ่มในสัดส่วนการถือหุ้นของจำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบ แล้วศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 โอนหุ้นของโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อโดยไม่ชอบขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสอง และข้อบังคับของจำเลยที่ 1 การโอนหุ้นดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยให้โจทก์ถือหุ้นจำนวน 3,000 หุ้น ซึ่งเลขหมายใบหุ้นดังกล่าวบางส่วนเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 ถือครองอยู่และบางส่วนเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 โอนไปให้บุคคลอื่นแล้ว คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการกระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวโดยตรง จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยให้โจทก์กลับเป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อเริ่มจัดตั้งจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้นำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง ทั้งโจทก์นำสืบว่าได้ชำระค่าหุ้นครบถ้วนแล้วโดยมีใบสำคัญรับชำระเงินลงหุ้น ซึ่งจำเลยที่ 2 ลงชื่อรับเงินไว้มาแสดง ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า โจทก์ไม่ได้ชำระเงินค่าหุ้น แต่จำเลยที่ 2 ตกลงมอบหุ้นให้โดยใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นแต่เริ่มแรกเพื่อเป็นการตอบแทนที่ช่วยเหลือทำงานจนจำเลยที่ 1 ได้รับประทานบัตรและประกอบธุรกิจเหมืองแร่ แต่โจทก์ทำงานไม่ได้ตามที่ตกลงกันนั้น จำเลยที่ 2 ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงข้อตกลงดังกล่าว จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ มีน้ำหนักรับฟังได้น้อย อีกทั้งการที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า ในแต่ละครั้งที่มีการปรับลดหุ้นของโจทก์ได้มีการตกลงพูดคุยซึ่งจำเลยที่ 2 ได้รับความยินยอมจากโจทก์ในการปรับลดหุ้นทุกครั้ง จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เคารพสิทธิของโจทก์ในการเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักเชื่อได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองแก้ไขสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งอ้างว่ากระทำโดยไม่ชอบ และที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า ในการปรับลดหุ้นของโจทก์ได้มีการพูดคุยตกลงกัน จำเลยที่ 2 ได้รับความยินยอมจากโจทก์ในการปรับลดหุ้นทุกครั้งนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสอง บัญญัติว่า การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่ง ตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 4 กำหนดว่า การโอนหุ้นจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนกับผู้รับโอน โดยมีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรอง และจะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกได้ต่อเมื่อบริษัทจดแจ้งการโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว ซึ่งขณะเริ่มจดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 โจทก์ถือหุ้นจำนวน 3,000 หุ้น แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยจัดทำใบหุ้นมอบให้ผู้ถือหุ้นคนใดรวมถึงโจทก์ แต่เมื่อหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 มีการออกเลขหมายใบหุ้นแล้ว กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 1129 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการจำเลยที่ 1 แก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์หลายครั้งและสุดท้ายไม่ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์โอนหุ้นของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และปฏิบัติตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ถูกต้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่เดิม อย่างไรก็ดี ได้ความว่าหลังจากที่โจทก์และจำเลยที่ 2 เกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับการโอนหุ้นโดยมิชอบดังกล่าว เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 โจทก์และจำเลยที่ 2 ได้เจรจาและทำบันทึกข้อตกลงกันโดยมีนายอำเภอวังน้ำเขียวเป็นผู้ไกล่เกลี่ย มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า จำเลยที่ 2 ตกลงยกหุ้นของตนในบริษัทจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์จำนวน 1,000 หุ้น ให้แก่นางสาวอุทัยวรรณ พี่สาวของโจทก์ 500 หุ้น และให้ทรัพย์สินภายในอาคารสำนักงานทั้งหมดตกเป็นของโจทก์ ส่วนโจทก์ตกลงยินยอมคืนตาชั่งและรถแบคโฮแก่จำเลยที่ 2 และหากที่ดินเลขที่ 6/2558 และเลขที่ 1/2559 ซึ่งใช้ในการขอประทานบัตรเหมืองแร่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการเหมือนแร่ ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันเรื่องค่าใช้ที่ดินกันอีกครั้งหนึ่ง โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงปฏิบัติตามที่ได้ตกลงกันโดยข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ทำสัญญานี้ ทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจฟ้องร้องดำเนินคดีหรือเรียกร้องสิ่งอื่นใดต่อกันอีก และต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2562 โจทก์ได้มีหนังสือถึงนายอำเภอวังน้ำเขียวว่า ตามที่จำเลยที่ 2 กรรมการจำเลยที่ 1 ได้ทำให้หุ้นของโจทก์จำนวน 3,000 หุ้น ไปเป็นของจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับการโอนหุ้นจากโจทก์ ต่อมาโจทก์ทราบเรื่องและต้องการหุ้นคืน จำเลยที่ 2 จึงให้โจทก์มาเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอวังน้ำเขียวและมีการตกลงจะโอนหุ้นคืนให้โจทก์ 1,000 หุ้น และโอนให้นางสาวอุทัยวรรณ พี่สาวโจทก์ 500 หุ้น แต่จำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการโอนหุ้นตามที่ได้ตกลง จึงขอให้นายอำเภอวังน้ำเขียวดำเนินการให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามข้อตกลง ตามหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้ดำเนินการโอนหุ้น กรณีดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ตกลงประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 อันมีผลให้ข้อเรียกร้องของโจทก์ที่มีอยู่เดิมนั้นได้ระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องเอาหุ้นจำนวน 3,000 หุ้น กลับคืนมาได้ คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 โอนหุ้นของจำเลยที่ 2 จำนวน 1,000 หุ้น เท่านั้น แม้คดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องบังคับตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 และตามทางพิจารณาก็มีการนำสืบต่อสู้เกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมาแล้ว ศาลย่อมวินิจฉัยไปตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความดังกล่าวได้ เมื่อปรากฏตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นว่า วันที่ 3 เมษายน 2562 จำเลยที่ 2 ยังถือหุ้นจำเลยที่ 1 อยู่จำนวน 4,000 หุ้น ซึ่งสามารถโอนให้แก่โจทก์ได้ จึงชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์ได้รับโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 จำนวน 1,000 หุ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ให้การตอนแรกว่าโจทก์ขอถอนตัวจากการเป็นผู้ถือหุ้นเนื่องจากบริษัทไม่อาจได้รับประทานบัตรประกอบธุรกิจเหมืองแร่ แต่ต่อมากลับให้การว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ตกลงแปลงหนี้กันใหม่ คำให้การดังกล่าวจึงขัดแย้งกันเอง ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องวินิจฉัยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ให้การตอนแรกว่าเป็นผู้มอบหุ้นให้แก่โจทก์จำนวน 3,000 หุ้น เพื่อตอบแทนโจทก์ที่ช่วยเหลือทำงานจนจำเลยที่ 1 ได้รับประทานบัตรและประกอบธุรกิจเหมืองแร่ แต่ต่อมาโจทก์ถอนตัวเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับประทานบัตรดังกล่าว และให้การต่อมาว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ทำบันทึกข้อตกลงอันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ มูลหนี้เดิมระงับไปแล้ว จำเลยที่ 2 มีหลักฐานยืนยันว่าโจทก์ตกลงขอถือหุ้นเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นเพียงการบรรยายรายละเอียดข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า จำเลยที่ 2 มอบหุ้นให้โจทก์เพื่อตอบแทนที่โจทก์ทำงานจนกว่าจะได้รับประทานบัตรให้ประกอบธุรกิจเหมืองแร่ แต่ต่อมาโจทก์ถอนตัวไม่ทำงานร่วมกับจำเลยทั้งสองและได้มีการทำบันทึกข้อตกลงเรื่องจำนวนหุ้นที่ถือกัน คำให้การดังกล่าวจึงมิได้ขัดแย้งกันดังที่โจทก์อ้าง และที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ทำบันทึกข้อตกลงเนื่องจากเข้าใจผิดในสาระสำคัญว่ากรรมสิทธิ์ในหุ้นของโจทก์ได้โอนไปแล้วนั้น เมื่อพิจารณาบันทึกข้อตกลงและหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้ดำเนินการโอนหุ้น แสดงให้เห็นถึงความประสงค์ของโจทก์ที่ต้องการจะระงับข้อพิพาทจากการที่จำเลยที่ 2 โอนหุ้นของโจทก์ไปโดยไม่ชอบไว้อย่างชัดเจน หาใช่การทำบันทึกข้อตกลงโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการโอนหุ้นพิพาทดังที่อ้างแต่อย่างใด และที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์บอกเลิกบันทึกข้อตกลงแล้วนั้น เมื่อโจทก์ทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยที่ 2 แล้ว ย่อมมีผลผูกพันให้ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตาม การจะเลิกบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาจะกระทำได้ต่อเมื่อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อาจบอกเลิกโดยอำเภอใจ เมื่อบันทึกข้อตกลงไม่ได้ให้สิทธิคู่สัญญาที่จะบอกเลิกข้อตกลงและไม่ปรากฏว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะบอกเลิกข้อตกลงแล้ว การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแต่ฝ่ายเดียวจึงไม่ชอบ โจทก์และจำเลยที่ 2 จึงคงต้องผูกพันและปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยให้โอนหุ้นของจำเลยที่ 2 กลับไปให้โจทก์จำนวน 1,000 หุ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ