โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 โดยให้โจทก์ถือหุ้น 3,000 หุ้น เลขหมาย 03501 ถึง 06500 แล้วแจ้งต่อนายทะเบียนโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 ขอสละประเด็นในเรื่องอายุความและฟ้องเคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น โดยให้โจทก์ถือหุ้นจำเลยที่ 1 จำนวน 3,000 หุ้น เลขหมายใบหุ้น 13501 ถึง 06500 แล้วแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 ด้วยทุน 1,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท โดยมีผู้เริ่มก่อการและเข้าชื่อซื้อหุ้น 6 คน ได้แก่ จำเลยที่ 2 ถือหุ้นจำนวน 3,500 หุ้น เลขหมาย 00001 - 03500 โจทก์ถือหุ้นจำนวน 3,000 หุ้น เลขหมาย 03501 - 06500 นางสาวกัลย์ชณิต ถือหุ้นจำนวน 3,000 หุ้น เลขหมาย 06501 - 09500 นางสุวคนธ์ ถือหุ้นจำนวน 300 หุ้น เลขหมาย 09501 - 09800 นายศิริวัฒน์ ถือหุ้นจำนวน 100 หุ้น เลขหมาย 09801 - 09900 และนายชาคริส ถือหุ้นจำนวน 100 หุ้น เลขหมาย 09901 - 10000 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 จำเลยที่ 2 และนางพัชรกันย์ ทำบันทึกข้อตกลงบริหารกิจการของจำเลยที่ 1 ร่วมกัน โดยจำเลยที่ 2 ตกลงขายหุ้นจำนวน 5,000 หุ้น เป็นมูลค่า 65,000,000 บาท ให้แก่นางพัชรกันย์ จำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท ระหว่างวันที่ 27 เมษายน 2558 ถึงวันที่ 4 เมษายน 2562 คือ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท ระหว่างวันที่ 5 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2562 คือ นางพัชรกันย์และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ถึงปัจจุบัน คือ นางพัชรกันย์ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 วันที่ 27 พฤษภาคม 2559 และวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการบริษัทลงลายมือชื่อรับรองสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นว่า จำเลยที่ 2 ถือหุ้นจำนวน 5,900 หุ้น เลขหมาย 0001 - 05900 โจทก์ถือหุ้นจำนวน 2,000 หุ้น เลขหมาย 05901 - 07900 นางสาวกัลย์ชณิตถือหุ้นจำนวน 2,000 หุ้น เลขหมาย 07901 - 09900 และนายศิริวัฒน์ถือหุ้นจำนวน 100 หุ้น เลขหมาย 09901 - 10000 แล้วส่งไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสระบุรี วันที่ 25 ตุลาคม 2560 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและส่งไปยังนายทะเบียนว่า จำเลยที่ 2 ถือหุ้นจำนวน 8,000 หุ้น เลขหมาย 00001 - 08000 โจทก์ถือหุ้นจำนวน 1,000 หุ้น เลขหมาย 08001 - 09000 นางสาวกัลย์ชณิตถือหุ้นจำนวน 1,000 หุ้น เลขหมาย 09001 - 10000 วันที่ 11 เมษายน 2561 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและส่งไปยังนายทะเบียนว่า จำเลยที่ 2 ถือหุ้นจำนวน 8,000 หุ้น เลขหมาย 00001 - 08000 โจทก์ถือหุ้นจำนวน 1,000 หุ้น เลขหมาย 08001 - 09000 นายจิรวัฒน์ แก้วรุ่งโรจน์ถือหุ้นจำนวน 1,000 หุ้น เลขหมาย 09001 - 10000 วันที่ 29 พฤษภาคม 2561 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและส่งไปยังนายทะเบียนว่า จำเลยที่ 2 ถือหุ้นจำนวน 8,000 หุ้น เลขหมาย 00001 - 08000 โจทก์ถือหุ้นจำนวน 1,000 หุ้น เลขหมาย 08001 - 09000 และนางสาวกัลย์ชณิตถือหุ้นจำนวน 1,000 หุ้น เลขหมาย 09001 - 10000 วันที่ 3 เมษายน 2562 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและส่งไปยังนายทะเบียนว่า นางพัชรกันย์ถือหุ้นจำนวน 4,000 หุ้น เลขหมาย 00001 - 04000 จำเลยที่ 2 ถือหุ้นจำนวน 4,000 หุ้น เลขหมาย 04001 - 08000 โจทก์ถือหุ้นจำนวน 500 หุ้น เลขหมาย 08001 - 08500 นายจิรวัฒน์ถือหุ้นจำนวน 500 หุ้น เลขหมาย 08501 - 90000 นายเอกธนพัชร์ถือหุ้นจำนวน 500 หุ้น เลขหมาย 09001 - 09500 และนายอติชาตถือหุ้นจำนวน 500 หุ้น เลขหมาย 09501 - 10000 วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและส่งไปยังนายทะเบียนว่า จำเลยที่ 2 ถือหุ้นจำนวน 8,000 หุ้น เลขหมาย 00001 - 08000 โจทก์ถือหุ้นจำนวน 1,000 หุ้น เลขหมาย 08001 - 09000 และนายจิรวัฒน์ถือหุ้นจำนวน 1,000 หุ้น เลขหมาย 09001 - 10000 และเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 นางพัชรกันย์ในฐานะกรรมการบริษัทลงลายมือชื่อรับรองสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและส่งไปยังนายทะเบียนโดยระบุชื่อผู้ถือหุ้นและจำนวนหุ้นเช่นเดียวกับสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 ปัจจุบันโจทก์มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 500 หุ้น เลขหมาย 08001 – 08500
คดีมีปัญหาสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นและฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุว่าการบังคับตามคำพิพากษาไม่อาจบังคับจำเลยที่ 2 ได้เพราะจำเลยที่ 2 พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจจำเลยที่ 1 ไปแล้ว จึงไม่มีอำนาจแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1139 วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อโจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 2 จัดทำสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยลดสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์แล้วนำหุ้นของโจทก์ที่ลดลงไปเพิ่มในสัดส่วนการถือหุ้นของจำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบ แล้วศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 โอนหุ้นของโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อโดยไม่ชอบขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสอง และข้อบังคับของจำเลยที่ 1 การโอนหุ้นดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยให้โจทก์ถือหุ้นจำนวน 3,000 หุ้น เลขหมายใบหุ้น 03501 - 06500 ซึ่งเลขหมายใบหุ้นดังกล่าวบางส่วนเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 ถือครองอยู่และบางส่วนเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 โอนไปให้บุคคลอื่นแล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในเวลาต่อมาจึงเป็นการกระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวโดยตรง ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นและฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มานั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยที่ 2 ให้การตอนแรกว่า จำเลยที่ 2 มอบหุ้นให้โจทก์เพื่อตอบแทนการที่โจทก์จะช่วยเหลือทำงานจนกว่าจำเลยที่ 1 จะได้รับประทานบัตรและประกอบธุรกิจเหมืองแร่ เป็นเพียงการบรรยายให้เห็นว่าโจทก์ชำระค่าหุ้นด้วยแรงงาน ซึ่งผู้ถือหุ้นสามารถชำระค่าหุ้นด้วยอย่างอื่นนอกจากตัวเงินได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1108 (5) ส่วนที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อมาว่า โจทก์ไม่ได้ชำระค่าหุ้น หากฟังว่าโจทก์ชำระค่าหุ้น โจทก์ก็ได้รับค่าหุ้นคืนจากจำเลยที่ 2 แล้ว และบรรยายต่อมาว่า โจทก์ได้รับหุ้นจำนวน 3,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท คิดเป็นเงิน 300,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 ชำระค่าหุ้นดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์แล้ว ถือเป็นเพียงการบรรยายรายละเอียดเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ให้ชัดแจ้งเท่านั้น คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้ขัดแย้งกันดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้เรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตไว้ ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยนั้น ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้การและนำสืบในทำนองว่า โจทก์ไม่ได้ชำระค่าหุ้นจึงไม่ใช่ผู้ถือหุ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ตกลงมอบหุ้นให้โจทก์เพื่อเป็นการตอบแทนการที่โจทก์จะทำงาน แต่โจทก์ทำไม่ได้ตามที่ตกลงและจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมาโดยตลอด จึงได้มีการพูดคุยปรับสัดส่วนในการถือหุ้นของโจทก์ ซึ่งโจทก์ให้ความยินยอมในการปรับลดหุ้นทุกครั้ง หลังจากที่จำเลยที่ 2 ปรับลดหุ้นของโจทก์ไปเป็นของตนเองแล้ว จำเลยที่ 2 ขายหุ้นในส่วนของจำเลยที่ 2 เองให้นางพัชรกันย์ ซึ่งนอกจากนางพัชรกันย์จะชำระค่าหุ้นให้แก่จำเลยที่ 2 ไม่ครบถ้วนแล้วยังพยายามหาทางเอากิจการของจำเลยที่ 1 ไปเป็นของตนเอง โดยมีพฤติการณ์ร่วมกันกับโจทก์ในการถอดถอนจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นกรรมการจำเลยที่ 1 ซึ่งเมื่อพิจารณาคำให้การของจำเลยที่ 2 โดยรวมพอถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ให้การและต่อสู้ว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในข้อนี้ของจำเลยที่ 2 โดยเห็นว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และพิพากษายกอุทธรณ์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และโจทก์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใด ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัย เมื่อคู่ความสืบพยานเสร็จสิ้นและคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว เพื่อไม่ให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนกลับไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอีก โดยปัญหาในข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์อ้างว่า โจทก์ขอรับค่าหุ้นคืนไปแล้ว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ถือหุ้นโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า เมื่อเริ่มจัดตั้งจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้นำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง ทั้งโจทก์นำสืบว่าได้ชำระค่าหุ้นครบถ้วนแล้วโดยมีใบสำคัญรับชำระเงินลงหุ้น ซึ่งจำเลยที่ 2 ลงชื่อรับเงินไว้มาแสดง แม้จำเลยที่ 2 อ้างว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 โจทก์ได้รับเงินค่าหุ้นคืนไปแล้ว และโจทก์เบิกความว่าในวันดังกล่าวได้รับเงินจากจำเลยที่ 2 จำนวน 300,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ก็เบิกความตอบคำถามค้านว่าได้รับเงินจำนวนเดียวกันด้วย เมื่อต่างก็ได้รับเงินเท่ากันจึงไม่น่าจะเป็นการคืนเงินค่าหุ้น ทั้งโจทก์เองก็นำสืบยืนยันมาโดยตลอดว่าชำระเงินค่าหุ้นครบถ้วนและเป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย ข้ออ้างที่ว่าโจทก์ได้รับเงินค่าหุ้นคืนแล้ว ก็ไม่ปรากฏการบันทึกเป็นหลักฐานในข้อนี้ไว้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่ามอบหุ้นให้โจทก์เพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานจนเสร็จแต่โจทก์ทำไม่ได้ตามที่ตกลงกัน จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงข้อตกลงในลักษณะดังกล่าว จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ มีน้ำหนักรับฟังได้น้อย นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า ในแต่ละครั้งที่มีการปรับลดหุ้นของโจทก์ได้มีการตกลงพูดคุยซึ่งจำเลยที่ 2 ได้รับความยินยอมจากโจทก์ในการปรับลดหุ้นทุกครั้ง จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เคารพสิทธิของโจทก์ในการเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักเชื่อได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองแก้ไขสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งอ้างว่ากระทำโดยไม่ชอบ ทั้งไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยที่ 2 อ้าง
สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการต่อมาว่า โจทก์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใดนั้น จำเลยที่ 2 อุทธรณ์อ้างว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยออกใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นคนใด การโอนหุ้นระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันจึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ปรับลดหุ้นของโจทก์ไปเป็นของจำเลยที่ 2 เองโดยได้รับความยินยอมจากโจทก์ทุกครั้ง เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสอง บัญญัติว่า การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่ง ตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 4 กำหนดว่า การโอนหุ้นจะต้องทำเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้โอนกับผู้รับโอน โดยมีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรอง และจะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกได้ต่อเมื่อบริษัทจดแจ้งการโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว ขณะเริ่มจดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 โจทก์ถือหุ้นจำนวน 3,000 หุ้น เลขหมาย 03501 - 06500 ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยจัดทำใบหุ้นมอบให้ผู้ถือหุ้นคนใดรวมถึงโจทก์ แต่เมื่อหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 มีการออกเลขหมายใบหุ้นแล้ว กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 1129 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการจำเลยที่ 1 แก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์หลายครั้งจนเหลือเพียงจำนวน 500 หุ้น โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์โอนหุ้นของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และปฏิบัติตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โจทก์จึงยังเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 จำนวน 3,000 หุ้น ตามที่มีอยู่เดิม เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 โอนหุ้นของโจทก์จำนวน 2,500 หุ้น ไปเป็นของตนเองโดยไม่ชอบ และจำเลยที่ 2 ยังถือหุ้นจำเลยที่ 1 อยู่จำนวน 4,000 หุ้น ซึ่งสามารถโอนให้แก่โจทก์ได้ จึงชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์ได้รับโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 จำนวน 2,500 หุ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 เป็นให้โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 3,000 หุ้น ด้วยการนำหุ้นของจำเลยที่ 2 จำนวน 2,500 หุ้น มาโอนให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ